bih.button.backtotop.text

การรักษาโรคอ้วนด้วยวิธีการผ่าตัดกระเพาะอาหาร

 

ผ่าตัดกระเพาะอาหาร (Bariatric Surgery) อีกหนึ่งทางเลือกในการลดน้ำหนัก
การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนักทำได้หลายวิธี แพทย์จะเลือกใช้วิธีการผ่าตัดในกรณีที่คนไข้มีภาวะอ้วนมาก ไม่สามารถลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายหรือคนไข้มีปัญหาทางด้านสุขภาพจากโรคอ้วน การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนักทำได้หลายวิธี โดยวิธีการที่นิยมแบ่งออกได้เป็นสองวิธีการหลักๆ วิธีการแรกคือการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร วิธีการที่สองคือการผ่าตัดเพื่อลดขนาดกระเพาะอาหารและลดการดูดซึมอาหารด้วยการปรับเปลี่ยนทางเดินอาหารใหม่ ซึ่งวิธีการทั้งสองอย่างนี้ทำให้คนไข้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น รับประทานได้น้อยลง ส่งผลให้ปริมาณแคลอรี่เข้าสู่ร่างกายลดลงและน้ำหนักลงในที่สุด
 
การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนักไม่ได้เหมาะสมกับผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินทุกราย ก่อนการผ่าตัดแพทย์จะให้ข้อมูลกับคนไข้อย่างละเอียด ตรวจร่างกายดูความพร้อม และะคัดกรองผู้ป่วยที่เหมาะสมซึ่งมีข้อบ่งชี้ดังต่อไปนี้
  • อายุระหว่าง 18 – 65 ปี
  • เป็นโรคอ้วน (Morbid obesity)
  • เป็นโรคร่วมจากความอ้วน เช่น เบาหวานชนิดที่ 2 ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ความดันโลหิตสูง
  • ไม่มีข้อห้ามในการผ่าตัด เช่น เป็นโรคมะเร็ง เป็นโรคทางจิตเวช เช่น ภาวะซึมเศร้า เป็นผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น
ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนักโดยใช้วิธีการ 2 อย่างดังนี้
  • Roux-en-Y gastric bypass เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกระเพาะอาหารด้วยการผ่าตัดแบ่งกระเพาะอาหารส่วนบนให้มีขนาดเล็กลงเป็นกระเป๋าเล็กๆ หลังจากนั้นศัลยแพทย์จะนำส่วนหนึ่งของลำไส้เล็กมาต่อเข้ากับกระเป๋านี้เพื่อทำทางเดินอาหารใหม่เป็นรูปทรงคล้ายตัวอักษร Y อาหารที่คนไข้กินเข้าไปจะเข้ามาสู่กระเป๋านี้โดยไม่ผ่านกระเพาะอาหารส่วนล่างและลำไส้ที่ดูดซึมอาหารได้มากบางส่วน ทำให้คนไข้กินได้น้อยลง ช่วยลดปริมาณแคลอรี่ที่เข้าสู่ร่างกายและลดปริมาณแร่ธาตุที่ดูดซึมจากอาหาร
  • Sleeve gastrectomy คือ การผ่าตัดนำกระเพาะส่วนหนึ่งออกไป หลังจากนั้นศัลยแพทย์จะตัดกระเพาะที่เหลือให้เป็นรูปทรงเหมือนกล้วยหอม ทำให้ความจุของกระเพาะอาหารลดลง นอกจากนี้ยังทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนกรีลิน (ghrelin) ที่กระตุ้นความอยากอาหารน้อยลง ทำให้คนไข้ลดความอยากอาหาร วิธีนี้ไม่มีผลกระทบต่อการดูดซึมแคลอรี่และสารอาหารในลำไส้
ใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 4-5 วัน คนไข้ส่วนใหญ่สามารถลุกเดินได้ภายใน 1-2 วัน
 
ผู้ป่วยจำเป็นต้องปฏิบัติตามแผนการกินอาหารที่แพทย์และนักโภชนาการแนะนำ ในเดือนแรก คนไข้จำเป็นต้องกินอาหารเหลว ในเดือนที่สองผู้ป่วยสามารถกินอาหารที่นิ่มได้และสามารถกินอาหารตามปกติได้ภายในระยะเวลา 6 เดือน  แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยบางรายกินวิตามินเสริม นอกจากนี้คนไข้ควรมาพบแพทย์ตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะหลังจากการผ่าตัดไม่กี่เดือน
 
เช่นเดียวกับการผ่าตัดทั่วไป การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนักมีความเสี่ยง เช่น การติดเชื้อ เกิดอาการกระเพาะรั่วซึ่งสามารถแก้ไขได้ ในระยะยาวอาจทำให้เป็นนิ่วในถุงน้ำดีและขาดวิตามินบางตัว เป็นต้น
 
หลังการผ่าตัดในช่วง 1-2 ปีแรก น้ำหนักจะลดลงมากที่สุด หลังจากนั้นน้ำหนักอาจเพิ่มขึ้นบ้าง  ขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองของคนไข้ เช่น การควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย
 
นอกจากช่วยลดน้ำหนักแล้ว ยังอาจช่วยให้หายจากโรคประจำตัวหรือบรรเทาความรุนแรงของโรคที่เกิดจากความอ้วน เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะมีบุตรยาก นอกจากนี้ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
 
จุดเด่นของเราคือ การป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเทคนิคการผ่าตัดเฉพาะตัวของศัลยแพทย์ รวมถึงขั้นตอนการคัดกรองผู้ป่วยและการให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยอย่างละเอียดเพื่อใช้ประกอบในการตัดสินใจ นอกจากนี้เรายังมีทีมสหสาขาวิชาชีพผู้ชำนาญการพร้อมให้บริการด้วยความเอาใจใส่อย่างครบวงจร
 

Related conditions

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์ต่อมไร้ท่อ เบาหวานและโภชนบำบัด

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 10.00 of 10, จากจำนวนคนโหวต 1 คน

Related Health Blogs