bih.button.backtotop.text

ภาวะสายตาสั้น

สายตาสั้นคือภาวะที่แสงหักเหและไปโฟกัสที่ด้านหน้าของจอประสาทตาแทนที่จะโฟกัสไปลงบนประสาทตา ทำให้มองเห็นวัตถุที่อยู่ใกล้ได้ชัดเจนแต่มองเห็นวัตถุที่อยู่ไกลได้ไม่ชัด

สาเหตุของภาวะสายตาสั้น
สาเหตุของสายตาสั้นเกิดได้จาก 2 กรณีคือ กระจกตามีความโค้งมากกว่าปกติทำให้มีการหักเหแสงมากเกินไปหรือกระบอกตามีความยาวมากกว่าปกติ ทั้ง 2 กรณีทำให้แสงโฟกัสไปไม่ถึงจอประสาทตา นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงของภาวะสายตาสั้นอื่นๆ เช่น พันธุกรรม พฤติกรรมการใช้สายตาในระยะใกล้มากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ ใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ
จักษุแพทย์จะทำการวินิจฉัยสายตาสั้นด้วยวิธีการดังนี้
  • การตรวจระดับการมองเห็น (visual acuity assessment test) เพื่อวินิจฉัยภาวะสายตาสั้นโดยให้อ่านตัวอักษรหรือตัวเลขบนแผนภูมิในระยะที่กำหนด
  • การทดสอบความหักเหของแสงที่เข้าสู่ดวงตา (refraction test) โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Phoropter เครื่องมือจะมีเลนส์หลายชุดที่มีขนาดกำลังต่างๆกันและให้อ่านแผนภูมิขณะมองผ่านเลนส์ที่มีกำลังแตกต่างกัน เพื่อให้ได้ค่าเลนส์ที่เหมาะสมในการแก้ไขสายตา
  • เครื่องมือวัดแสงสะท้อนจากจอประสาทตา (retinoscope) แสงที่สะท้อนออกมาจะสามารถบอกค่าความผิดปกติของสายตาได้
  • ตรวจตาอย่างละเอียด โดยจักษุแพทย์ (Slitlamp examination) เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยมีภาวะสายตาผิดปกติที่ไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ตาแห้งหรือจอประสาทตาเสื่อม
ภาวะสายตาสั้นสามารถแก้ไขได้โดยการลดการโฟกัสที่มีมากเกินไป ทำให้สามารถมองไกลได้ดียิ่งขึ้น การแก้ไขสายตาสั้นมีทางเลือกทั้งแบบไม่ถาวรและแบบถาวร

การรักษาแบบไม่ถาวร
  • แว่นสายตา เป็นทางเลือกที่นิยมกันมากที่สุด เพราะไม่ต้องสัมผัสกับดวงตาโดยตรง โดยแว่นสายตาทำจากเลนส์เว้าซึ่งจะทำให้เกิดการกระจายแสงทำแก้ปัญาสายตาสั้นได้ แต่อาจไม่เหมาะกับงานบางอาชีพ การทำงานหรือการเล่นกีฬาบางอย่างเพราะอาจทำให้ไม่คล่องตัว
  • เลนส์สัมผัส ทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เสริมบุคลิกให้ดูธรรรมชาติขึ้นแต่ต้องดูแลทำความสะอาดให้ดี เพราะถ้าดูแลทำความสะอาดไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่กระจกตาตามมาได้ นอกจากนี้การใส่เลนส์สัมผัสนานๆทำให้เซลล์ผิวเสื่อมได้ในระยะยาว ตาแห้ง ภูมิแพ้ที่เยื่อบุตา จนทำให้การใส่เลนส์มีปัญหาและรับเลนส์ไม่ได้ในที่สุด

การรักษาแบบถาวร
แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่คือการผ่าตัดแก้ไขปรับความโค้งของกระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขที่ระดับของเลนส์ตา
การผ่าตัดแก้ไขปรับความโค้งของกระจกตาที่นิยมกันในปัจจุบันมีดังนี้
 
  • Photorefractive Keratectomy (PRK) ทำได้โดยการเปิดผิวกระจกตาชั้นนอกสุดออกแล้วจึงใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ (excimer laser) ซึ่งเป็นเลเซอร์ชนิดเย็นยิงลงบนเนื้อกระจกตา เพื่อปรับความโค้งที่ผิวกระจกตา แก้ไขค่าสายตาที่ผิดปกติก่อนปิดแผลที่ผิวกระจกตาด้วยเลนส์สัมผัสเพื่อลดอาการระคายเคืองประมาณ 5-7 วัน
  • Laser-assisted in situ Keratomileusis (LASIK) เป็นการผ่าตัดสายตาด้วยการเปิดฝากระจกตาด้วยเครื่องมือใบมีดติดมอเตอร์ (microkeratome) เพื่อสร้างฝากระจกตาให้มีลักษณะคล้ายบานพับ (flap) แล้วจึงเปิดฝานั้นไปด้านข้าง ให้ได้เนื้อกระจกตาส่วนกลางที่จะใช้รองรับเลเซอร์ในขั้นตอนถัดไป จากนั้นจึงใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ปรับความโค้งเนื้อกระจกตา เมื่อเสร็จแล้วจึงปิดฝากระจกตากลับเข้าไปที่เดิม
  • Femtosecond laser-assisted LASIK (Femto-LASIK) การทำเลสิก แบบไร้ใบมีด โดยการใช้เฟมโตเซเคินเลเซอร์ (femtosecond laser) สร้างฝากระจกตาแทนการใช้ใบมีด ทำให้การสร้างฝากระจกตาแม่นยำขึ้น ได้ฝากระจกตาที่หนาเท่ากันทั้งแผ่น และสามารถทำขอบกระจกตาเป็นมุมเข้าร่องกับเนื้อกระจกตาข้างเคียง ทำให้ปิดกลับเข้าที่เดิมได้ง่ายขึ้น ลดโอกาสเคลื่อนของฝากระจกตา
  • Refractive Lenticule Extraction Small Incision Lenticule Extraction (ReLex SMILE) เป็นการผ่าตัดรักษาภาวะสายตาผิดปกติแบบไร้ใบมีดและไร้ฝากระจก ด้วยการใช้เฟมโตเซกกันเลเซอร์ (Femtosecond laser) ในการแยกชั้นกระจกตาชั้นกลางให้มีลักษณะเป็นรูปเลนส์ lenticule และเลเซอร์ยังสร้างรอยเปิดขนาดเล็กที่ผิวกระจกตาขนาด 2-4 มิลิเมตร จากนั้นจักษุแพทย์จะคีบ lenticule ออกทางรอยเปิดดังกล่าวเพื่อปรับความโค้งของกระจกตาโดยไม่กระทบกระเทือนกระจกตาชั้นบนและเส้นประสาทที่ผิวกระจกตา เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่ไร้ใบมีด ไม่มีฝากระจกตา และคงความแข็งแรงของกระจกตาหลังการผ่าตัด เป็นการผ่าตัดที่รวมข้อดีของการผ่าตัดชนิดก่อนมาไว้ด้วยกัน คือไม่มีฝากระจกตา กระจกตาแข็งแรงคล้ายการทำ PRK แต่ไม่เจ็บเคืองและมองเห็นได้เร็วเหมือน LASIK
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง โดยลดกิจกรรมที่ใช้สายตาระยะใกล้ (near work activity) และเพิ่มกิจกรรมกลางแจ้ง (outdoor activity) ประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวัน เช่น เล่นกีฬา เดินเล่นนอกบ้าน
  • เมื่อทำงานที่ต้องใช้สายตาใกล้ๆให้ถือหนังสือหรือแท็บเล็ตห่างจากตาอย่างน้อยหนึ่งศอก พักสายตาบ่อยๆเมื่อทำกิจกรรมที่ใช้สายตาระยะใกล้ เช่น ทำการบ้าน ใช้โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ โดยปฏิบัติตามกฎ 20/20/20 คือ ทุกๆ 20 นาที ในการมองใกล้ให้พักสายตาด้วยการมองระยะไกลประมาณ 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาที

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์จักษุ

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์เลเซอร์สายตา

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs