bih.button.backtotop.text

เข้าใจโรคพาร์กินสัน จากอาการสู่แนวทางการรักษา

เข้าใจโรคพาร์กินสัน จากอาการสู่แนวทางการรักษา

โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทในสมองส่วน substantia nigraที่อยู่บริเวณสมองส่วนกลาง(midbrain) โดยเซลล์ประสาทเหล่านี้มีหน้าที่ผลิตสารเคมีสำคัญชื่อว่า "โดพามีน (dopamine)" ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย อารมณ์ และความคิดวิเคราะห์ เมื่อเซลล์ประสาทเหล่านี้เสื่อมลง จะทำให้การผลิตโดพามีนได้ลดลงส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลต่ออาการนอกเหนือจากการเคลื่อนไหว เช่น อารมณ์และความจำได้อีกด้วย
เนื่องจากโรคพาร์กินสันเกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาท อาการจึงมักแย่ลงเมื่อตัวโรคดำเนินไปเรื่อยๆ โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด แต่ในปัจจุบันมีทางเลือกในการรักษาที่หลากหลาย ซึ่งแพทย์สามารถปรับให้เหมาะสมกับอาการของแต่ละบุคคลเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้



โรคพาร์กินสันเกิดจากสาเหตุใด

โรคพาร์กินสันไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง แต่เชื่อว่ามีหลายปัจจัยประกอบกันที่ทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน เช่น
  • พันธุกรรม มักเกิดกับผู้ที่มีอาการตั้งแต่อายุยังน้อย (early onset)
  • สิ่งแวดล้อม อาจเกิดจากการสัมผัสกับสารพิษบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น ยาฆ่าแมลง สารเคมีบางชนิด
 

สังเกตอาการของโรคพาร์กินสันได้อย่างไร

อาการของโรคพาร์กินสันแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
  • อาการผิดปกติทางการเคลื่อนไหว  (motor symptoms) เป็นอาการที่สังเกตเห็นได้ และมักเป็นอาการนำที่ทำให้ผู้ป่วยมาเข้ารับการรักษา เช่น อาการสั่นในขณะพัก (rest tremor) การเคลื่อนไหวช้าลง (bradykinesia) อาการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อ(rigidity) อาการเดินผิดปกติ(gait disturbance) อาการทรงตัวไม่ดี (postural instability)
  • อาการนอกเหนือจากการเคลื่อนไหว (non-motor symptoms) เป็นอาการที่มองไม่เห็น เช่น การได้กลิ่นลดลง (anosmia) ละเมอรุนแรง( REM sleep behavioral disorders) ท้องผุ อาการกังวล ซึมเศร้า เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หรือ ปัญหาด้านความคิดความจำ
 

วินิจฉัยได้อย่างไร

แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย การตรวจเอ็มอาร์ไอสมองเพื่อแยกสาเหตุอื่นๆที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายโรคพาร์กินสันออกไปก่อน ในบางกรณีที่การวินิจฉัยยังไม่ชัดเจนอาจจำเป็นต้องตรวจการทำงานของเซลล์ประสาทที่ใช้สารโดพามีน เช่น dopamine transporter scan (DaTscan) หรือ F-DOPA PET Scan เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม

 

รักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง

การรักษาโรคพาร์กินสันแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ
  • การรักษาด้วยยา เนื่องจากอาการของโรคพาร์กินสันเกิดจากการขาดโดพามีนในสมอง ดังนั้นการรักษาด้วยยาส่วนใหญ่จึงมุ่นเน้นไปที่การทดแทนโดพามีนที่ลดลง ได้แก่ ยาในกลุ่ม Levodopa และยาในกลุ่ม Dopamine agonists เป็นต้น
  • การรักษาด้วยอุปกรณ์ (Device-aided therapies)
โดยในระยะแรกผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีการตอบสนองต่อยาได้ดี แต่เมื่อรักษามาระยะหนึ่งผู้ป่วยส่วนมากมักมีการตอบสนองต่อยาไม่ดีเหมือนเดิม มีการตอบสนองต่อยาไม่สม่ำเสมอ (motor fluctuation), ยาหมดฤทธิ์ก่อนกำหนด (wearing off) หรือ มีอาการยุกยิก (dyskinesia)จากการทานยา รวมถึงระบบย่อยอาหารที่ทำงานช้าลงทำให้การดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกายได้ช้าลง ส่งผลให้ต้องรอนานกว่าเดิมหลังจากกินยาเพื่อให้อาการดีขึ้น ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้จำเป็นต้องพิจารณาการรักษาด้วยอุปกรณ์ ได้แก่
  • การให้ยาอะโปมอร์ฟีนแบบฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนังแบบต่อเนื่อง (continuous apomorphine subcutaneous infusion) เป็นการให้ยาอย่างต่อเนื่องทางชั้นใต้ผิวหนัง เพื่อให้ระดับโดพามีนสม่ำเสมอ เพื่อลดอาการ ยาหมดฤทธิ์ก่อนกำหนด (wearing off) ข้อดีคือยาสามารถออกฤทธิ์ได้อย่างต่อเนื่อง ในระยะเริ่มต้นผู้ป่วยต้องมารับการรักษาในโรงพยาบาลประมาณ 7-10วันเพื่อปรับขนาดอะโปมอร์ฟีนให้เหมาะสมกับปริมาณยาที่ทานอยู่เดิม
  • การรักษาโดยการฝังเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation - DBS) เป็นการผ่าตัด เพื่อฝังขั้วไฟฟ้าขนาดเล็ก (electrode) เข้าไปในสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว จากนั้นเชื่อมต่อขั้วไฟฟ้าด้วยสายใต้ผิวหนังไปยังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (Impulse Generator Battery – IPG) ที่มีลักษณะคล้ายเครื่องกระตุ้นหัวใจ (pacemaker) โดยแพทย์จะฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าไว้ใต้ผิวหนังใกล้กระดูกไหปลาร้าหรือบริเวณหน้าท้อง การรักษานี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่รักษาด้วยยามาระยะหนึ่งและการตอบสนองต่อยาไม่ดีเหมือนระยะแรก การผังเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกเพื่อลดอาการสั่น เคลื่อนไหวช้า แข็งเกร็งของกล้ามเนื้อ และอาการยุกยิกจากการทานยา ผู้ป่วยจำเป็นต้องไม่มีปัญหาด้านการทรงตัว สมองเสื่อมขั้นรุนแรง หรือภาวะผิดปกติทางอารมณ์ขั้นรุนแรง ซึ่งจำเป็นได้รับวินิจฉัยการตรวจเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ก่อนพิจารณาการรักษาวิธีนี้


ศูนย์โรคระบบประสาท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้การดูแลผู้ป่วยโรคพาร์กินสันและการเคลื่อนไหวผิดปกติ ด้วยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทาง ที่มีความเชี่ยวชาญในการวินิจฉัยและรักษาโรคพาร์กินสัน รวมถึงกลุ่มอาการเคลื่อนไหวผิดปกติอย่างครอบคลุม  โดยให้การรักษาแบบเฉพาะบุคคลอย่างเหมาะสมกับอาการในทุกระยะของโรค เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างอิสระและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นอย่างยืนยาว



 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 02 พฤษภาคม 2568

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs