bih.button.backtotop.text

ศูนย์การเจริญพันธุ์

ภาวะการมีบุตรยากเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมากขึ้นปัจจุบัน โดยมีสาเหตุได้ทั้งจากฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชายหรือทั้งสองฝ่ายร่วมกัน พบได้บ่อยในกลุ่มประชากรที่แต่งงานช้าและมีการตั้งครรภ์ในอายุที่มากขึ้น องค์การอนามัยโลกได้ประมาณว่ามีคู่สมรสที่ประสบภาวะการมีบุตรยากถึง 48 ล้านคู่ทั่วโลก
คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีประสบการณ์ในการช่วยให้คู่สมรสประสบความสำเร็จในการมีบุตร โดยมีอัตราความสำเร็จของการทำ IVF ในปี พ.ศ. 2563 ถึง 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 90 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปี
เกี่ยวกับเรา
คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ประกอบด้วยทีมแพทย์และบุคลากรผู้ชำนาญการด้านการเจริญพันธุ์ของศูนย์กว่า 20 ท่าน ที่พร้อมให้คำปรึกษาสามีภรรยาที่มีปัญหาการมีบุตรยากจากปัจจัยต่างๆ และร่วมวางแผนการมีบุตร เราตระหนักดีว่าภาวะการมีบุตรยากเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและมีสาเหตุที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล เราจึงมุ่งเน้นในการให้คำแนะนำและการรักษาโดยพิจารณาวิธีการที่เหมาะสมที่สุดกับผู้ป่วยแต่ละราย ด้วยการคำนึงถึงข้อจำกัดทางด้านสุขภาพ โรคประจำตัวหรือโรคทางพันธุกรรม รวมถึงให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากที่สุด นอกจากนี้เรายังใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยในการประเมินและการคัดเลือกตัวอ่อนที่สมบูรณ์ที่สุดเพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์
เราให้การดูแลรักษาอย่างครอบคลุม ดังนี้
 
  • ให้คำปรึกษา วินิจฉัยและวางแผนการก่อนการตั้งครรภ์ ตรวจความเสี่ยงด้านพันธุกรรมด้วยเทคโนโลยีการตรวจยีนที่ทันสมัยเพื่อค้นหาโรคทางพันธุกรรมก่อนการตั้งครรภ์โดยแพทย์ผู้ชำนาญโรคพันธุกรรม รวมถึงเตรียมความพร้อมของฝ่ายชายและฝ่ายหญิงก่อนทำ IVF
  • ให้การรักษาและดูแลอย่างเนื่องทั้งก่อนและหลังการทำ IVF ไปจนกระทั่งคลอดบุตรโดยแพทย์เวชศาสตร์การเจริญพันธ์ ร่วมกับการดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์ผู้ชำนาญด้านมารดาและทารกในครรภ์ (maternal fetal medicine) และทีมบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด  (NICU) ที่มีคุณภาพในการดูแลทารกแรกเกิดให้รอดปลอดภัย
 
 


 

การให้คำปรึกษาเบื้องต้น (counseling)

ให้คำปรึกษาปัญหาด้านสูติ-นรีเวช รวมถึงปัญหาภาวะมีบุตรยากสำหรับคู่สามีภรรยาที่วางแผนมีบุตร โดยทีมแพทย์เฉพาะทาง แพทย์ผู้ชำนาญการจะให้คำแนะนำในการวางแผนการมีบุตร ด้วยการใช้วิธีธรรมชาติหรือใช้เทคโนโลยีทางด้านการแพทย์เข้ามาช่วย ขึ้นอยู่กับสาเหตุของภาวะมีบุตรยากและสภาพร่างกายของคู่สมรส

การตรวจความสมบูรณ์ของระบบสืบพันธุ์ (Fertility wellness)

ตรวจหาความสมบูรณ์ของระบบสืบพันธุ์เพื่อเตรียมพร้อมก่อนการตั้งครรภ์และเสริมสร้างความสมบูรณ์ของระบบสืบพันธุ์โดยแพทย์ผู้ชำนาญการ แพทย์จะให้คำแนะนำในการดูแลตนเอง เสริมสร้างและการบำรุงสุขภาพร่างกายเพื่อเพิ่มคุณภาพของเซลล์สืบพันธุ์ไข่และน้ำเชื้อ ก่อนเริ่มการรักษาอย่างเหมาะสมกับผู้รับบริการแต่ละท่าน

การตรวจยีนสำหรับคู่สมรสเพื่อเตรียมตัวก่อนการตั้งครรภ์

แนะนำให้คู่สมรสทั้งที่มีประวัติและไม่มีประวัติโรคกรรมพันธุ์ที่ถ่ายทอดในครอบครัวตรวจยีนก่อนการตั้งครรภ์เพื่อป้องกันโรคร้ายบางชนิดที่อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปสู่ลูกได้ โดยแพทย์ผู้ชำนาญด้านเวชศาสตร์พันธุศาสตร์จะทำการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมที่อาจทำให้เด็กมีความผิดปกติได้มากกว่า 600 ยีน หรือประมาณ 300 โรค

 

Doctor-Group.jpg

การฉีดเชื้อผสมเทียม (Intra Uterine Insemination: IUI)

เป็นการรักษาภาวะมีบุตรยากเบื้องต้นที่เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ฝ่ายชายมีเชื้อออสุจิน้อย เคลื่อนไหวได้ไม่ดี คู่สมรสที่ไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์เนื่องจากพิการ บาดเจ็บ หรือมีปัญหาอื่น เช่น หลั่งเร็วเกินไปหรือฝ่ายหญิงมีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โดยการนำอสุจิฉีดผ่านปากมดลูกเข้าไปในโพรงมดลูกโดยตรง อัตราความสำเร็จของการรักษา ขึ้นกับอายุของฝ่ายหญิงและสาเหตุของการมีบุตรยากของคู่สมรส ในการทำครั้งที่ 2-6 หากผู้ป่วยยังไม่ตั้งครรภ์ แพทย์อาจจะพิจารณาทำการรักษาโดยวิธีการปฏิสนธินอกร่างกายหรือเด็กหลอดแก้ว (In vitro fertilization, IVF)

การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF)

เป็นการปฏิสนธิภายนอกร่างกายรูปแบบหนึ่งที่ใกล้เคียงธรรมชาติ เป็นทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จจากการทำการฉีดเชื้อผสมเทียมที่อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ฝ่ายชายเชื้ออสุจิน้อยไม่แข็งแรงหรือเคลื่อนที่ไม่ดี  หน้าตาของอสุจิผิดปกติ ไม่สามารถหลั่งอสุจิในช่องคลอดได้หรือฝ่ายหญิงมีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ท่อนำไข่เกิดความเสียหาย ความผิดปกติของมดลูก มีพังผืด ได้รับการทำ IUI มาแล้วแต่ไม่สำเร็จและอายุที่มากขึ้น

การทำอิ๊กซี่ (Intracytoplasmic Sperm Injection: ICSI)

เป็นการปฏิสนธินอกร่างกายโดยการฉีดอสุจิที่ดีที่สุดหนึ่งตัวเข้าไปในเซลล์ไข่เพื่อทำให้เกิดกระบวนการปฏิสนธิ ช่วยในการรักษาภาวะมีบุตรยากในกรณีที่คู่สมรสที่ฝ่ายชายที่มีน้ำเชื้ออสุจิน้อยมาก อสุจิไม่แข็งแรงและ/หรือมีรูปร่างไม่สมบูรณ์ โดยวิธีนี้จะช่วยให้เกิดการปฏิสนธิของไข่ไปเป็นตัวอ่อนใกล้เคียงกับอัตราการปฏิสนธิในคู่สมรสฝ่ายชายที่มีอสุจิปกติ

การเพาะเลี้ยงตัวอ่อนโดยใช้ Embryoscope

เป็นตู้เลี้ยงตัวอ่อนแบบพิเศษที่มีการติดตั้งกล้องจุลทรรศน์ และระบบถ่ายภาพต่อเนื่องด้วย Time-lapse system (TLS) เข้าไปรวมกับตู้เลี้ยงตัวอ่อนแบบทั่วไป ทำให้สามารถติดตามดูการเจริญเติบโตของตัวอ่อนได้ในทุกช่วงเวลา และประเมินคุณภาพตัวอ่อนผ่านทางจอแสดงภาพร่วมกับซอฟต์แวร์ที่ช่วยคัดเลือกตัวอ่อนที่มีประสิทธิภาพเพื่อนำมาฝังตัว โดยไม่มีผลกระทบกับตัวอ่อน

การเจาะช่วยในการฟักตัวของตัวอ่อน (Assisted Hatching, AH)

เป็นเทคโนโลยีที่ใช้เลเซอร์หรือเอนไซม์ มาทำให้เปลือกของตัวอ่อนบางลงหรือช่วยเปิดรูขนาดเล็กเพื่อช่วยให้ตัวอ่อนฟักตัวออกมาได้ง่ายขึ้น เป็นเทคนิคที่ต้องทำในห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงตัวอ่อน โดยไม่ทำอันตรายต่อตัวอ่อนและช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์

การตรวจวิเคราะห์ความผิดปกติของโครโมโซมตัวอ่อน (Preimplantation Genetic Testing)

เป็นการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมของตัวอ่อน ร่วมกับการรักษาด้วยกระบวนการปฏิสนธิภายนอกร่างกายหรือเด็กหลอดแก้ว (In vitro fertilization , IVF)  โดยการสุ่มดูดเซลล์ของตัวอ่อนที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วมาตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรมก่อนที่จะทำการย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูก ประกอบด้วย
  • การตรวจวิเคราะห์ความผิดปกติของโครโมโซมตัวอ่อน (Preimplantation Genetic Screening: PGT-A) เพื่อคัดเลือกตัวอ่อนที่มีจำนวนโครโมโซมปกติ (Euploid) ย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูก ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์
  • การตรวจวิเคราะห์โรคทางพันธุกรรมที่อาจจะถ่ายทอดสู่ตัวอ่อนในกรณีที่พ่อหรือแม่มียีนผิดปกติที่เป็นโรค(Preimplantation Genetic diagnosis, PGT-M, PGT-SR) เป็นการคัดเลือกตัวอ่อนที่ไม่มียีนที่เป็นโรคย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กที่เกิดมาเป็นโรคทางพันธุกรรมเหมือนพ่อกับแม่

การแช่แข็งเซลล์ไข่ (Egg Freezing)

จำนวนและคุณภาพของไข่จะลดลงเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีอายุมากกว่า 35 ปี ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก เพิ่มภาวะแท้งบุตร และเสี่ยงต่อภาวะเด็กมีโครโมโซมผิดปกติ ดังนั้นการแช่แข็งเซลล์ไข่เป็นทางเลือกที่เหมาะสำหรับผู้หญิงที่ยังไม่พร้อมตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดรังไข่หรือต้องได้รับยาเคมีบำบัด การฉายแสง ทำได้โดยการแช่แข็งเซลล์ไข่ในอุณหภูมิที่เย็นจัดโดยใช้เทคโนโลยีแช่แข็งแบบผลึกแก้ว (Vitrification method) ที่ใช้สารรักษาความเย็นเข้ามาแทนน้ำในเซลล์ ทำให้ลดอุณหภูมิของเซลล์ไข่ได้รวดเร็วจนไม่เกิดผลึกน้ำแข็งขึ้นภายในเซลล์ ไข่ที่ผ่านกระบวนการแช่แข็งจะมีอัตราการรอดชีวิตสูงถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์

การแช่แข็งอสุจิ (Sperm Freezing)

เป็นการเก็บรักษาอสุจิภายใต้สภาวะอุณหภูมิที่เย็นจัด (Ultra-Low Temperature) ในถังไนโตรเจนเหลวที่อุณหภูมิ -196 C ทำให้สามารถเก็บรักษาอสุจิได้เป็นระยะเวลานาน เหมาะสำหรับผู้ชายที่ต้องการทำหมัน แต่อยากเก็บอสุจิบางส่วนไว้ หากต้องการมีบุตรในอนาคต หรือผู้ป่วยที่ต้องได้รับต้องได้รับยาเคมีบำบัด การฉายแสงที่มีผลต่อระบบสืบพันธุ์ หรือบางท่านไม่สามารถมาเก็บอสุจิในวันที่มีการฉีดเชื้อหรือทำการเก็บไข่ สามารถมาเก็บอสุจิแช่แข็งไว้ล่วงหน้า การแช่แข็งอสุจิช่วยในการรักษาภาวะเจริญพันธุ์ เช่น การผสมเทียมภายในมดลูก (IUI) หรือการปฏิสนธิในหลอดทดลอง (IVF) ในอนาคตได้

การรักษาภาวะการเจริญพันธุ์ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Oncofertility)

การรักษามะเร็งด้วยยาเคมีบำบัด การฉายแสง อาจส่งผลต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์ ทำให้การทำงานของรังไข่ลดลง และอาจทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนภายหลังได้รับยาเคมีบำบัด นอกจากนี้ยาเคมีบำบัดยังอาจมีผลต่อการสร้างตัวอสุจิชั่วคราวหรือถาวร ทีมสหสาขาวิชาชีพของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ให้การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมโดยการประสานความร่วมมือของทีมแพทย์ด้านมะเร็งวิทยา แพทย์ด้านการเจริญพันธุ์และแพทย์ด้านเวชพันธุศาสตร์ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถมีบุตรได้ในอนาคตหลังการรักษามะเร็งสิ้นสุดลง โดยใช้เทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์ (In-vitro fertilization) เพื่อนำตัวอสุจิ ไข่ หรือแม้กระทั่งตัวอ่อน แช่แข็งภายนอกร่างกายก่อนได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือการฉายแสง

การรักษาภาวะการเจริญพันธุ์ในผู้ป่วยเอชไอวี (Fertility Treatment for HIV Couples)

ช่วยให้ผู้ป่วยเอชไอวีตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย ลดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่คู่ครอบครัวและทารกและลดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ที่ไม่เหมาะสม โดยใช้เทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์ ก่อนการรักษา ทีมสหสาขาวิชาชีพของเราประกอบด้วยอายุรแพทย์ด้านโรคติดเชื้อ สูติแพทย์ กุมารแพทย์และจิตแพทย์ จะช่วยประเมินความสามารถในการเจริญพันธุ์ (Fertility assessment) ประเมินการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี ความจำเป็นในการใช้ยาต้านไวรัส การตรวจคุณภาพอสุจิในผู้ชายที่ติดเชื้อเอชไอวี โดยเฉพาะในรายที่เป็นโรคเอดส์ซึ่งมักจะมีความผิดปกติของตัวอสุจิ สำหรับคู่สมรสที่ฝ่ายหญิงติดเชื้อ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญด้านโรคติดเชื้อจะควบคุมปริมาณเชื้อไวรัสเอชไอวีให้อยู่ในระดับที่น้อยจนไม่สามารถตรวจพบได้เพื่อลดการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์

การตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิด้วย CASA

CASA หรือ Computer Assisted Sperm Analysis เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการตรวจนับปริมาณ ดูการเคลื่อนไหว และรูปร่างของอสุจิด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพสูง

การทำพีซ่า การทำมีซ่าและการทำเทเซ่ (PESA, MESA & TESE)

เป็นการตรวจหาตัวอสุจิในกรณีฝ่ายชายตรวจไม่พบตัวอสุจิในน้ำเชื้อ โดยแพทย์อาจนำอสุจิออกจากอัณฑะหรือหลอดนำอสุจิโดยตรง เพื่อเป็นการรักษาหรือการวินิจฉัย อสุจิที่ได้จากการทำหัตถการจะถูกแช่แข็งเพื่อใช้ในการรักษากับฝ่ายหญิงต่อไป ด้วยการนำมาผสมกับไข่ที่ได้จากการกระตุ้นไข่ในการทำเด็กหลอดแก้ว เพื่อให้ได้ตัวอ่อนสำหรับย้ายเข้าโพรงมดลูกทำให้เกิดการฝังตัวและตั้งครรภ์ได้ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
 
  • PESA (Percutaneous Epididymal Sperm Aspiration) คือ การใช้เข็มแทงผ่านผิวหนังบริเวณอัณฑะเข้าไปในท่อพักน้ำเชื้อแล้วดูดตัวอสุจิออกมาจากลูกอัณฑะโดยตรง
  • MESA (Microsurgical Epididymal Sperm Aspiration) คือ การผ่าตัดเข้าไปหาท่อพักน้ำเชื้อส่วน epididymis แล้วจึงใช้เข็มแทงเข้าไปและดูดตัวอสุจิออกมา
  • TESE (Testicular Epididymal Sperm Extraction) คือ การผ่าตัดเอาเนื้ออัณฑะออกมาเป็นชิ้นเล็กน้อยแล้วแยกตัวอสุจิที่อยู่ในเนื้ออัณฑะออกมา

การผ่าตัดในระบบสืบพันธ์ (Reproductive surgery: Minimal Invasive Surgery (Hysteroscopy, Laparoscopy))

เป็นการวินิจฉัยโดยการส่องกล้อง (Diagnostic laparoscopy) และการผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopy) ทำให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์ ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมก่อนเริ่มการรักษา เป็นวิธีการรักษาที่ทันสมัยในการรักษาผู้ป่วยที่ไม่สามารถมีบุตรตามธรรมชาติ แท้งบ่อยๆ หรือไม่ประสบความสำเร็จหลังจากใส่ตัวอ่อน เนื่องจากปัญหาทางด้านนรีเวช เช่น มีติ่งเนื้อ (Polyp) เนื้องอกมดลูก พังผืดในโพรงมดลูก พังผืดในอุ้งเชิงกราน ถุงน้ำในรังไข่ ท่อนำไข่ตีบตัน โดยการฉีดสีตรวจดูท่อนำไข่   รักษาติ่งเนื้อ (Polyp) เนื้องอกมดลูก พังผืดในโพรงมดลูก

การฉีด PRP (Platelet Rich Plasma) เพื่อเพิ่มความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก

PRP คือเกล็ดเลือดเข้มข้นที่เกิดจากการนำเลือดเข้าสู่กระบวนการปั่นแยกเลือดจนเหลือเพียงเกล็ดเลือดที่เข้มข้นกว่าเลือดปกติ 4-5 เท่า จากรายงานการศึกษาต่างๆพบว่าการฉีด PRP เข้าไปในโพรงมดลูกก่อนการสอดยาโปรเจสเตอโรนช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาเยื่อบุโพรงมดลูกบางโดยไม่ทราบสาเหตุมีโพรงมดลูกที่หนาขึ้นและมีปริมาณเลือดมาเลี้ยงเยื่อบุโพรงมดลูกเพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์อย่างมีนัยสำคัญ
 
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีทีมแพทย์ผู้ชำนาญทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับภาวะการมีบุตรยาก โดยให้การดูแลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนและหลังการทำ IVF เพื่อให้มั่นใจในผลลัพธ์และความปลอดภัยของมารดาและทารก
 

Doctor-Group.jpg

 

ทีมสหสาขาวิชาชีพของเราประกอบด้วย

  • นักวิทยาศาสตร์เพาะเลี้ยงตัวอ่อน (Embryologist) 
  • แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
  • แพทย์สูตินรีเวชผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
  • แพทย์ผู้ชำนาญการด้านพันธุศาสตร์
  • แพทย์ผู้ชำนาญการด้านระบบทางเดินปัสสาวะ
  • จิตแพทย์
  • พยาบาลผู้ชำนาญด้านภาวะการเจริญพันธุ์ (Infertility nurse practitioner)
  • พยาบาลผู้ชำนาญการด้าน IVF ที่ช่วยให้คำปรึกษาผู้ป่วย (Nurse Navigator IVF)
  • เภสัชกร
สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ใคร่ขอให้ท่านทราบข้อมูลและเตรียมเอกสารนำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ก่อนการเข้ารับการรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ดังต่อไปนี้
 
  1. ใบสำคัญการสมรสหรือทะเบียนสมรส เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการระบุความสัมพันธ์ของคู่สมรสตามที่กฎหมายกำหนด
  2. รับรองความถูกต้องของเอกสารพร้อมคำแปลภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ กรณีเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสจากต่างประเทศต้องรับรองเอกสารมาให้เรียบร้อยโดยสถานทูตของประเทศที่มีการจดทะเบียนสมรสที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย

รศ.นพ. ชาติชัย ศรีสมบัติ

สาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ

สูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา
การผ่าตัดด้วยกล้อง
เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์

ดูประวัติ

พญ. ณหทัย ภัคธินันท์

สาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ

เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์

ดูประวัติ

ผศ.พญ. ชนัญญา ตันติธรรม

สาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ

เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์

ดูประวัติ

รศ.นพ. ภัทรภูมิ โพธิ์พงษ์

สาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ

สูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา
การผ่าตัดด้วยกล้อง
เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์

ดูประวัติ

ศ.นพ. กำธร พฤกษานานนท์

สาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ

สูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา
การผ่าตัดด้วยกล้อง
เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์

ดูประวัติ

พญ. ทัศน์วรรณ รังรักษ์ศิริวร

สาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ

การผ่าตัดด้วยกล้อง
เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์

ดูประวัติ

ผศ.พญ. พรทิพย์ สิรยาภิวัฒน์

สาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ

สูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา
เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์

ดูประวัติ

นพ.ดร. สรภพ เกียรติพงษ์สาร

สาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ

เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์

ดูประวัติ

พญ. รัชดาพร ฤกษ์ยินดี

สาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ

เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์

ดูประวัติ

Related Package

    Scroll for more

Contact Information

  • บริการพบแพทย์ผ่าน VDO call (Tele-Consultation) คลิก

Service Hours

  • ศูนย์การเจริญพันธุ์
    วันจันทร์-วันเสาร์
    07.00-20.00 น.
    วันอาทิตย์
    07.00-17.00 น.
  • เนื่องจากสถานการณ์และมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทางโรงพยาบาลฯ อาจมีการปรับเปลี่ยนเวลาในการให้บริการของแต่ละคลินิกตามความเหมาะสมของสถานการณ์ จึงขอความกรุณาทำการนัดหมายแพทย์ล่วงหน้า หรือสอบถามเวลาการให้บริการได้ที่ 1378

Location

  • ศูนย์การเจริญพันธุ์
    อาคาร B ชั้น 2 ฝั่งทิศเหนือ
คะแนนโหวต 9.74 of 10, จากจำนวนคนโหวต 204 คน

Related Health Blogs