bih.button.backtotop.text

การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT)

การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเรียกว่าซีทีสแกน (CT Scan) เป็นการตรวจทางด้านรังสีวินิจฉัยอย่างหนึ่ง โดยใช้เอกซเรย์หมุนรอบตัวผู้ป่วย เก็บข้อมูลในรูปแบบ 3 มิติ แล้วใช้ระบบคอมพิวเตอร์นำข้อมูลที่ได้สร้างเป็นภาพในแนวตัดขวาง และภาพในแนวระนาบอื่นๆ รวมทั้งภาพ 3 มิติ ทำให้เห็นอวัยวะภายในได้อย่างชัดเจน

จุดประสงค์ของการตรวจ
  1. ใช้ตรวจอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายเพื่อบอกถึงความผิดปกติในอวัยวะ รวมไปถึงก้อน ถุงน้ำ รอยแตกร้าวของกระดูก การติดเชื้อ หลอดเลือดโป่งพอง หรือการอุดตันในหลอดเลือด เป็นต้น
  2. ใช้เพื่อติดตามการรักษาผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ภายหลังรับการรักษาโดยการผ่าตัด ให้ยาเคมีบำบัด หรือฉายรังสีแล้ว
  3. ใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดตำแหน่งเพื่อเจาะชิ้นเนื้อในการตรวจหามะเร็งหรือใช้หาตำแหน่งเพื่อเจาะระบายของเหลวหรือหนองออกจากร่างกาย
การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เป็นการตรวจที่สามารถให้รายละเอียดได้ถูกต้องแม่นยำ ใช้วิธีการสร้างภาพ 3 มิติซึ่งให้ข้อมูลทางด้านการวินิจฉัยได้มากกว่าการเอกซเรย์ทั่วไป จึงช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติได้มากกว่า สามารถให้การตรวจวินิจฉัยในโรคที่ซับซ้อนได้ และโดยทั่วไปใช้เวลาตรวจไม่นาน จึงมีความสะดวกและรวดเร็ว
 
ความเสี่ยงต่อรังสี
การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เป็นการตรวจโดยใช้รังสี อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในระยะยาวได้เล็กน้อย และด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน รังสีแพทย์และนักรังสีการแพทย์จะมีการปรับปริมาณรังสีที่ใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยและให้เพียงพอต่อการวินิจฉัยเท่านั้น

สำหรับผู้ป่วยเด็ก เพื่อลดความเสี่ยงผู้ปกครองควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาความเหมาะสมก่อนการส่งตรวจ เนื่องจากเด็กจะมีความไวต่อการรับรังสีมากกว่าผู้ใหญ่

การตรวจนี้ไม่เหมาะสมสำหรับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือผู้ที่กำลังวางแผนจะมีบุตร เพราะอาจมีความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ ยกเว้นกรณีที่มีความจำเป็นทางด้านคลินิกหรือเหตุผลทางการแพทย์เท่านั้น

ความเสี่ยงกรณีตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบฉีดสารทึบรังสี
  1. ความเสี่ยงต่ออาการข้างเคียงและการแพ้สารทึบรังสี
ผู้ป่วยบางราย (ส่วนน้อย) อาจมีอาการข้างเคียงหรืออาการแพ้เกิดทันทีหลังจากได้รับสารทึบรังสี โดยอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน และร้อนทั่วร่างกาย อาการดังกล่าวจะบรรเทาลงหลังหยุดฉีดสารทึบรังสี ส่วนอาการแพ้อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เล็กน้อยถึงขั้นรุนแรง ส่วนมากเป็นอาการแพ้ขั้นเล็กน้อย ได้แก่ มีผื่นแดง  อาการคัน ลมพิษ จาม ไอ ส่วนการแพ้สารทึบรังสีขั้นรุนแรงนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก เช่น หายใจลำบากเฉียบพลัน ความดันโลหิตตํ่าหรือสูงกว่าปกติ จนถึงหมดสติได้ อย่างไรก็ตาม รังสีแพทย์และพยาบาลจะคอยดูแลและระงับอาการแพ้สารทึบรังสีอย่างเต็มความสามารถ ทั้งนี้โรงพยาบาลได้จัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ช่วยชีวิตไว้บริเวณห้องตรวจ รวมทั้งทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะคอยให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง
  • Delayed Reaction) ในบางราย(ส่วนน้อยมาก) ผู้ป่วยกลับบ้านไปแล้วมีอาการผิดปกติหรือสงสัยอาการแพ้จากการได้รับสารทึบรังสี แนะนำกลับมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
ในกรณีผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพ้สารทึบรังสี แพทย์ผู้ตรวจหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้โดยเฉพาะอาจพิจารณาให้ยาเพื่อป้องกันการแพ้สารทึบรังสีก่อนการฉีดสารทึบรังสี หรือพิจารณาร่วมกับแพทย์เจ้าของไข้ในการเปลี่ยนเป็นการตรวจด้วยวิธีอื่น
  1. ความเสี่ยงสารทึบรังสีรั่วออกนอกหลอดเลือดดำ
ขณะฉีดสารทึบรังสีอาจเกิดการรั่วของสารทึบรังสีออกนอกหลอดเลือดดำ ทำให้สารทึบรังสีซึมอยู่ใต้ผิวหนัง ส่งผลให้เกิดอาการบวมบริเวณดังกล่าว และอาจรู้สึกปวด แสบ หรือเกิดการพุพองของผิวหนังตามมาได้ ทั้งนี้แพทย์ผู้ตรวจจะประเมินอาการและพิจารณาแนวทางการรักษาทันที
  1. ความเสี่ยงต่อภาวะการทำงานของไตบกพร่อง (Contrast induced nephropathy: CIN)
อาจเกิดขึ้นหลังจากได้รับสารทึบรังสีเข้าทางหลอดเลือดดำ โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ป่วยโรคไต หรือผู้ป่วยที่มีค่าการทำงานของไตบกพร่องอยู่แล้ว อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะไตวายหลังฉีดสารทึบรังสีได้ กรณีดังกล่าวผู้ป่วยอาจได้รับคำแนะนำการตรวจด้วยวิธีอื่น หรือมีการเตรียมตัวก่อนการตรวจ และจำกัดปริมาณสารทึบรังสีที่ใช้ในการตรวจแต่ละครั้ง ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์ผู้ตรวจ หรือแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านโรคเบาหวานและโรคไตโดยเฉพาะ

ความเสี่ยงต่อการให้ยาระงับประสาท
ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถตรวจในสภาวะปกติได้ เช่น ผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยที่กลัวที่แคบ หรือผู้ป่วยที่มีความเจ็บปวดไม่สามารถนอนนิ่งๆ ขณะตรวจได้ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาระงับประสาทตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนถึงระดับลึกหรือยาสลบก่อนการตรวจ ซึ่งแพทย์และวิสัญญีแพทย์จะประเมินอาการและให้คำแนะนำก่อนการให้ยา
 
โดยปกติไม่มีข้อจำกัดในการเดินทางก่อนและหลังการตรวจ หากหลังการฉีดสารทึบรังสีผู้ป่วยมีอาการแพ้สารทึบรังสี แพทย์อาจพิจารณาให้ยาแก้แพ้ ซึ่งยาบางชนิดอาจทำให้มีอาการง่วงซึม ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยขับขี่ยานพาหนะตามลำพัง ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลจนอาการดีขึ้นจึงสามารถกลับบ้านได้หรือมีญาติพากลับ
 
การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มีโอกาสประสบความสําเร็จสูง ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ในการตรวจด้วย เช่น ชนิดการตรวจ รอยโรคและปัจจัยทางด้านตัวผู้ป่วยเอง หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์
 
หากไม่ทำการตรวจนี้จะเกิดอะไรขึ้น
เสียโอกาสในการวินิจฉัยโรค อาจทำให้การรักษาล่าช้าหรือไม่ถูกต้อง หรือเสียโอกาสจากการตรวจพบโรคในระยะเริ่มแรก ซึ่งมีโอกาสรักษาหายสูงกว่า
 
เอกซเรย์ทั่วไป การตรวจด้วยคลื่นความถี่สูง (อัลตราซาวนด์) การตรวจด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (เอ็มอาร์ไอ)
การตรวจเพท/ซีที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาร่วมกันของทีมแพทย์และผู้ป่วยโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์วินิจฉัยและบำบัดรักษา

ดูเพิ่มเติม

แผนกผู้ป่วยวิกฤตระบบประสาทและไขสันหลัง

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 10.00 of 10, จากจำนวนคนโหวต 3 คน

Related Health Blogs