bih.button.backtotop.text

โรคตาในเด็ก เรื่องที่พ่อแม่ควรรู้

การมองเห็นที่ดีส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนและการทำกิจกรรมต่างๆ ของเด็ก คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรเพิกเฉยต่อการดูแลสุขภาพตาของลูก ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคร้ายทางตาที่อาจเกิดขึ้นได้
 

โรคตาที่พบได้มากในเด็กมีอะไรบ้าง?

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) เกี่ยวกับโรคตาที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในเด็ก และแนะนำให้ตรวจค้นหาเพื่อการตรวจรักษาในระยะเริ่มต้น โดยแบ่งตามช่วงอายุ มีดังนี้


โรคสายตาขี้เกียจเป็นอย่างไร?

โรคสายตาขี้เกียจเกิดจากการที่มีปัจจัยที่ทำให้ตาข้างนั้นๆ มองเห็นภาพไม่ชัดในช่วงอายุ 7 ปีแรก ซึ่งเป็นช่วงที่มีพัฒนาการของการมองเห็น ส่งผลให้การรับภาพโดยสมองจากตาข้างดังกล่าวลดน้อยลง และทำให้ตาข้างนั้นมีระดับการมองเห็นลดลง ซึ่งถ้าไม่ได้รับการแก้ไข อาจส่งผลให้มีการมองเห็นลดลงอย่างถาวรได้  


สาเหตุใดบ้างที่ทำให้เกิดโรคสายตาขี้เกียจ?

สาเหตุที่พบบ่อยที่ทำให้เกิดโรคสายตาขี้เกียจ ได้แก่ โรคตาเข สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียงที่มากเกินไป หรือไม่เท่ากันระหว่างตา 2 ข้าง โรคของจอประสาทตาและประสาทตา และโรคตาที่ทำให้เกิดการบดบังของการมองเห็น เช่น โรคต้อกระจก หนังตาตก เป็นต้น ซึ่งบางโรคก็ยากที่จะสังเกตเห็น และบางครั้งเด็กก็ไม่สามารถบอกอาการผิดปกตินี้ได้ เนื่องจากเด็กอาจใช้ตาที่ปกติเพียงข้างเดียวมองเป็นประจำ
  

หากลูกมีสายตาสั้น ยาว หรือเอียง จำเป็นต้องใส่แว่นตาหรือไม่?

ภาวะสายตาสั้น ยาว หรือเอียง เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในช่วงอายุ 6-18 ปี และจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดทุกปีขึ้นกับปัจจัยบางอย่าง เช่น ร่างกายที่เติบโตขึ้น พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และการใช้งาน เป็นต้น ทั้งนี้การแก้ไขภาวะสายตาสั้น ยาว หรือเอียง ด้วยแว่นตาจะกระทำเมื่อค่าสายตามากเกินเกณฑ์ปกติ ซึ่งแว่นตาจะช่วยให้เด็กมีระดับการมองเห็นดีขึ้น รวมถึงเพื่อป้องกันภาวะสายตาขี้เกียจที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ดี ในเด็กที่มีภาวะสายตาขี้เกียจแล้ว การใส่แว่นตาเพื่อแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น ยาว หรือเอียง มีความจำเป็นมาก
  

เมื่อไรที่ควรพาลูกไปพบจักษุแพทย์?

คำถามนี้ หมอขอแบ่งเด็กเป็น 2 กลุ่มดังนี้
 
กลุ่มที่ 1: เด็กที่มีความผิดปกติ (เช่น เด็กที่คลอดก่อนกำหนด เด็กที่มีความผิดปกติทางสมองและพัฒนาการ เด็กที่มีโรคประจำตัวอื่นที่แพทย์เห็นว่าอาจสัมพันธ์กับโรคตา เด็กที่มีความผิดปกติของตาที่สังเกตได้ และเด็กที่มีสมาชิกในครอบครัวที่มีความผิดปกติทางตาที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้) คุณพ่อคุณแม่จะต้องพาลูกมาพบจักษุแพทย์ทันทีที่พบความผิดปกติเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากในบางโรค หากรักษาช้าเกินไป อาจส่งผลต่อการมองเห็นในระยะยาวได้
 
กลุ่มที่ 2: เด็กปกติ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกมาพบจักษุแพทย์ตามระยะเวลา
  • ครั้งที่ 1: ที่อายุ 3-6 เดือน ในระยะนี้กุมารแพทย์จะตรวจดูการตอบสนองคร่าวๆอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจว่าลูกปกติหรือไม่ ก็ควรพาลูกมาพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจดูว่าลูกมีการตอบสนองการมองเห็นที่ผิดปกติหรือไม่ มีการกลอกตาผิดปกติหรือไม่ มีตาเหล่หรือไม่ ซึ่งการตรวจพบและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะให้ผลการรักษาที่ดีกว่าการตรวจพบในภายหลัง

  • ครั้งที่ 2: ที่อายุประมาณ 3-4 ปี ช่วงนี้เด็กจะเริ่มวัดระดับการมองเห็นได้ รวมทั้งเป็นช่วงเวลาที่ดีที่ยังสามารถรักษาโรคสายตาขี้เกียจให้ได้ผลดี นอกจากนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกายังแนะนำให้เด็กมีการตรวจตาเบื้องต้นอย่างน้อยในช่วงอายุนี้เช่นกัน

  • ครั้งที่ 3:ที่อายุประมาณ 5-6 ปี ช่วงนี้เป็นช่วงที่พบค่าสายตาเปลี่ยนได้บ่อย รวมทั้งเป็นวัยที่ต้องใช้สายตามากขึ้นในการเรียน

  • ครั้งต่อๆ ไป: ประมาณทุก 1-2 ปีไปจนถึงอายุ 18 ปี หรือขึ้นกับอาการและความผิดปกติที่ตรวจพบในครั้งแรกๆ
 
เรียบเรียงโดย พญ.ณัฐธิดา วงศ์วีระวัฒน์ จักษุแพทย์เด็ก ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs