bih.button.backtotop.text

ภาวะสายตาเอียง

คนส่วนใหญ่เกิดมาพร้อมกับสายตาเอียงอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นไม่มากจนถึงกับต้องแก้ไข สายตาเอียงอาจเกิดร่วมกับภาวะสายตาสั้นหรือสายตายาวแต่กำเนิด
 

สาเหตุของภาวะสายตาเอียง
สายตาเอียงเกิดจากการที่กระจกตามีความโค้งไม่เท่ากันในแต่ละแกน ทำให้เกิดจุดโฟกัส 2 จุดไม่รวมเป็นภาพเดียว โดยที่จุดหนึ่งโฟกัสที่หลังหรือหน้าจอประสาทตา สายตาเอียงอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ โดยเป็นแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นในภายหลัง จากการบาดเจ็บทางดวงตา โรคตาบางประเภทหรือหลังจากการผ่าตัดตา เช่น การผ่าตัดต้อกระจก
  • มองเห็นภาพซ้อนหรือบิดเบี้ยว
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดตา ตาล้า
  • เห็นภาพเป็นแสงกระจายในตอนกลางคืน
  • ต้องพยายามหรี่ตาอยู่ตลอดเวลาเพื่อปรับโฟกัสให้มองเห็นได้ชัดยิ่งขึ้น
  • เด็กที่สายตาเอียงมาก มักเอียงศีรษะหรือเอียงคอ เพื่อช่วยให้มองเห็นได้ดีขึ้น 
จักษุแพทย์จะทำการวินิจฉัยสายตาเอียงด้วยวิธีการดังนี้
 
  • การตรวจระดับการมองเห็น (visual acuity assessment test) โดยให้อ่านตัวอักษรหรือตัวเลขบนแผนภูมิในระยะที่กำหนด
  • การทดสอบความหักเหของแสงที่เข้าสู่ดวงตา (refraction test) โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Phoropter เครื่องมือจะมีเลนส์หลายชุดที่มีขนาดกำลังต่างๆกันและให้อ่านแผนภูมิขณะมองผ่านเลนส์ที่มีกำลังแตกต่างกัน เพื่อให้ได้ค่าเลนส์ที่เหมาะสมในการแก้ไขสายตา
  • การวัดค่าความโค้งของกระจกตา (Keratometry) โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า keratometer เพื่อวัดค่าความโค้งและค่าสายตาเอียง
  • ตรวจตาอย่างละเอียด โดยจักษุแพทย์ (Slitlamp examination) เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยมีภาวะสายตาผิดปกติที่ไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ตาแห้งหรือจอประสาทตาเสื่อม

ภาวะสายตาสายตาเอียงสามารถแก้ไขได้โดยการใช้เลนส์ทรงกระบอกหรือที่เรียกว่า cylindrical lens ที่มีกำลังในแนวใดแนวหนึ่ง เพื่อแก้ไขความโค้งที่มากหรือน้อยเกินไป การแก้ไขสายตาเอียงมีทางเลือกทั้งแบบไม่ถาวรและแบบถาวร 

การรักษาแบบไม่ถาวร
  • แว่นสายตา โดยใช้เลนส์ทรงกระบอกหรือ cylindrical lens
  • เลนส์สัมผัส ที่ใช้สำหรับช่วยแก้ไขค่าสายตาเอียงโดยเฉพาะ

การรักษาแบบถาวร
การรักษาแบบถาวรทำได้โดยการผ่าตัดแก้ไขสายตา ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่คือการผ่าตัดแก้ไขปรับความโค้งของกระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขที่ระดับของเลนส์ตา

การผ่าตัดแก้ไขปรับความโค้งของกระจกตาที่นิยมกันในปัจจุบันมีดังนี้
  • Photorefractive Keratectomy (PRK) ทำได้โดยการเปิดผิวกระจกตาชั้นนอกสุดออกแล้วจึงใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ (excimer laser) ซึ่งเป็นเลเซอร์ชนิดเย็นยิงลงบนเนื้อกระจกตา เพื่อปรับความโค้งที่ผิวกระจกตา แก้ไขค่าสายตาที่ผิดปกติก่อนปิดแผลที่ผิวกระจกตาด้วยเลนส์สัมผัสเพื่อลดอาการระคายเคืองประมาณ 5-7 วัน
  • Laser-assisted in situ Keratomileusis (LASIK) เป็นการผ่าตัดสายตาด้วยการเปิดฝากระจกตาด้วยเครื่องมือใบมีดติดมอเตอร์ (microkeratome) เพื่อสร้างฝากระจกตาให้มีลักษณะคล้ายบานพับ (flap) แล้วจึงเปิดฝานั้นไปด้านข้าง ให้ได้เนื้อกระจกตาส่วนกลางที่จะใช้รองรับเลเซอร์ในขั้นตอนถัดไป จากนั้นจึงใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ปรับความโค้งเนื้อกระจกตา เมื่อเสร็จแล้วจึงปิดฝากระจกตากลับเข้าไปที่เดิม
  • Femtosecond laser-assisted LASIK (Femto-LASIK) การทำเลสิก แบบไร้ใบมีด โดยการใช้เฟมโตเซเคินเลเซอร์ (femtosecond laser) สร้างฝากระจกตาแทนการใช้ใบมีด ทำให้การสร้างฝากระจกตาแม่นยำขึ้น ได้ฝากระจกตาที่หนาเท่ากันทั้งแผ่น และสามารถทำขอบกระจกตาเป็นมุมเข้าร่องกับเนื้อกระจกตาข้างเคียง ทำให้ปิดกลับเข้าที่เดิมได้ง่ายขึ้น ลดโอกาสเคลื่อนของฝากระจกตา
  • Refractive Lenticule Extraction Small Incision Lenticule Extraction (ReLex SMILE) เป็นการผ่าตัดรักษาภาวะสายตาผิดปกติแบบไร้ใบมีดและไร้ฝากระจก ด้วยการใช้เฟมโตเซกกันเลเซอร์ (Femtosecond laser) ในการแยกชั้นกระจกตาชั้นกลางให้มีลักษณะเป็นรูปเลนส์ lenticule และเลเซอร์ยังสร้างรอยเปิดขนาดเล็กที่ผิวกระจกตาขนาด 2-4 มิลิเมตร จากนั้นจักษุแพทย์จะคีบ lenticule ออกทางรอยเปิดดังกล่าวเพื่อปรับความโค้งของกระจกตาโดยไม่กระทบกระเทือนกระจกตาชั้นบนและเส้นประสาทที่ผิวกระจกตา เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่ไร้ใบมีด ไม่มีฝากระจกตา และคงความแข็งแรงของกระจกตาหลังการผ่าตัด เป็นการผ่าตัดที่รวมข้อดีของการผ่าตัดชนิดก่อนมาไว้ด้วยกัน คือไม่มีฝากระจกตา กระจกตาแข็งแรงคล้ายการทำ PRK แต่ไม่เจ็บเคืองและมองเห็นได้เร็วเหมือน LASIK

การผ่าตัดแก้ไขสายตาที่ระดับของเลนส์ตา
  • Implantable Collamer Lens (ICL) คือการใส่เลนส์เสริมเข้าไปในตา โดยเลนส์ที่ใส่เข้าไปเป็นเลนส์โพลีเมอร์ชนิดพิเศษเรียกว่า Collamer แพทย์จะวางเลนส์บริเวณหลังม่านตา ด้านหน้าเลนส์ธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะพิจารณาในคนไข้ที่สายตาสั้นหรือเอียงมาก มีกระจกตาบางและมีช่องหน้าลูกตาที่ลึกพอที่จะใส่เลนส์เสริมลงไปได้อย่างปลอดภัย

 
สายตาเอียงป้องกันไม่ได้ แต่สามารถดูแลดวงตาเพื่อลดโอกาสที่จะรุนแรงมากขึ้นในอนาคตด้วยวิธีการดังนี้
  • ใช้สายตาในที่ๆมีแสงสว่างเพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงการใช้สายตานานๆ เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ ดูทีวี อ่านหนังสือ ให้พักสายตาเป็นระยะๆ
  • หลีกเลี่ยงการขยี้ตาเพื่อป้องกันไม่ให้กระจกตากระทบกระเทือน
  • รับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงสายตา ประกอบด้วยวิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอีและลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) เช่น ผักใบเขียวและผลไม้

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์จักษุ

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์เลเซอร์สายตา

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs