bih.button.backtotop.text

ไขข้อข้องใจ ตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคพาร์กินสัน

ไขข้อข้องใจ ตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสันเป็นโรคเกี่ยวกับความเสื่อมของระบบประสาทที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและมักก่อให้เกิดความกังวลใจที่มาพร้อมกับคำถามมากมาย เราได้รวบรวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคพาร์กินสัน เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีความเข้าใจในโรคนี้มากขึ้น และสามารถ
รับมือกับโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ถาม: โรคพาร์กินสันเกิดจากอะไร
ตอบ: ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน มีประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยที่เป็นโรคพาร์กินสันจากพันธุกรรมและการถ่ายทอดในครอบครัว นอกนั้นเกิดขึ้นกับผู้ที่ไม่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้

ถาม: โรคพาร์กินสันมีกี่ระยะ
ตอบ: โรคพาร์กินสันมีผลกระทบกับผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกัน ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนจะมีอาการของโรค ผู้ป่วยบางรายมีอาการดำเนินของโรคที่เร็วกว่า ในขณะที่ผู้ป่วยบางรายตอบสนองต่อยาได้ดีกว่า โดยทั่วไปสามารถแบ่งโรคพาร์กินสันได้ 5 ระยะด้วยกัน ดังนี้
ระยะที่ 1: มีอาการเล็กน้อย คือ อาการสั่นและอาการเคลื่อนไหวที่ข้างใดข้างหนึ่งของร่างกายเท่านั้น มีการเปลี่ยนแปลงของท่าทาง (posture) การเดิน และการแสดงออกทางสีหน้า
ระยะที่ 2: อาการสั่น แข็งเกร็งและอาการเคลื่อนไหวอื่นๆ เริ่มลุกลามไปยังร่างกายอีกข้างหนึ่งหรือบริเวณกึ่งกลางร่างกาย เช่น คอและลำตัว เริ่มมีปัญหาการเดิน บางครั้งอาจมีปัญหาการพูด
ระยะที่ 3: เป็นระยะกลางของโรค มีอาการทรงตัวผิดปกติ หกล้มได้ง่ายขึ้น แต่ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้
ระยะที่ 4: ยังสามารถเดินและยืนเองได้ แต่จำเป็นต้องใช้ไม้เท้าหรือวอล์กเกอร์เพื่อความปลอดภัย ต้องการผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดในการทำกิจวัตรประจำวัน
ระยะที่ 5: ไม่สามารถยืนหรือเดินได้จากอาการแข็งเกร็ง ผู้ป่วยต้องนั่งรถเข็นหรือนอนติดเตียง และต้องมีผู้ดูแลตลอดเวลา
อย่างไรก็ตามระยะเหล่านี้มักใช้ประโยชน์ในการวิจัยเป็นหลัก เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีการดำเนินโรคที่แตกต่างกัน การดำเนินระยะต่างๆ ก็ย่อมแตกต่างกันไปด้วย

ถาม: โรคพาร์กินสันรักษาให้หายขาดได้ไหม
ตอบ: ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด การรักษาโรคพาร์กินสันในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่การควบคุมอาการและความพยายามในการชะลอการดำเนินของโรค เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดียาวนานที่สุด
 
ถาม:  โรคพาร์กินสันทำให้เสียชีวิตได้หรือไม่
ตอบ: ตัวโรคพาร์กินสันไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต แต่คุณภาพชีวิตจะแย่ลงหากไม่ได้รับการรักษา ภาวะแทรกซ้อนอาการที่สามารถพบได้และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ เช่น การบาดเจ็บจากการหกล้ม ปัญหากลืนลำบาก อาจทำให้เป็นโรคปอดอักเสบติดเชื้อจากการสำลัก

ถาม: มีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง
ตอบ: โรคพาร์กินสัน สามารถรักษาด้วยยากินเพื่อควบคุมอาการ เช่น ยากลุ่ม Levodopa และยากลุ่ม dopamine agonists โดยในระยะแรกผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีการตอบสนองต่อยาได้ดี แต่เมื่อรักษามาระยะหนึ่งผู้ป่วยส่วนมากมักมีการตอบสนองต่อยาไม่ดีเหมือนเดิม มีการตอบสนองต่อยาไม่สม่ำเสมอ (motor fluctuation), ยาหมดฤทธิ์ก่อนกำหนด (wearing off) หรือ มีอาการยุกยิก (dyskinesia)จากการทานยา รวมถึงระบบย่อยอาหารที่ทำงานช้าลง ทำให้การดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกายได้ช้าลง ส่งผลให้ต้องรอนานกว่าเดิมหลังจากกินยาเพื่อให้อาการดีขึ้น ควรพิจารณาใช้การรักษาด้วยอุปกรณ์  (device-aided therapy) เช่น การให้ยาอะโปมอร์ฟีนแบบฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนังแบบต่อเนื่อง (continuous apomorphine subcutaneous infusion) และการฝังเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation - DBS)  นอกเหนือจากยาหรือการใช้อุปกรณ์แล้ว การทำกายภาพบำบัด การออกกำลังกาย การยืดกล้ามเนื้อและการฝึกพูด (speech therapy) เพื่อแก้ไขการพูด มีประโยชน์ในการช่วยประคับประคองผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยาวนานยิ่งขึ้น

ถาม: เมื่อไหร่ที่ควรรักษาด้วยวิธีการให้ยาอะโปมอร์ฟีนแบบฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนังแบบต่อเนื่อง (continuous apomorphine subcutaneous infusion)  
ตอบ: เมื่อตัวโรคดำเนินมากขึ้น สมองของผู้ป่วยมีการสร้างโดพามีนลดลง ประกอบกับการดูดซึมของลำไส้ลดลง ทำให้ผู้ป่วยมีการตอบสนองต่อยาไม่สม่ำเสมอ (motor fluctuation) หรือภาวะยาหมดฤทธิ์ก่อนกำหนด (wearing off) การรักษาวิธีนี้จะทำให้ระดับโดพามีนสม่ำเสมอ และอาการของผู้ป่วยควบคุมได้ดีขึ้น

ถาม: ใครบ้างที่เหมาะสมกับการรักษาโดยการฝังเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation - DBS)  
ตอบ: เหมาะกับผู้ป่วยที่เริ่มไม่ตอบสนองต่อยากิน มีการตอบสนองต่อยาไม่สม่ำเสมอ (motor fluctuation)ม มีภาวะยาหมดฤทธิ์ก่อนกำหนด (wearing off) หรือ มีอาการยุกยิก (dyskinesia)จากการทานยา แต่ยังไม่มีปัญหาเรื่องสมองเสื่อมขั้นรุนแรง ความผิดปกติทางอารมณ์ขั้นรุงแรง หรือปัญหาด้านการเดินและการทรงตัว ดังนั้นก่อนการรักษา จำเป็นต้องตรวจร่างกายผู้ป่วยอย่างละเอียด รวมกับการตวรจวิเคราะห์ทางประสาทจิตวิทยา( Neuropsychological testing) โดยผู้เชี่ยวชาญ ก่อนว่าไม่มีปัญหาเหล่านี้ ทำให้มีขั้นตอนมากกว่าการรักษาด้วยการให้ยาใต้ผิวหนังและเนื่องจากเป็นการผ่าตัดเพื่อฝังเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึก จึงต้องทำโดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางเท่านั้น
 
ถาม: หากรักษาโดยการฝังเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation - DBS)  แล้วยังต้องกินยาต่อหรือไม่
ตอบ: ผู้ป่วยส่วนหนึ่ง สามารถลดปริมาณยาที่ใช้ลงได้ ทำให้ลดการจากการทานยาลง เช่น อาการยุกยิก (dyskinesia) แต่โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยยังคงต้องใช้ยาร่วมกับการรักษาโดยการกระตุ้นสมองส่วนลึก

ถาม: การรักษาโดยการฝังเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation – DBS) หากผู้ป่วยเริ่มมีปัญหาเรื่องความจำหรือการเดินและการทรงตัว จำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อนำอุปกรณ์ออกมาหรือไม่
ตอบ: ไม่จำเป็น เนื่องจากการรักษาโดยการฝังเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation – DBS) เป็นการรักษาตามอาการ ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรค แต่ภาวะของโรคยังดำเนินไปตามตัวโรค ผู้ป่วยย่อมสามารถมีปัญหาด้าน ด้านความจำ หรือการทรงตัวได้ในระยะที่โรคดำเนินมากขึ้น ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อนำอุปกรณ์ออก แพทย์สามารถรักษาภาวะดังกล่าวด้วยยา ร่วมกับการสามารถปรับเปลี่ยนระดับกระแสไฟฟ้าให้เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยแต่ละรายได้
คลินิกโรคพาร์กินสันและการเคลื่อนไหวผิดปกติ ศูนย์ประสาทวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีทีมแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางด้านโรคพาร์กินสันและการเคลื่อนไหวผิดปกติโดยเฉพาะ เราเข้าใจถึงความกังวลของผู้ป่วยและครอบครัว จึงพร้อมให้คำปรึกษาอย่างละเอียด ตอบทุกข้อสงสัย เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคและทางเลือกในการรักษาที่เหมาะสม


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 05 พฤษภาคม 2568

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs