หลายคนอาจเคยมีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว หรือรู้สึกไม่สบายท้องบ่อย ๆ แล้วปล่อยผ่านไปโดยไม่ใส่ใจ แต่อาการเหล่านี้อาจเป็นมากกว่าปัญหาทางเดินอาหารทั่วไป เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือ Inflammatory Bowel Disease (IBD) ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และหากปล่อยไว้อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมา
อาการของโรคที่เกี่ยวกับลำไส้
ไม่ว่าจะเป็น ลำไส้แปรปรวน (IBS) หรือ ลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) มักมีอาการที่คล้ายกัน ดังนี้:
- ปวดท้องเป็นๆ หายๆ
- การขับถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูก, ท้องเสีย หรือสลับกัน
- อาการปวดท้องกลางคืนหรือขณะนอนหลับ
- บางรายมีถ่ายเป็นมูก, ถ่ายมีเลือด หรือรู้สึกถ่ายไม่สุด
สิ่งสำคัญที่ต้องสังเกตคือ หากอาการผิดปกตินั้น รบกวนคุณภาพชีวิต เช่น ปวดท้องบ่อยๆ โดยไม่มีสาเหตุ หรือถ่ายผิดปกติขณะนอนหลับ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กอย่างละเอียด
ความแตกต่างระหว่างลำไส้แปรปรวนกับลำไส้อักเสบเรื้อรัง
- ลำไส้แปรปรวน (IBS) เป็นเพียงความผิดปกติด้านการทำงาน (Functional Disorder) ไม่มีการอักเสบของผนังลำไส้หรือโครงสร้างผิดปกติ
- ลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) เช่น Crohn's Disease หรือ Ulcerative Colitis จะมีการอักเสบของผนังลำไส้จริง ทำให้เกิดแผล, การบวม, เลือดออก หรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของลำไส้อักเสบเรื้อรัง
ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ว่าอะไรเป็นตัวการหลัก แต่มักเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น
- การรับประทานอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก, ของปิ้งย่าง
- ความเครียดและการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ
- การรับประทานยาปฏิชีวนะติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายต่อต้านผนังลำไส้ตนเอง
การวินิจฉัยโรคของลำไส้
ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มี แพ็คเกจการตรวจลำไส้ สำหรับคัดกรองเบื้องต้น โดยจะประกอบด้วย:
- การตรวจเลือด
- การตรวจอุจจาระหาโปรตีนและสารบ่งชี้การอักเสบ
ความแม่นยำสูงกว่า 90% สามารถบอกได้ว่าเป็น ลำไส้แปรปรวน หรือ ลำไส้อักเสบ เพื่อนำไปสู่การรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
แนวทางการรักษา
- ปรับพฤติกรรมและอาหาร: เลี่ยงอาหารหมักดอง, Processed Food และ Fast Food
- จัดการความเครียด: พักผ่อนให้เพียงพอ คุณภาพการนอนต้องดี
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ: ช่วยปรับสมดุลสารเคมีในร่างกาย
- รับการรักษาทางการแพทย์: อาจใช้ยาต้านการอักเสบ, ยารับประทาน, ยาฉีด หรือในบางรายอาจต้องผ่าตัดหากลำไส้เสียหายหนัก
โดย
รศ.พญ. สติมัย อนิวรรณน์
แพทย์เฉพาะทางด้านโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 02 กรกฎาคม 2568