bih.button.backtotop.text

การผ่าตัดส่องกล้องรักษาโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท

การผ่าตัดส่องกล้องรักษาโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท

โรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท ส่วนมากแล้วไม่อันตรายและสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดหากเริ่มรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ อย่างไรก็ตามหากตรวจพบว่ามีการทำงานของเส้นประสาทผิดปกติ หรืออาการปวดไม่ดีขึ้น การผ่าตัดด้วยการส่องกล้องเป็นอีกวิธีรักษาที่มีความปลอดภัยสูง และยังสามารถทำให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตประจำวันอย่างปกติได้เร็วขึ้นด้วย

วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังถึงการผ่าตัดรักษาโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท แบบต่างๆ กันครับ ปัจจุบันถือได้ว่าการผ่าตัดส่องกล้องเป็นมาตรฐานแล้วนะครับ ดังนั้นการฟื้นตัวจะเร็วมาก และส่วนใหญ่พักฟื้นในรพ.แค่คืนเดียว

 

การผ่าตัดเชื่อมกระดูกคอ (ACDF)

ACDF.jpg

­

การผ่าตัดชนิดนี้เป็นมาตรฐานในการรักษาโรคนี้มาอย่างยาวนาน และปัจจุบันก็ยังเป็นการผ่าตัดสำหรับโรคนี้ที่แพร่หลายที่สุด การผ่าตัดชนิดนี้จะเลือกใช้กรณีที่ข้อกระดูกสันหลังมีความเสื่อมรุนแรง หรือมีแนวกระดูกผิดรูป จำเป็นต้องใช้สกรูเล็กๆ เข้าไปยึดตรึงเอาไว้เพื่อให้แข็งแรง ระหว่างผ่าตัดแพทย์จะใช้กล้องจุลทรรศน์ทำการผ่าตัดผ่านช่องว่างระหว่างกล้ามเนื้อโดยไม่ตัดกล้ามเนื้อ นำหมอนรองกระดูกหรือกระดูกส่วนที่ทับเส้นประสาทออก แล้วจึงใส่หมอนรองกระดูกเทียมเข้าไปแทนที่ของเดิมที่เสียไป

ข้อดีคือโอกาสการกลับเป็นซ้ำที่จุดเดิมต่ำมาก ส่วนระยะยาวข้ออื่นๆ ที่อยู่ถัดไปอาจเกิดความเสื่อมได้เร็วกว่าภาวะตามธรรมชาติซึ่งยังต้องมาติดตามการรักษา
เป็นระยะๆ

 

การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกคอ (CDR)

CDR.jpg

 

วิธีนี้เป็นการผ่าตัดที่เหมือนกับวิธีแรกแทบทุกประการ สิ่งที่ต่างกันก็คือแพทย์จะใส่หมอนรองกระดูกเทียมแบบที่เคลื่อนที่ได้เข้าไปแทน เพื่อป้องกันไม่ให้หมอนรองกระดูกข้อถัดไปต้องทำงานหนัก ข้อด้อยก็คือเนื่องจากยังมีการขยับตามธรรมชาติ ดังนั้นก็ยังมีโอกาสที่จะมีความเสื่อมเกิดขึ้นตามธรรมชาติได้ในระยะยาว นอกจากนั้นราคาของอุปกรณ์ยังมีราคาแพงกว่าอุปกรณ์เชื่อมกระดูกอยู่พอสมควร

 

การผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคป (Full-endoscopic decompression)

Full-endoscopic-decompression.jpg

 

เป็นการส่องกล้องแบบใหม่ที่แผลเล็กที่สุด ขนาดแผลไม่เกิน 5 มิลลิเมตร เป็นการผ่าตัดเข้าจากทางด้านหลังจึงไม่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับเสียงแหบหลังผ่าตัด ต่างจากสองวิธีแรกซึ่งมีความเสี่ยงที่จะมีเสียงแหบหลังการผ่าตัดราวๆ 5% การผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคปไม่จำเป็นต้องใส่อุปกรณ์หมอนรองกระดูกเทียมเข้าไป ดังนั้นค่าใช้จ่ายจึงประหยัดที่สุดในสามวิธีนี้

 

แล้วแบบไหนดีที่สุด?

การผ่าตัดทั้งสามอย่างมีเป้าหมายอย่างเดียวกันก็คือการคลายการกดทับเส้นประสาท ซึ่งทั้งสามวิธีสามารถทำได้ดีเหมือนกัน แต่เนื่องจากทั้งสามวิธีจะมีจุดเด่นและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน เราจึงจะพิจารณาความเหมาะสมในคนไข้แต่ละรายอย่างละเอียด เช่น มีข้อกระดูกเสื่อมรุนแรงแรงหรือไม่ มีภาวะกระดูกหักไม่มั่นคงจากอุบัติเหตุหรือไม่เป็นต้น ในผู้ป่วยบางรายเราพิจารณาทำ hybrid ACDF และ CDRในคนเดียวกันเลยก็มี เนื่องจากแต่ละข้อมีรายละเอียดแตกต่างกัน

 

โรคหมอนรองกระดูกคอส่วนมากไม่อันตรายและไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่หากมีภาวะที่เส้นประสาทเริ่มทำงานบกพร่อง หรืออาการปวดไม่ดีขึ้นหลังได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมมาระยะหนึ่งแล้วก็ควรพิจารณาผ่าตัดเพื่อให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีความสุขได้เร็ว และเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยครับ

 

เกี่ยวกับผู้เขียน

  DrWithawin.jpg

 

หมอเข้ม หรือ น.พ. วิธวินท์ เกสรศักดิ์ เรียนจบเฉพาะทางทางด้านประสาทศัลยศาสตร์ ที่ร.พ. รามาธิบดี และได้ไปเรียนต่อยอดด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยการส่องกล้องเอ็นโดสโคปที่ประเทศเยอรมนี และประเทศอังกฤษ ปัจจุบันนอกจากหมอเข้มจะทำงานเป็นศัลยแพทย์ด้านกระดูกสันหลังประจำที่ร.พ. บำรุงราษฎร์ แล้วยังเป็นแพทย์ผู้ฝึกสอนการผ่าตัดด้วยเทคนิคเอ็นโดสโคปในประเทศเยอรมนี และเป็นผู้บรรยายอิสระให้กับ AO Spine ซึ่งเป็นองค์กรการศึกษาแบบไม่แสวงผลกำไรในระดับนานาชาติอีกด้วย

 

 

อ่านเพิ่มเติม

  1. หมอนรองกระดูกทับไขสันหลัง ภัยร้ายซ่อนเร้น (Cervical Myelopathy)
  2. 5 สัญญาณอันตรายในโรคกระดูกสันหลัง รู้ก่อนหายไวกว่า
  3. หมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท โรคที่พบบ่อยของคนยุคไฮเทค
  4. Cervical Disc Replacement คืนการเคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติ ด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกคอ
  5. Endoscopic Discectomy กลับสู่ชีวิตปกติได้อย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดหมอนรองกระดูกผ่านกล้องเอ็นโดสโคป

 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs