bih.button.backtotop.text

คืนการเคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติ ด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกคอ

คืนการเคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติ ด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกคอ
          โรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท หรือโรคหมอนรองกระดูกคอทับไขสันหลัง เป็นโรคที่พบได้บ่อยในยุคนี้และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตจากพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ในปัจจุบันที่ทำให้เราต้องก้มหน้าอยู่เป็นเวลานานๆ โดยไม่รู้ตัว
 
สาเหตุของโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อม
Fig1-(1).jpg

การสะบัดศีรษะอย่างรุนแรง ในการเล่นกีฬา มีความคล้ายคลึงการเกิดอุบัติเหตุซ้ำๆ ซึ่งเป็นเหตุทำให้หมอนรองกระดูกคอเสื่อมเร็วกว่าที่ควรได้
 
          การก้มเงยสุดๆ เป็นเวลานานๆ การโยกศีรษะซ้ำๆ ระหว่างการร้องเพลงหรือเต้นรำ หรือกิจกรรม อะไรก็ตามที่ทำให้เราต้องก้มศีรษะ หรือแหงนศีรษะอยู่เป็นเวลานานๆ พฤติกรรมการใช้งานเหล่านี้ ทำให้ เกิดความเสื่อมของหมอนรองกระดูกได้เร็วขึ้น เหมือนกับยางรถยนต์ที่วิ่งทางไกลเป็นเวลานานๆ
 
อาการของโรคหมอนรองกระดูกคอ
Fig2.jpg

อาการเริ่มต้นอาจมีอาการปวดคอคล้ายออฟฟิศซินโดรมเพียงข้างเดียว เมื่อเป็นมากขึ้นอาจมีอาการปวด ชา อ่อนแรงของแขนหรือมือร่วมด้วย
 
          ในระยะสั้นอาการอาจแสดงออกเพียงอาการปวดคอคล้ายออฟฟิศซินโดรม แต่เมื่อเกิดการเสื่อมมาก ถึงระยะหนึ่งจนทำให้หมอนรองกระดูกปลิ้นออกมาทับเส้นประสาท หรือไขสันหลังก็จะทำให้เกิดอาการปวด ชา ร้าวลงแขน หรือทำให้เกิดอาการเสียการทรงตัวจากการทับไขสันหลังได้
 
การรักษา
          โรคของหมอนรองกระดูกคอ ส่วนมากแล้วไม่อันตรายและมักหายได้โดยการทำกายภาพบำบัด
และการใช้ยาที่เหมาะสม หากเป็นมากหน่อยอาจพิจารณาฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงประสาทก็เป็น อีกทางเลือกที่น่าสนใจและให้ผลลัพธ์ของการรักษาเป็นที่น่าพอใจ
 
การผ่าตัด
          หากการรักษาข้างต้นไม่เป็นผล หรือมีการแขนชา อ่อนแรง หรือมีอาการของการกดทับไขสันหลัง การผ่าตัดก็เป็นทางเลือกในการรักษาที่ให้ผลสำเร็จสูงมาก และการผ่าตัดโดยใช้เทคนิคการส่องกล้อง ในปัจจุบันก็มีอัตราเสี่ยงที่น้อยมาก
 
การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูก อีกทางเลือกเพื่อคงการเคลื่อนไหวของคออย่างเป็นธรรมชาติ
 


 

          การผ่าตัดเชื่อมกระดูกเป็นการผ่าตัดรักษาที่เป็นมาตรฐานของโรคนี้มาอย่างยาวนานหลายทศวรรษด้วยอัตราความสำเร็จที่สูงมาก แต่การเชื่อมกระดูกก็ต้องแลกกับการที่จุดที่เราผ่าตัดไปต้องหยุดเคลื่อนไหวจึงเป็นการเพิ่มภาระในการทำงานให้กับกระดูกคอส่วนที่เหลือ ดังนั้น ยิ่งจำเป็นต้องเชื่อมกระดูกมากข้อ เท่าไหร่ ภาระงานย่อมเพิ่มขึ้นกับกระดูกข้อที่เหลือเป็นเงาตามตัว และโรคแบบเดียวกันก็มีโอกาสเกิดที่ กระดูกข้อที่เหลือได้อีก
ในช่วง 15-20 ปีที่ผ่านมา (ซึ่งถือว่าเป็นระยะที่ไม่นานมากนักสำหรับวงการแพทย์) ได้มีผู้คิดค้น หมอนรองกระดูกเทียมแบบที่เคลื่อนที่ได้ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาในจุดนี้ เทคนิคในการผ่าตัดต่างๆ เหมือนกับ การผ่าตัดเชื่อมกระดูกแทบทุกประการต่างแค่เพียงตัวอุปกรณ์ที่ใส่เข้าไปแทนที่หมอนรองกระดูกเดิมเท่านั้น
 
ผ่าตัดเชื่อมกระดูก หรือผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูก อะไรดีกว่ากัน?
          หลังจากที่มีอุปกรณ์ชนิดใหม่เข้ามา แพทย์ทั่วโลกก็ทำการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลการรักษา ของการผ่าตัดเชื่อมกระดูกกับการผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูก ถ้าใครขยันอ่านวารสารทางการแพทย์ หน่อยก็จะพบว่ามีงานวิจัยที่มีระเบียบวิจัยดีเยี่ยมหลายฉบับเลย ซึ่งผลการวิจัยส่วนมากแสดงออกมาว่า ทั้งผลสำเร็จและผลข้างเคียงออกมาใกล้กันมาก (อ้าว?)
การที่ผลออกมาไม่ต่างกันชัดเจนนี้แปลความได้หลายอย่าง อาจเป็นเพราะผลดีผลเสียมันต่างกัน น้อยมากและจำเป็นต้องใช้จำนวนตัวอย่างที่มีขนาดมากกว่านี้ หรือใช้ระยะเวลาการศึกษาที่นานกว่านี้ ผลต่างจึงจะชัดเจนมากขึ้น แต่ที่แน่ๆ การเชื่อมกระดูกนั้นยิ่งมีการเชื่อมมากข้อเข้าเท่าไหร่ อย่างเช่น 2 ระดับ หรือ 3 ระดับขึ้นไป ย่อมทำให้การทำงานของข้อกระดูกที่เหลือนั้นต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
          การตัดสินใจว่าจะเลือกทำการเชื่อมกระดูกหรือเปลี่ยนหมอนรองกระดูกนั้น เป็นการตัดสินใจที่ต้อง พิจารณาหลายๆองค์ประกอบ ทั้งประวัติ การตรวจร่างกาย และผลเอ็กซเรย์หรือ MRI แต่ส่วนตัวแล้ว ถ้าคนไข้อายุยังน้อย ผมจะแนะนำให้คนไข้เลือกการผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกดีกว่า และสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหา คือหมอนรองกระดูกที่เพิ่งปลิ้นออกมาสดๆ ใหม่ๆ ในคนไข้ที่มีกระดูกคอเสื่อมมากๆ หรือเป็นมานานมากๆ มักจะมีกระดูกงอกมาทับเส้นประสาทด้วย เราจึงจำเป็นต้องกรอกระดูก ซึ่งการต้องกรอกระดูกนี้เองมีส่วนทำให้กระดูกคอเชื่อมติดกันอยู่ดี ในภายหลังแม้จะใส่หมอนรองกระดูกแบบที่เคลื่อนที่ได้เข้าไป ดังนั้นถ้ากระดูกคอเสื่อมมากๆ การผ่าตัดเชื่อมกระดูกอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า
 
ชีวิตหลังผ่าตัดจะเป็นอย่างไร
          การพักฟื้นส่วนใหญ่อยู่โรงพยาบาลไม่เกิน 1-2 วัน และผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวัน ได้อย่างรวดเร็ว ในระยะยาวก็ใช้ชีวิตไม่ต่างจากคนปกติ  สิ่งที่ไม่แนะนำให้ทำเลยก็คือกิจกรรมที่ ต้องมีการกระแทกของศีรษะมากๆ เช่นการโหม่งฟุตบอล, การทำท่า head stand ในโยคะ หรือการต่อสู้ ในศิลปะป้องกันตัวซึ่งจะพลาดโดนเตะก้านคอเมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ ส่วนการเล่นกีฬาอื่นๆ ก็ยังเล่นได้ปกติ หรือจะวิ่งจากเบตงไปแม่สายอย่างพี่ตูนก็ยังทำได้อยู่นะครับ แต่ละท่านอาจมีไลฟ์สไตล์ที่ไม่เหมือนกัน ยังไงมาปรึกษากันก่อนก็ดีครับ
 

เกี่ยวกับผู้เขียน

  DrWithawin.jpg

หมอเข้ม หรือ น.พ. วิธวินท์ เกสรศักดิ์ เรียนจบเฉพาะทางทางด้านประสาทศัลยศาสตร์ ที่ร.พ. รามาธิบดี และได้ไปเรียนต่อยอดด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยการส่องกล้องเอ็นโดสโคปที่ประเทศเยอรมนี และประเทศอังกฤษ ปัจจุบันนอกจากหมอเข้มจะทำงานเป็นศัลยแพทย์ด้านกระดูกสันหลังประจำที่ร.พ.บำรุงราษฎร์ แล้วยังเป็นแพทย์ผู้ฝึกสอนการผ่าตัดด้วยเทคนิคเอ็นโดสโคปในประเทศเยอรมนี และเป็นผู้บรรยายอิสระให้กับ AOspine ซึ่งเป็นองค์กรการศึกษาแบบไม่แสวงผลกำไรในระดับนานาชาติอีกด้วย

 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs