bih.button.backtotop.text
ทุกวันนี้เราอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีด้านต่างๆ เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วราวกับอยู่ในนิยายวิทยาศาสตร์ ถึงแม้เราจะอยู่กันคนละซีกโลก แค่เพียงคลิกไม่กี่ครั้งเราก็สามารถคุยกันแบบเห็นหน้าได้อย่างทันใจ
 
เทคโนโลยีด้านการแพทย์ก็เช่นกัน ศัลยแพทย์ปัจจุบันมีเครื่องมือในการผ่าตัดที่ช่วยให้ยกระดับความปลอดภัยให้กับผู้ป่วย ทั้งยังทำให้บาดแผลมีขนาดเล็กลง จากแผลผ่าตัดที่มีขนาดใหญ่ต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลนาน ผู้ป่วยก็กลัว (หมอก็กลัวครับ) จนปัจจุบันแผลผ่าตัดด้วยกล้องเอ็นโดสโคป มีขนาด 7.9 มิลลิเมตร หรือมีขนาดเท่าปลายนิ้วก้อยของคุณผู้หญิง ผู้ป่วยของเราบางท่านยังพูดแซวหมอว่า “นี่หมอได้ผ่าตัดผมจริงหรือเปล่า แผลอยู่ที่ไหน” วันนี้ผมจะพาท่านผู้อ่านมารู้จักกับ “โรคกระดูกคอเสื่อมและการผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคป” กันสักเล็กน้อยนะครับ
 
โรคกระดูกสันหลังส่วนใหญ่เป็นโรคของความเสื่อม เมื่อมีการขยับมาก ใช้มาก รับน้ำหนักมาก มันก็เสื่อมเร็ว และกระดูกสันหลังส่วนคอก็เป็นกระดูกสันหลังส่วนที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุด ลองคิดดูสิครับ วันๆ หนึ่งเราต้องส่ายหน้าหรือพยักหน้ากันเท่าไร นี่ยังไม่นับการที่เราก้มหน้าใช้ smartphone หรือ tablet กันวันละหลายชั่วโมงอีกนะครับ ใครกำลังก้มหน้าอ่านบทความนี้ด้วย smartphone หรือ tablet รีบเงยหน้าขึ้นเลยครับ แล้วผมจะเฉลยภายหลังว่าทำไม
 
การเคลื่อนไหวมากๆ มีการกระแทกมาก หรือต้องรับน้ำหนักมาก ส่งผลให้ข้อต่อสำคัญของกระดูกสันหลังอันประกอบด้วยสามส่วนหลักๆ ต้องรับบทหนัก คือ หมอนรองกระดูก และข้อต่อ facet ทั้ง 2 ชิ้นที่อยู่ด้านหลังของกระดูกสันหลัง ส่วนประกอบ 3 ส่วนนี่ล่ะครับที่ทำให้กระดูกสันหลังแข็งๆ ของเราเคลื่อนไหวได้ แล้วเวลาที่หมอนหรือข้อต่อของกระดูกสันหลังบริเวณคอเสื่อมจะเกิดอะไร คำตอบคือความยืดหยุ่นของหมอนจะน้อยลงครับ ข้อต่อก็จะใหญ่ขึ้นเพื่อทำให้ตัวเองแข็งแรงขึ้น ซึ่งเป็นการปรับตัวตามธรรมชาติของร่างกาย ปัญหาจะเกิดเมื่อข้อต่อนี้ใหญ่เกินจนทำให้ไปเบียดเส้นประสาทที่อยู่ข้างๆ ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด ร้าวลงมาตามแขน บางรายเป็นมากอาจมีอาการชาได้ เอาไว้โอกาสหน้าผมจะมาอธิบายกลไกตรงนี้อย่างละเอียดนะครับ
 
โดยทั่วไปยิ่งอายุมากขึ้น กระดูกสันหลังผ่านการใช้งานมามากขึ้น ก็มีโอกาสเป็นโรคกระดูกสันหลังกันมากขึ้นเป็นธรรมดา แต่ก็ไม่แน่เสมอไปนะครับ ผมเคยต้องผ่าตัดน้องพยาบาลท่านหนึ่ง ซึ่งอายุเพียงแค่ 26 ปี แต่น้องคุยโทรศัพท์กับแฟนวันละหลายชั่วโมง โดยใช้การเอียงหน้าแล้วใช้ไหล่หนีบโทรศัพท์เอาไว้ ทำอย่างนั้นทุกวันอยู่หลายเดือนก็เลยเกิดเรื่องครับ หมอนรองกระดูกที่คอฉีกปลิ้นออกมาทับเส้นประสาท ต้องรักษาโดยการผ่าตัดในที่สุด การก้มหน้าใช้ smartphone หรือ tablet อยู่นานๆ ก็เช่นเดียวกับการเอียงคอคุยโทรศัพท์ครับ หมอนรองกระดูกต้องรับแรงกดมากกว่าปกติเวลาที่เราก้มหน้านานๆ ส่งผลให้กระดูกสันหลังเสื่อมอย่างรวดเร็วได้
 
สำหรับคำถามที่ว่าแล้วหมอแก้ไขกระดูกที่เสื่อมอย่างไร จริงๆ แล้วหมอไม่ได้ไปทำให้มันหายเสื่อมนะครับ หมอเพียงแต่ไปช่วยแก้ไขเอาสิ่งที่ไปเบียดหรือกดทับเส้นประสาทออก เช่น หมอนรองกระดูกที่ปลิ้นไปกดทับเส้นประสาท หรือกระดูกข้อต่อที่ใหญ่จนไปโดนเส้นประสาท เพื่อให้เส้นประสาทโล่ง ไม่มีอะไรเบียดเท่านั้นครับ การผ่าตัดในอดีตหมอต้องเปิดแผลใหญ่ ขนาดแผลก็แล้วแต่ขนาดตัวของผู้ป่วย แล้วขูดกล้ามเนื้อออกจากกระดูกเพื่อให้เห็นกระดูกชัด แล้วจึงตัดกระดูกหรืออะไรก็ตามที่ทับเส้นประสาทออก หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ คงจะเหมือนเวลาที่เราต้องการเข้าไปหยิบของอะไรสักอย่างในห้อง หากเป็นการผ่าตัดดั้งเดิม เราต้องเอาค้อนทุบกำแพงให้พัง แล้วเดินเข้าไปหยิบกันดื้อๆ ส่วนการใช้กล้องเอ็นโดสโคปจะเหมือนกับเราแอบเจาะรูที่รูกุญแจของประตู แล้วสอดไม้ยาวๆ เข้าไปหยิบของออกมาทางรูกุญแจนั้น  ท่านผู้อ่านพอจะเห็นภาพไหมครับ
 
เทคนิคการผ่าตัดโดยกล้องเอ็นโดสโคปนี้ นอกจากแผลจะมีขนาดเล็กแล้ว กล้องเอ็นโดสโคปยังทำให้เราไม่ต้องเลาะกล้ามเนื้อออกจากกระดูก ลดการเจ็บแผลจากการผ่าตัด หลังผ่าตัดเสร็จพักฟื้นเพียงครึ่งวันผู้ป่วยก็สามารถลุกขึ้นฝึกเดินและกลับบ้านได ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อผู้ป่วยมีความสุขหมอก็มีความสุขด้วยครับ เอ้า เงยหน้ากันได้แล้วครับ!
 
 
ผู้เขียน: นพ.วิธวินท์ เกสรศักดิ์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลัง สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs