bih.button.backtotop.text

โรคเกี่ยวกับจอประสาทตา

โรคเกี่ยวกับจอประสาทตา
จอประสาทตาหรือ Retina เป็นส่วนประกอบดวงตาที่อยู่บริเวณหลังผนังด้านในสุด มีลักษณะเป็นชั้นบางๆ ประกอบไปด้วยเซลล์รับภาพจำนวนมาก ในภาวะที่จอประสาทตาปกติ เมื่อเราใช้สายตาเพื่อมอง แสงที่กระทบและหักเหผ่านเลนส์ตาจะมาตกกระทบจุดศูนย์กลางของจอประสาทตาพอดี ทำให้ภาพที่มองเห็นมีความคมชัด เราจึงสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างอิสระ แต่เมื่อไรก็ตามที่เกิดปัญหาขึ้นกับจอประสาทตา การมองเห็นภาพก็ย่อมได้รับผลกระทบโดยตรง

ปัญหาของจอประสาทตาที่พบได้บ่อยมีดังนี้
  • จอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ เป็นภาวะความเสื่อมที่เกิดขึ้นตามวัย พบได้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มักมีอาการตามองไม่ชัดเฉพาะตรงกลางภาพ แต่เห็นภาพข้างๆ ได้เหมือนเดิม บางรายอาจเห็นภาพบิดเบี้ยว
  • เบาหวานขึ้นจอกระสาทตาในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นมากที่สุดของคนวัยทำงาน ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใดๆ เลย ในขณะที่โรคดำเนินไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม อาการที่อาจบ่งชี้ว่าอาจนำไปสู่ภาวะปัญหาที่จอประสาทตา ได้แก่ การมองเห็นภาพแย่ลง เห็นเงา หรือมองเห็นจุดดำลอยไปมาในตา สิ่งสำคัญคือ ผู้ป่วยเบาหวานควรตระหนักถึงความเสี่ยงของตนเอง และปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจตาสำหรับผู้ป่วยเบาหวานสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ หากตรวจแล้วแม้จะไม่พบความผิดปกติ แพทย์ยังต้องนัดเข้ามาตรวจเป็นระยะๆ เพื่อติดตามดูความเปลี่ยนแปลงของจอประสาทตาเพื่อจะได้รับมือกับผลกระทบที่เกิดกับจอประสาทตาได้ตั้งแต่แรกเริ่ม
  • จอประสาทตาเสื่อมจากพยาธิสภาพของจอตาเอง มักเป็นมาแต่กำเนิด เช่น จอประสาทตาบางกว่าปกติ มีรูขาด หลุดลอก หรือจอประสาทตาเสียหายจากภาวะสายตาสั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดในผู้ที่มีสายตาสั้นมากๆ


นอกจากนี้ ยังมีโรคของจอประสาทตาที่เกิดจากโรคเลือดบางอย่างทั้งเลือดข้นมากและเลือดจาง โรคในกลุ่มภูมิต้านตนเอง (autoimmune disease) โรคติดเชื้อ รวมถึงอุบัติเหตุที่เกิดกับดวงตาหรือปัญหาจากการผ่าตัดดวงตา

โดยส่วนมากผู้ที่มาพบแพทย์มักมาด้วยอาการตามัว เห็นเงาหรือจุดดำลอยไปมา หรือเห็นแสงแวบคล้ายฟ้าแลบ ซึ่งเป็นอาการเตือนว่าจอประสาทตาอาจมีปัญหา แต่ความจริงคือความเสียหายของจอประสาทตาอาจเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ โดยไม่มีอาการใดๆ เลย ดังนั้นคำแนะนำที่ดีที่สุดคืออย่างน้อยควรได้รับการตรวจตาด้วยจักษุแพทย์อย่างน้อยสักครั้ง โดยเฉพาะหากคุณเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้แก่ ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคจอตา ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่มีสายตาสั้นมากคือสั้น 600 ขึ้นไปรวมถึงผู้ที่เคยทำ LASIK มาก่อน ควรได้รับการตรวจจอประสาทตาอย่างสม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องรอให้มีอาการ

แพทย์จะตรวจการมองเห็นโดยทั่วไป ร่วมกับการหยอดยาขยายม่านตาเพื่อให้สามารถตรวจดูจอประสาทตาได้โดยละเอียด บางกรณีแพทย์อาจตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การถ่ายรูปจอประสาทตา สแกนดูความหนาของชั้นจอประสาทตาด้วยเครื่องมือพิเศษ ฉีดสีเพื่อดูลักษณะของหลอดเลือดในกรณีที่จำเป็น

เมื่อเข้ารับการตรวจตา ไม่ควรมาตรวจเพียงลำพัง เนื่องจากการหยอดยาขยายม่านตาจะทำให้ตาพร่ามัวประมาณ 2-4 ชั่วโมง ซึ่งอาจลำบากในการเดินทางกลับได้

โรคของจอประสาทตาบางโรคสามารถป้องกันได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยง เช่น การควบคุมโรคเบาหวาน งดสูบบุหรี่ โดยทั่วไปแล้ว แพทย์แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ป้องกันดวงตาจากแสงแดดและจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้น


อย่างไรก็ตาม การป้องกันโรคจอประสาทตาที่ดีที่สุดคือ “ต้องอย่าใจเย็น” ยิ่งพบความผิดปกติเร็วเท่าใด การดูแลรักษาก็ยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น ผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจประเมินจอประสาทตาจากจักษุแพทย์เป็นระยะๆ โดยไม่ต้องรอให้มีอาการก่อนเพื่อดูว่ามีความผิดปกติของดวงตาและจอประสาทตาหรือไม่

การรักษาโรคมีหลายวิธีขึ้นอยู่ปัญหาของจอประสาทตาที่พบ ได้แก่ การฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตา การจี้จอตาด้วยเลเซอร์ และการผ่าตัด ผู้ป่วยจำเป็นต้องควบคุมโรคต่างๆ ทางกาย โดยเฉพาะโรคเบาหวานไปพร้อมๆ กัน

ทั้งนี้ โรคจอประสาทตาเป็นโรคที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด ผู้ป่วยจึงควรมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง

การรักษาที่เกี่ยวข้อง

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์จักษุ

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.11 of 10, จากจำนวนคนโหวต 9 คน

Related Health Blogs