bih.button.backtotop.text

โรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของสมองอย่างช้าๆ ในบริเวณส่วนลึกเบซอลแกงเกลีย และก้านสมองมิดเบรน ในส่วนสับสแตนเชียในกรามีความผิดปกติ ซึ่งเซลล์สมอง ส่วนนี้มีความสําคัญในการสร้างสารสื่อประสาทที่เรียกว่า โดพามีน ซึ่งช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องทําให้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมีปัญหา เรื่องการเคลื่อนไหวผิดปกติซึ่งเป็นอาการที่สำคัญของโรค

สาเหตุของโรคพาร์กินสัน

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน มีประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยที่เป็นโรคพาร์กินสันจากพันธุกรรมและการถ่ายทอดในครอบครัว นอกนั้นเกิดขึ้นกับผู้ที่ไม่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้

  • ปัจจัยทางพันธุกรรม ในรายที่มียีนผิดปกติอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคพาร์กินสันได้
  • ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น การได้รับสารบางอย่างเป็นเวลานานๆ ไม่ว่าจะโดยการสูดดมหรือการรับประทาน หากแต่ยังไม่ทราบว่าสารใดในสิ่งแวดล้อมที่มีส่วนทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน
สาเหตุ และการรักษา โรคพาร์กินสัน
  • อาการทางกาย
    • สั่น
    • เคลื่อนไหวช้า
    • หน้านิ่ง
    • พูดช้า เสียงค่อย
    • น้ำลายไหล
    • ร่างกายแข็งเกร็ง
    • เดินลำบาก เดินซอยเท้า เท้าติดเวลาก้าวขา
    • หกล้มง่าย
  • อาการทางจิตใจ
  • อาการอื่นๆ
    • ความจำระยะสั้นไม่ค่อยดีในระยะต้น ความจำเสื่อมในระยะท้าย
    • เหงื่อออกมาก
    • ท้องอืด ท้องผูก
    • ปัสสาวะบ่อย ควบคุมการปัสสาวะไม่ได้
    • การรับรู้กลิ่นและรสไม่ดี
    • มึนศีรษะเวลาลุกขึ้นเนื่องจากความดันโลหิตต่ำลง
โรคพาร์กินสันมีผลกระทบกับผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกัน ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนจะมีอาการของโรค ผู้ป่วยบางรายมีอาการดำเนินของโรคที่เร็วกว่า ในขณะที่ผู้ป่วยบางรายตอบสนองต่อยาได้ดีกว่า โดยทั่วไปสามารถแบ่งโรคพาร์กินสันได้ 5 ระยะด้วยกัน ดังนี้
  • ระยะที่ 1: มีอาการเล็กน้อย คือ อาการสั่นและอาการเคลื่อนไหวที่ข้างใดข้างหนึ่งของร่างกายเท่านั้น มีการเปลี่ยนแปลงของท่าทาง (posture) การเดิน และการแสดงออกทางสีหน้า
  • ระยะที่ 2: อาการสั่น แข็งเกร็งและอาการเคลื่อนไหวอื่นๆ เริ่มลุกลามไปยังร่างกายอีกข้างหนึ่งหรือบริเวณกึ่งกลางร่างกาย เช่น คอและลำตัว เริ่มมีปัญหาการเดิน บางครั้งอาจมีปัญหาการพูด
  • ระยะที่ 3: เป็นระยะกลางของโรค มีอาการทรงตัวผิดปกติ หกล้มได้ง่ายขึ้น แต่ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้
  • ระยะที่ 4: ยังสามารถเดินและยืนเองได้ แต่จำเป็นต้องใช้ไม้เท้าหรือวอล์กเกอร์เพื่อความปลอดภัย ต้องการผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดในการทำกิจวัตรประจำวัน
  • ระยะที่ 5: ระยะสุดท้าย ไม่สามารถยืนหรือเดินได้จากอาการแข็งเกร็ง ผู้ป่วยต้องนั่งรถเข็นหรือนอนติดเตียง และต้องมีผู้ดูแลตลอดเวลา 
อย่างไรก็ตามระยะเหล่านี้มักใช้ประโยชน์ในการวิจัยเป็นหลัก เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีการดำเนินโรคที่แตกต่างกัน การดำเนินระยะต่างๆ ก็ย่อมแตกต่างกันไปด้วย

ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคพาร์กินสันให้หายขาดหรือหยุดยั้งการดำเนินของโรคได้ ซึ่งวิธีการรักษาที่ใช้โดยทั่วไปมีดังนี้

  • การรักษาด้วยยา สามารถรักษาด้วยยากินเพื่อควบคุมอาการ เช่น ยากลุ่ม Levodopa และยากลุ่ม dopamine agonists โดยในระยะแรกผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีการตอบสนองต่อยาได้ดี แต่เมื่อรักษามาระยะหนึ่งผู้ป่วยส่วนมากมักมีการตอบสนองต่อยาไม่ดีเหมือนเดิม มีการตอบสนองต่อยาไม่สม่ำเสมอ (motor fluctuation), ยาหมดฤทธิ์ก่อนกำหนด (wearing off) หรือ มีอาการยุกยิก (dyskinesia) จากการทานยา รวมถึงระบบย่อยอาหารที่ทำงานช้าลง ทำให้การดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกายได้ช้าลง ส่งผลให้ต้องรอนานกว่าเดิมหลังจากกินยาเพื่อให้อาการดีขึ้น ควรพิจารณาใช้การรักษาด้วยอุปกรณ์  (device-aided therapy) เช่น การให้ยาอะโปมอร์ฟีนแบบฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนังแบบต่อเนื่อง (continuous apomorphine subcutaneous infusion
  • การรักษาโดยการผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (deep brain stimulation) เหมาะกับผู้ป่วยที่เริ่มไม่ตอบสนองต่อยากิน มีการตอบสนองต่อยาไม่สม่ำเสมอ (motor fluctuation)ม มีภาวะยาหมดฤทธิ์ก่อนกำหนด (wearing off) หรือ มีอาการยุกยิก (dyskinesia) จากการทานยา แต่ยังไม่มีปัญหาเรื่องสมองเสื่อมขั้นรุนแรง ความผิดปกติทางอารมณ์ขั้นรุงแรง หรือปัญหาด้านการเดินและการทรงตัว ดังนั้นก่อนการรักษา จำเป็นต้องตรวจร่างกายผู้ป่วยอย่างละเอียด รวมกับการตวรจวิเคราะห์ทางประสาทจิตวิทยา (Neuropsychological testing) โดยผู้เชี่ยวชาญ ก่อนว่าไม่มีปัญหาเหล่านี้ ทำให้มีขั้นตอนมากกว่าการรักษาด้วยการให้ยาใต้ผิวหนังและเนื่องจากเป็นการผ่าตัดเพื่อฝังเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึก จึงต้องทำโดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางเท่านั้น
  • การทำกายภาพบำบัด การออกกำลังกาย การยืดกล้ามเนื้อและการฝึกพูด (speech therapy) เพื่อแก้ไขการพูด มีประโยชน์ในการช่วยประคับประคองผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยาวนานยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

 

แก้ไขล่าสุด: 04 กรกฎาคม 2568

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์โรคระบบประสาท

ดูเพิ่มเติม

คลินิกโรคพาร์กินสันและการเคลื่อนไหวผิดปกติ

ดูเพิ่มเติม

คลินิกสุขภาพผู้สูงอายุนิวไลฟ์

ดูเพิ่มเติม

คะแนนโหวต 9.05 of 10, จากจำนวนคนโหวต 93 คน

Related Health Blogs