bih.button.backtotop.text

“เรื่องของ “หัวใจ” เป็นได้มากกว่าแค่ “ความรัก”

02 กุมภาพันธ์ 2566

คำกล่าวที่ว่า “ความรักคือยาวิเศษ” อาจฟังดูโรแมนติกเหมือนหลุดมาจากนิยาย แต่ทราบหรือไม่ว่า มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นที่ชี้ชัดว่าการมีความรักและสัมพันธ์ที่ดี ไม่ว่าจะกับคนรัก เพื่อนฝูงคนรอบข้าง หรือสัตว์เลี้ยงคู่ใจ ล้วนช่วยให้สุขภาพของเราดีขึ้นได้ โดยเฉพาะ “สุขภาพใจ” ด้วยการลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและอัตราการเสียชีวิตเนื่องจากโรคหัวใจ และโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดต่างๆ

แม้ว่าความจริงแล้วความรู้สึกทั้งหลายของเรา ไม่ว่าจะเป็นความชื่นชม การตกหลุมรัก ความประทับใจแรกพบ จะเกิดขึ้นที่สมองทั้งสิ้น แต่ฮอร์โมนต่าง ๆ ที่สมองหลั่งออกมา เช่น อะดรีนาลีนและนอร์เอพิเนฟรีนเมื่อเรามีความสุข หรือออกซิโทซินมื่อเราตกหลุมรัก ล้วนแต่มีฤทธิ์กระตุ้นเชิงชีววิทยาในตัว ทำให้หัวใจเต้นแรงขึ้น หลอดเลือดขยาย การสูบฉีดเลือดดี สุดท้ายแล้วการทำงานของหัวใจจึงดีขึ้นตามไปด้วย

การสัมผัสตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ การสบตา การพูดจาดีต่อกัน หรือแม้กระทั่งการคิดถึงคนที่รัก ส่งผลที่ดีต่อร่างกายทั้งสิ้น พึงรู้ว่าเมื่อหัวใจเต้นแรงก็จะทำให้หลอดเลือดต่าง ๆ ขยายตัวมากขึ้น จึงส่งผลดีโดยตรงกับผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือกลุ่มที่มีเส้นเลือดตีบในร่างกาย

นอกจากผลทางชีววิทยาแล้ว ความรักยังส่งผลต่อพฤติกรรมด้วยเช่นกัน ผลการวิจัยของ ดร.จูเลียน โฮลท์-ลันสแตท นักจิตวิทยาและประสาทวิทยา จากมหาวิทยาลัยบริงแฮม ยัง สหรัฐอเมริกา ซึ่งศึกษากลุ่มตัวอย่างกว่า 300,000 คน และตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ PLOS Medicine พบว่าคนสนิทหรือคนรู้ใจของเราเป็นแรงผลักดันพฤติกรรมเชิงบวกที่ดีอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการให้กำลังใจยามเจ็บป่วย สนับสนุนให้ออกกำลังกาย หรือทานอาหารที่มีประโยชน์ จนสามารถพูดได้ว่าการมีความสัมพันธ์ที่ดีนั้นเป็นปัจจัยสุขภาพเชิงบวกในระดับใกล้เคียงกับการเลิกสูบบุหรี่เลยทีเดียว

แถมสถิติจากศูนย์ข้อมูลสาธารณสุขแห่งชาติของสหรัฐฯ ยังพบว่าผู้ที่ยังอยู่ในสถานภาพแต่งงานมีอายุยืนกว่าผู้ที่ไม่เคยแต่งงาน หย่าร้าง หรือเป็นม่ายอีกด้วย แต่ก็ต้องเน้นย้ำว่าในเรื่องของหัวใจและความสัมพันธ์นั้น “คุณภาพ” สำคัญกว่า “ปริมาณ” หรือ “สถานะ” เสมอ เช่น คู่รักที่ไม่ได้แต่งงานกันแต่รักใคร่ปรองดองกันเป็นอย่างดีก็ย่อมมีสุขภาพดีกว่าคู่แต่งงานที่มีความรักลุ่มๆ ดอนๆ

ใช่ว่าจะมีแค่ความรักที่ทำให้ใจเต้นตึกตักเท่านั้นที่ทำให้เรามีสุขภาพที่ดีขึ้น ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างในรูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกับคนในครอบครัว เพื่อน ๆ  หรือกระทั่งสัตว์เลี้ยง ก็ “ดีต่อใจ” ได้ไม่แพ้กัน (การมีเพื่อนบ้านแย่ๆ ย่อมสู้การมีน้องหมาแสนรู้สักตัวไม่ได้!) การศึกษาในสวีเดนในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดซึ่งต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลพบว่า ผู้ที่เลี้ยงสุนัขนั้นมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตหลังออกจากโรงพยาบาลน้อยกว่าผู้ที่อยู่ตามลำพังถึง 67% แถมโอกาสที่จะต้องเข้าโรงพยาบาลซ้ำด้วยโรคเดิมก็น้อยกว่าเช่นกัน ซึ่งก็อาจเป็นเพราะเพื่อนซี้สี่ขานี้เป็นแรงจูงใจที่ทำให้เจ้าของไปเดินออกกำลังกายและสานสัมพันธ์กับผู้คนภายนอกก็เป็นได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงชนิดใดก็ล้วนช่วยให้ผู้เลี้ยงสบายใจเสมอ สร้างรอยยิ้มและปลอบประโลมจิตใจในคราวเดียวกัน ดังนั้นบรรดานายทาสของน้องเหมียวก็อย่าเพิ่งน้อยใจไป

นอกจากนี้ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเสียแต่เนิ่นๆ ก็ยังถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว งานวิจัยของดร.โรเบิร์ต เวลดิงเออร์ ผู้อำนวยการศึกษาวิจัยการพัฒนาของมนุษย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด (Harvard Study of Adult Development) ซึ่งเป็นโครงการที่มีระยะเวลาการศึกษายาวนานที่สุดในโลก เริ่มตั้งแต่ปีค.ศ.1938 ทำการติดตามชีวิตของกลุ่มตัวอย่างที่ถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่มเรื่อยมาเป็นเวลากว่า 75 ปี จนพบว่าท่ามกลางปัจจัยอื่น ๆ ในชีวิตอีกมากมายนั้น ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างในช่วงวัยกลางคนนั้นเป็นปัจจัยที่พยากรณ์ความสุขและสุขภาพที่ดีในบั้นปลายชีวิตได้ดีกว่าระดับคอเลสเตอรอลเสียอีก

ดังนั้นในเดือนแห่งความรักนี้ ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จึงขอชักชวนให้ทุกคนบำรุงหัวใจตัวเองให้แข็งแรง แต่ไม่ใช่ด้วยแค่การออกกำลัง รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ หรือตรวจสุขภาพสม่ำเสมอเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการสานสัมพันธ์ดีๆ กับคน (หรือสัตว์เลี้ยง) ใกล้ตัวให้แน่นแฟ้นกว่าเดิมอีกด้วย และขอให้รู้เสมอว่าเราพร้อมดูแลหัวใจคุณจากหัวใจของเรา
 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
065-509-9198 
(ระหว่างเวลา 8.00-20.00 น. )

02-066-8888
(ระหว่างเวลา 20.00-8.00 น. )

Email
[email protected]
 

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs