bih.button.backtotop.text
การผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมถือเป็นหนึ่งในการผ่าตัดที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการช่วยลดอาการเจ็บปวด ทำให้ผู้ป่วยกลับมาเคลื่อนไหวและใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น โดยปกติข้อเทียมมีอายุใช้งานได้ 15-20 ปี หากได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดแก้ไขข้อเทียมด้วยเหตุผลบางประการ ซึ่งการผ่าตัดแก้ไขข้อเทียมจะเป็นการผ่าตัดที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นและใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดมากกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมครั้งแรก
 

ทำไมจึงต้องผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมใหม่

 
  • พลาสติกหมอนรองข้อเทียมเสื่อมหรือสึกหรอจากการใช้งานมานาน จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข แต่ถือเป็นการผ่าตัดที่ง่ายกว่าเหตุผลอื่นเพราะแพทย์เพียงแค่เปลี่ยนพลาสติกหมอนรองข้อเทียมใหม่
  • ข้อเทียมหลวมสึกหรอ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวด แนวขาผิดไปจากเดิม ผู้ป่วยควรตรวจอาการและภาพถ่ายเอกซเรย์เป็นระยะๆ เมื่อพบข้อเทียมหลวมสึกหรอจะได้รีบแก้ไข
  • ข้อเทียมไม่มั่นคง ในบางกรณี ข้อต่อที่ได้รับการเปลี่ยนข้อเทียมเกิดความไม่มั่นคงเมื่อใช้งานไประยะเวลาหนึ่ง จำเป็นต้องผ่าตัดแก้ไขเพื่อให้ใช้ได้ดีดังเดิม
  • ติดเชื้อข้อเทียม ผู้ป่วยอาจมีไข้ มีอาการปวด อักเสบ บวมแดงบริเวณเนื้อเยื่อรอบข้อเทียม ร่วมกับการใช้งานข้อเทียมที่แย่ลง ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง  การรักษาขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ติดเชื้อ ชนิดและความรุนแรงของเชื้อ
  • ข้อยึดติด เช่นในกรณีผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมอาจมีปัญหาทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเหยียดงอเข่าได้ตามปกติ ทำให้ต้องมีการผ่าตัดแก้ไขเพื่อให้ใช้งานในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น
  • กระดูกแตกหัก รอบข้อต่อเทียม เช่น อุบัติเหตุ การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความมั่นคงข้อเทียมใกล้เคียง ส่วนใหญ่แล้วต้องทำการผ่าตัดแก้ไข
 

จะรู้ได้อย่างไรว่าข้อเข่าเทียมผิดปกติ


ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการใดๆ แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีสัญญาณที่บ่งบอกว่าข้อเทียมผิดปกติดังนี้

สัญญาณว่าข้อเทียมสะโพกมีปัญหา
  • ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บปวดขณะเดินหรือเคลื่อนไหวข้อสะโพก
  • มีอาการบวมบริเวณสะโพก ใกล้สะโพกหรือหน้าขา
  • มีความรู้สึกว่าข้อสะโพกเลื่อนหลุด
  • ได้ยินเสียงผิดปกติระหว่างการเคลื่อนไหว
สัญญาณว่าข้อเทียมเข่ามีปัญหา
  • ข้อเข่ายึดติด
  • เจ็บปวดที่หัวเข่า
  • มีอาการบวมที่หัวเข่า
  • รู้สึกว่าข้อเข่าไม่มั่นคง
  • ผิวหนังมีสีแดงและรู้สึกอุ่นบริเวณข้อเข่า


วิธีการผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมใหม่


เนื่องจากการผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมใหม่ส่วนใหญ่มีความยากและซับซ้อนกว่าการผ่าตัดครั้งแรก จึงต้องอาศัยแพทย์และทีมงานที่ชำนาญการ การวางแผนที่รัดกุม รวมถึงใช้เครื่องมือและอุปกรณ์พิเศษ การผ่าตัดอาจเป็นการผ่าตัดเสริมสร้างข้อเทียมบางส่วนหรือเปลี่ยนข้อเทียมใหม่ทั้งหมด

กระดูกของผู้ป่วยอาจมีความเปราะบางกว่าการผ่าตัดในครั้งแรก แพทย์อาจต้องปลูกถ่ายกระดูก (bone grafts) หรือใช้กระดูกชิ้นเล็กๆ (bone particles) จากตัวผู้ป่วยและอาจต้องใช้แผ่นโลหะ แท่งโลหะหรือเส้นลวดในการยึดตรึงกระดูกไว้
สำหรับการผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมใหม่ที่ติดเชื้อ นอกการให้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อแล้ว แพทย์อาจจำเป็นต้องผ่าตัดทำความสะอาดข้อ เปลี่ยนส่วนประกอบของข้อเทียม หรืออาจนำข้อเทียมออก จะใส่กลับไปใหม่เลยเมื่อมีข้อบ่งชี้ หรือเอาข้อเทียมออกแล้วใส่ซีเมนต์กระดูกผสมยาปฏิชีวนะชั่วคราวและให้ยาปฏิชีวนะต่อ 4-6 สัปดาห์ หลังจากอาการติดเชื้อหายสนิทแล้วแพทย์จึงทำการผ่าตัดเพื่อใส่ข้อเทียมใหม่เข้าไปอีกครั้ง


ปัจจัยเสี่ยงที่ควรพิจารณาในการผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมใหม่


การผ่าตัดทุกชนิดมีความเสี่ยง แพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมใหม่หากพิจารณาแล้วว่ามีความคุ้มค่าเหมาะสมกว่าวิธีการรักษาชนิดอื่นๆ ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดแก้ไขข้อเทียมมีได้ดังต่อ
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการระงับความรู้สึก ปัจจุบันแม้จะมีความปลอดภัยสูงแต่ก็มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้เช่นกัน
  • การติดเชื้อที่บาดแผล ทุกครั้งที่ผ่าตัดโอกาสในการติดเชื้อที่บาดแผลจากการผ่าตัดก็เพิ่มมากขึ้นด้วย ผู้ป่วยควรเลือกสถานพยาบาลที่สะอาดได้มาตรฐาน
  • เส้นประสาทหรือเส้นเลือดบาดเจ็บ เนื่องจากเป็นการผ่าตัดใหญ่และมีความซับซ้อน อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บได้แม้จะป้องกันอย่างดีแล้วตามมาตรฐานการผ่าตัด
  • ลิ่มเลือดหรือหลอดเลือดดำอุดตัน (Deep venous Thrombosis) อุบัติการณ์มากขึ้นตามหลังการผ่าตัดหลายๆครั้ง หรือผู้ที่เคยเป็นมาก่อนจะมีความเสี่ยงมากขึ้น  มีความสำคัญคือ หากมีลิ่มเลือดในเส้นเลือดดำที่ขาและเคลื่อนไหวไปยังปอด (Pulmonary embolism) อาจสังผลให้เป็นอันตรายร้ายแรงแก่ชีวิต
  • การแตกร้าวของกระดูกระหว่างการผ่าตัด บริเวณรอบข้อสะโพกหรือข้อเข่าเทียมเดิม เนื่องมาจากภาวะกระดูกบาง หรือต้องใช้ข้อเทียมชุดใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะที่ยึดกับโพรงกระดูกโดยไม่ใช้ซีเมนต์กระดูกช่วย
  • ภาวะข้อยึดติด โดยเฉพาะข้อเข่าเทียมที่ผ่าตัดแก้ไขหลายครั้งทำให้เกิดพังผืดในรอบๆข้อได้ง่าย  เกิดข้อยึดติดง่าย หลังผ่าตัดจึงต้องบริหารให้ดี
  • เสี่ยงต่อการผ่าตัดซ้ำหลายครั้ง  บางกรณีผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเสริมสร้างและแก้ไขข้อเทียมหลายๆครั้ง จึงจะสมบูรณ์โดยเฉพาะการแก้ไขที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ


ระยะเวลาในการฟื้นตัว


ระยะเวลาในการฟื้นตัวขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละบุคคลและประเภทของการผ่าตัด โดยผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์และนักกายภาพบำบัดอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ฟื้นตัวได้เร็วและป้องกันภาวะแทรกซ้อน


การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมใหม่

 
  • สำหรับผู้ป่วยที่ผ่าตัดแก้ไขข้อสะโพกเทียม ควรวางหมอนไว้ที่หว่างขาในเวลานอนหลับเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ หลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้าง การก้มหยิบของและการนั่งเก้าอี้เตี้ย ห้ามวิ่งหรือกระโดด หลีกเลี่ยงการงอสะโพกมากกว่า 90 องศา ไม่ยกหรือดันของหนัก (ในกรณีใช้เทคนิคผ่าตัดเข้าทางด้านหลัง) และช้ำไม้ค้ำยันอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง
  • สำหรับผู้ป่วยที่ผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าเทียม ควรใช้ไม้เท้าช่วยเดินป้องกันการหกล้ม หลีกเลี่ยงการเดินขึ้นลงบันไดและการก้าวขึ้นลงรถยนต์ ห้ามวิ่งหรือกระโดด ไม่ยกหรือดันของหนัก
  • ออกกำลังกายตามคำแนะนำของนักกายภาพเพื่อสร้างความแข็งแรงให้แก้ข้อสะโพกหรือข้อเข่า และกล้ามเนื้อโดยรอบ รวมทั้งบริหารให้เคลื่อนไหวข้อได้สะดวกคล่องตัวขึ้น ไม่มีภาวะข้อยึดติด

ศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมบำรุงราษฏร์ มีแพทย์และทีมงานผู้ชำนาญการในการผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมใหม่ รวมถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยได้มาตรฐานตามหลักสากล เรายินดีให้คำปรึกษาและการรักษาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหายจากความเจ็บปวด สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพดังเดิม
 
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs