bih.button.backtotop.text

โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง Inflammatory Bowel Disease (IBD)

Inflammatory bowel disease (IBD) ยังไม่มี ชื่อไทยอย่างเป็นทางการ แต่อาการของโรค เรียกรวมๆ ว่า “ลำไส้อักเสบเรื้อรัง” กลุ่มอาการของโรคที่อักเสบเรื้อรัง ของทางเดินอาหารที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แบ่งได้ เป็น 2 โรค คือ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง (Ulcerative colitis) และโรคโครห์น (Crohn's disease)

อาการของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง

อาการของโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง Ulcerative Colitis (UC) และโรคโครห์น (Crohn’s disease) มีลักษณะของอาการบางอย่างคล้ายกัน เช่น
  • การถ่ายอุจจาระผิดปกติ ถ่ายบ่อย อุจจาระปนมูกเลือด ท้องเสียอย่างรุนแรง ปวดท้อง
  • บางครั้งมีอาการอื่น ได้แก่ เหนื่อยล้า ไม่สบายตัว เบื่ออาหาร และมีไข้ร่วมด้วย

ระดับความรุนแรงและอาการแสดงในระบบทางเดินอาหารของโรค IBD ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคที่มีการอักเสบ ตำแหน่งของทางเดินอาหารที่มีการอักเสบ ถึงอย่างไรก็ตามร้อยละ 25 ในกลุ่ม IBD อาจมีอาการที่เกิดจากการอักเสบของโรคที่นอกเหนือจากระบบทางเดินอาหาร เช่น การเกิดข้ออักเสบบริเวณกระดูกสันหลังหรือกระดูกเชิงกราน ทำให้เกิดอาการบวม ปวด และมีการเคลื่อนไหวร่างกายได้จำกัด มีลักษณะทางผิวหนังที่หยาบกร้าน แข็งกระด้าง โดยเฉพาะบริเวณแขนและขา ผิวพรรณมีสีม่วงอมแดง บริเวณปุ่มข้อศอก ตาตุ่ม นูนแข็ง หนาเป็นปื้น อาการผิดปกติที่บริเวณดวงตาโดยเฉพาะม่านตาและเยื่อตา มีอาการตับอักเสบร่วมด้วย
เป็นโรคที่เกิดเฉพาะบริเวณลำไส้ใหญ่เท่านั้น ในระยะเฉียบพลันของโรคผู้ป่วยจะมีอาการ ท้องเสียอย่างรุนแรง ถ่ายปนมูกหรือเลือดสด อาการแสดงขึ้นอยู่กับการอักเสบว่ามีความรุนแรงของโรคส่วนของลำไส้ใหญ่ที่มีการอักเสบมีบริเวณมากน้อยเพียงใด และตำแหน่งของลำไส้ใหญ่ หากมีอาการที่บริเวณลำไส้ส่วนปลายสุดจะพบว่ามีอาการปวดถ่ายตลอดเวลา
เป็นโรคที่พบได้ในทุกส่วนของระบบทางเดินอาหารซึ่งเริ่มจากช่องปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และทวาร ถึงอย่างไรก็ตามส่วนมากที่มักพบคือส่วนปลายของลำไส้เล็กและส่วนต้นของลำไส้ใหญ่ ในช่วงเริ่มต้นของโรคนั้นผู้ป่วยจะมีอาการแสดงเพียงไม่กี่อย่างหรือไม่มีเลย โดยเฉพาะในรายที่ลำไส้ใหญ่มีพยาธิสภาพเพียงบางส่วน กรณีนี้ผู้ป่วยจะไม่มีอาการท้องเสียแต่อาจรู้สึกปวดท้อง โรคโครห์นมักจะพบร่วมกับภาวะทุพโภชนาการ ภาวะซีด น้ำหนักตัวลดลง ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ป่วยโรคโครห์นที่บริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและทวารหนักอาจเกิดเป็นแผลชอนทะลุจากการอักเสบของฝีกับอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียง เช่น ช่องคลอด กระเพาะปัสสาวะ หรือบริเวณผิวหนังรอบทวาร
สาเหตุที่แท้จริงของ IBD นั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร หรือการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนวัตถุกันเสีย หรือแม้กระทั่งความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายผู้ป่วยเอง
หากคุณสงสัยในอาการที่มี ควรได้รับการตรวจแบบเฉพาะ ดังนี้
  • การตรวจร่างกาย: เน้นเป็นพิเศษในการตรวจบริเวณช่องท้องและทวารหนัก
  • การตรวจในห้องปฏิบัติการ: การส่งตรวจตัวอย่างเลือดและอุจจาระ
  • การทำอัลตราซาวนด์: เป็นการอัลตราซาวนด์บริเวณช่องท้อง เพื่อตรวจดูความผิดปกติเบื้องต้น และใช้ในการคัดกรองจากโรคอื่นๆ
  • การส่องกล้อง: แพทย์สามารถมองเห็นผนังลำไส้ได้โดยตรงด้วยวิธีนี้ นอกจากนี้แพทย์สามารถนำเนื้อเยื่อออกมาจากบริเวณที่มีการอักเสบเพื่อส่งตรวจทางพยาธิ
  • การตรวจทางรังสีวิทยา: การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การใช้สารแบเรียมร่วมกับเอกซเรย์ เช่น Barium Enema, Small Bowel Series
  • การศึกษาโดยใช้กล้องแคปซูลเพื่อตรวจดูลำไส้เล็ก

การรักษาลำไส้อักเสบเรื้อรัง มีอยู่ 4 กลุ่มทางเลือกด้วยกัน คือ

  • การใช้ยา
  • การจัดการด้านอาหาร
  • การดูแลให้คำแนะนำ การประคับประคองทางอารมณ์       
  • การผ่าตัด
 
เป้าหมายหลักที่สำคัญของการรักษาคือการบรรเทาอาการของโรค (เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง การเสียเลือดทางอุจจาระ) อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น (เช่น ฝี ฝีคัณฑสูตร) และป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้
 
สิ่งสำคัญของผู้ป่วยโรคโครห์นคือ การงดสูบบุหรี่ ผู้ป่วยที่งดสูบบุหรี่ได้จะทำให้การเกิดกลับเป็นซ้ำของโรคลดลงร้อยละ 60 ภายในช่วงเวลา 2 ปี
แม้ว่า IBD จะเป็นโรคเรื้อรังที่มีช่วงอาการสงบและช่วงอาการกำเริบ แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ด้วยการทราบวิธีการปฏิบัติตนไว้ในเรื่องต่อไปนี้
  • เรียนรู้และเข้าใจในร่างกายตนเองว่าโรค IBD จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร
  • เรียนรู้การดูแลตัวเอง
  • เสริมสร้างกำลังใจและความมั่นคงทางจิตใจจากครอบครัว เพื่อน หรือกลุ่มผู้ป่วยด้วยกันเอง
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของทีมแพทย์อย่างเคร่งครัด

โดย รศ.พญ. สติมัย อนิวรรณน์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง

แก้ไขล่าสุด: 02 กรกฎาคม 2568

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์ทางเดินอาหาร-ตับ

ดูเพิ่มเติม

คะแนนโหวต 9.52 of 10, จากจำนวนคนโหวต 50 คน

Related Health Blogs