bih.button.backtotop.text

ไวรัสตับอักเสบ

ตับ
ตับเป็นอวัยวะทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงสารอาหารให้อยู่ในรูปที่ร่างกายจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ และยังทำหน้าที่กำจัดสารพิษหรือสิ่งแปลกปลอม เก็บสะสมวิตามิน เกลือแร่ น้ำตาล เหล็ก ควบคุมการเก็บสะสมไขมัน นำคอเลสเตอรอลไปใช้ประโยชน์ สร้างพลังงาน สารแข็งตัวของเลือด ระบบภูมิคุ้มกัน ฮอร์โมน และโปรตีน หากตับเกิดการอักเสบ เซลล์ตับจะถูกทำลาย ทำให้การทำหน้าที่ต่างๆ ของตับผิดปกติ
สาเหตุที่สำคัญและพบได้บ่อยคือ การติดเชื้อไวรัส ซึ่งทำให้เกิดโรคไวรัสตับอักเสบ ส่วนสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดตับอักเสบ ได้แก่ พิษสุรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อโปรโตชัว โรคฉี่หนูหรือเลปโตสไปโรสิส พยาธิ ยาบางชนิด สารเคมี เป็นต้น
เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบ ได้แก่
  1. ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ (Hepatitis A Virus หรือใช้คำย่อว่า HAV)
การติดเชื้อมักปรากฏอาการในเด็กและผู้ใหญ่มากกว่าเด็กเล็ก เมื่อป่วยร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสและหายจากโรคได้เอง ไม่เป็นพาหะเรื้อรัง ไวรัสตับอักเสบชนิดเอมีวัคซีนป้องกัน
  1. ไวรัสตับอักเสบชนิดบี (Hepatitis B Virus หรือใช้คำย่อว่า HBV)
ผู้ติดเชื้อมักไม่แสดงอาการของโรค ส่วนใหญ่เมื่อเป็นจะหายไปเอง 1-2% จะกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง 10% จะดำเนินเป็นพาหะของโรค ไวรัสตับอักเสบชนิดบีมีวัคซีนป้องกัน
  1. ไวรัสตับอักเสบชนิดซี (Hepatitis C Virus or Non-A, Non-B Hepatitis Virus หรือใช้คำย่อว่า HCV)
ผู้ติดเชื้อมักไม่แสดงอาการของโรค ไม่ค่อยพบภาวะการติดเชื้อแบบเฉียบพลัน เป็นไวรัสที่นำไปสู่ภาวะตับแข็งและมะเร็งตับ ไวรัสตับอักเสบชนิดซีไม่มีวัคซีนป้องกัน
  1. ไวรัสตับอักเสบชนิดดีหรือเดลต้า (Hepatitis D Virus or Delta Virus หรือใช้คำย่อว่า HDV)
เป็นไวรัสที่ไม่สามารถอยู่ลำพังได้ต้องอยู่ร่วมกับไวรัสตับอักเสบบี สามารถก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบที่รุนแรงได้
  1. ไวรัสตับอักเสบชนิดอี (Hepatitis E Virus หรือใช้คำย่อว่า HEV)
ยังไม่พบการแพร่กระจายในประเทศไทยแต่มีการระบาดมากในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า อินเดีย บังกลาเทศ
  1. ไวรัสตับอักเสบชนิดจี (Hepatitis G Virus หรือใช้คำย่อว่า HGV)
ไวรัสชนิดนี้ติดต่อได้ทางเลือดและเพศสัมพันธ์
 
อาการที่พบได้บ่อย คือ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร มีไข้ ปวดศีรษะ ซึ่งอาการดังกล่าวจะคล้ายกับอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ บางรายอาจมีอาการปวดมวนในท้อง ปวดบริเวณชายโครงขวา อุจจาระมีสีซีดและปัสสาวะสีเหลืองเข้มผิดปกติ หรือพบอาการตัวเหลือง ตาเหลือง หรือ “ดีซ่าน” ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการดีซ่านเลยก็ได้ อาการตัวเหลือง ตาเหลืองนี้จะหายไปภายใน 1-4 สัปดาห์ แต่บางรายอาจเป็นมากและมีอาการคันตามผิวหนังด้วย อาจเป็นนาน 2-3 เดือนได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติ ยกเว้นบางรายโดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบบี พบว่าประมาณร้อยละ 5-10 อาจกลายเป็นพาหะของไวรัส และในไวรัสตับอักเสบซีกลายเป็นโรคเรื้อรังมากกว่าร้อยละ 85
 
หากผู้ป่วยมีอาการของไวรัสตับอักเสบดังกล่าวข้างต้น แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคโดยการตรวจร่างกายร่วมกับการตรวจเลือด ดังนี้
  1. ตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของตับ (liver function test) ส่วนใหญ่พบว่าเอนไซม์ SGOT (serum glutamic-oxaloacetic transaminase), SGPT (serum glutamate pyruvate transaminase) และ bilirubin สูงกว่าปกติ
  2. ตรวจเลือดเพื่อดูชนิดของไวรัสตับอักเสบ เช่น
  • ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ สามารถตรวจหา anti-HAV IgM (anti-hepatitis A virus immunoglobulin M) ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นในระยะแรกของการติดเชื้อ บ่งบอกภาวะการติดเชื้อเฉียบพลัน
  • ไวรัสตับอักเสบชนิดบี – สามารถตรวจหา HBsAg (hepatitis B surface antigen) ซึ่งบ่งบอกภาวะการติดเชื้อเฉียบพลัน ถ้าตรวจพบแสดงว่าขณะนั้นร่างกายกำลังมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่หรือเป็นพาหะของเชื้อ anti-HBs (anti-hepatitis B surface antibody) บ่งบอกว่าร่างกายได้สร้างภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบีขึ้นแล้วหรือเคยได้รับวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีมาก่อน ส่วน anti-HBc IgM (anti-hepatitis B core immunoglobulin M) บ่งบอกว่าเพิ่งมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
  • ไวรัสตับอักเสบชนิดซี สามารถตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบซี โดยตรวจหา anti-HCV (anti-hepatitis C virus) ที่บ่งบอกถึงภาวะการติดเชื้อซึ่งอาจเป็นได้ทั้งการติดเชื้อเฉียบพลันและเรื้อรัง
  • ไวรัสตับอักเสบชนิดดี – สามารถตรวจหาภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบดี ได้แก่ anti-HDV IgM (anti-hepatitis D virus immunoglobulin M) ซึ่งบ่งบอกภาวะการติดเชื้อเฉียบพลัน และ anti-HDV total ab (anti-hepatitis D virus total antibodies) ที่บ่งบอกภาวะการติดเชื้อเฉียบพลันและเรื้อรัง
  • ไวรัสตับอักเสบชนิดอี – สามารถตรวจหาภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบอี ได้แก่ anti-HEV IgM (anti-hepatitis E virus immunoglobulin M) ซึ่งบ่งบอกภาวะการติดเชื้อเฉียบพลัน และ anti-HEV IgG (anti-hepatitis E virus immunoglobulin G) ซึ่งบ่งบอกว่าร่างกายเคยได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นแล้ว
  • ไวรัสตับอักเสบชนิดจี – ในขณะนี้ยังไม่สามารถพัฒนาวิธีการตรวจทางด้านภูมิคุ้มกันวิทยา
ในปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถรักษาไวรัสตับอักเสบเฉียบพลันได้โดยตรง การรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการ ได้แก่ พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อช่วยให้อาการอ่อนเพลียลดลง งดการออกกำลังกาย รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่ายและมีไขมันต่ำ เพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้ ท้องอืด แน่นท้อง แพทย์อาจให้ยาแก้อาเจียนถ้ามีอาการอาเจียนมาก หรือให้ยาแก้คันถ้ามีอาการคันมาก เป็นต้น ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงยาหรือสารที่เป็นอันตรายต่อตับ เช่น สุรา ยาบางชนิด
 
ส่วนหนึ่งของพาหะไวรัสตับอักเสบบีและส่วนใหญ่ของพาหะไวรัสตับอักเสบซีจะยังมีการอักเสบของตับอย่างสม่ำเสมอ อาจนานกว่า 6 เดือน ซึ่งเรียกว่าตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัส หากปล่อยทิ้งไว้จะพัฒนาเป็นโรคตับแข็ง (cirrhosis) และอาจกลายเป็นมะเร็งตับ (hepatocellular carcinoma) ได้ในที่สุด

ยาที่ใช้รักษาโรคตับอักเสบมีหลายชนิด โดยมีข้อบ่งชี้ในการใช้ยาแต่ละชนิดแตกต่างกัน รวมถึงผลดีของยาแต่ละชนิดในผู้ป่วยแต่ละรายก็แตกต่างกันด้วย ทั้งนี้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินอาหาร-ตับจะพิจารณาการใช้ยาที่เหมาะสมมากที่สุดสำหรับผู้ป่วยเป็นรายบุคคล

สำหรับตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบซีซึ่งจะพัฒนากลายเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับได้ การตรวจแยกสายพันธุ์ของไวรัสตับอักเสบซี การกำหนดยาและระยะเวลาของการรักษาให้เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายจะทำให้การรักษาได้ผลดี
ผู้ป่วยเหล่านี้นอกจากจะต้องได้รับการตรวจเลือดด้วยวิธีพิเศษอย่างละเอียด อาจต้องได้รับการตรวจ FibroScan ซึ่งเป็นการตรวจโดยอาศัยหลักการสะท้อนของคลื่นเสียงเพื่อตรวจหาพังผืดในตับ การตรวจภาวะตับแข็งเพื่อดูระดับความรุนแรงของโรค หรือการเจาะเนื้อตับ (liver biopsy) เพื่อประเมินการอักเสบของตับโดยตรงก่อนที่จะได้รับการรักษา
  1. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยการล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนทำกิจกรรมต่างๆ เลือกรับประทานอาหารสุก ดื่มน้ำสะอาด หลีกเลี่ยงการสัมผัสเลือด น้ำเหลือง หรือสิ่งคัดหลั่งของผู้อื่น ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ไม่สำส่อนทางเพศ เป็นต้น
  2. สร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกายโดยการฉีดวัคซีน ปัจจุบันมีวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคตับอักเสบจากไวรัสชนิดเอและบี
ในกรณีที่เคยเป็นไวรัสตับอักเสบเอและอี จะหายขาดและไม่เป็นอีก สำหรับไวรัสตับอักเสบบี มากกว่าร้อยละ 90 จะหายขาดและมีภูมิป้องกันไม่เป็นซ้ำอีก สำหรับไวรัสตับอักเสบซีและดี ยังไม่มีข้อมูลว่าร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ ดังนั้นหากได้รับเชื้อโรคนี้ซ้ำอีกก็อาจมีโอกาสเป็นอีกได้

นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นหรือเป็นปกติอาจยังมีเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกายซึ่งพร้อมจะทำร้ายตับได้ทุกเมื่อ แต่ที่ยังไม่แสดงอาการเป็นเพราะเชื้อยังสงบอยู่หรืออาจถูกควบคุมจากภูมิคุ้มกันเมื่อร่างกายแข็งแรงขึ้น
 

Doctors Related

Related Centers

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 10.00 of 10, จากจำนวนคนโหวต 2 คน

Related Health Blogs