ผมเคยได้พูดถึงเรื่องโรคหมอนรองกระดูกไปก่อนหน้านี้บ้างแล้วนะครับ ถ้ามีเวลาว่างสักสามนาทีสามารถตามไปอ่านที่
ลิงค์นี้ได้เลยครับ วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับโรคที่กำลังได้รับความสนใจในขณะนี้ก็คือโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทนะครับว่ามันเป็นอย่างไร อันตรายแค่ไหน และมีแนวทางรักษาอย่างไร
สาเหตุที่พบบ่อยของโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท
การสะบัดคอ หรือโยกศีรษะแรงๆ เป็นเหตุให้หมอนรองกระดูกเสื่อมได้อย่างรวดเร็ว
การก้มคอเป็นเวลานานเพื่อใช้อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้หมอนรองกระดูกคอเสื่อมเร็วขึ้น
การใช้งานคอหนักๆ โดยการก้มเงยสุดๆ หรือการโยกคอแรงๆ เวลาร้องเพลงหรือเต้นรำ หรือการก้มหน้าใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกของคนยุดปัจจุบัน ล้วนแต่เป็นการใช้งานหมอนรองกระดูกอย่างหนัก และทำให้เสื่อมเร็วกว่าปกติ การเสื่อมในที่นี้จะไม่ได้ทำให้เกิดอาการในทันที แต่จะสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนวันหนึ่งหมอนรองกระดูกอาจจะฉีกขาดและปลิ้นออกมากดทับเส้นประสาทในที่สุด
อาการของโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท
นอกจากอาการปวดคออย่างรุนแรงแล้ว การกดทับเส้นประสาทก็จะทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรงลงมาตามแขนหรือนิ้วมือด้วย หากการกดทับรุนแรง หรือปล่อยทิ้งไว้นานก็จะทำให้เกิดอาการชาและอ่อนแรงของแขนในที่สุด
อันตรายแค่ไหน
โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทแม้ในตอนต้นจะมีความเจ็บปวดรุนแรง และคนไข้ส่วนมากมักจะบอกว่าเป็นอาการเจ็บที่สุดที่เคยเจอมาในชีวิตเลย แต่อาการเจ็บรุนแรงนี้มักจะหายไปได้เองหากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม โอกาสที่จะเกิดอาการอัมพาตพบได้น้อยมาก ยกเว้นมีการกดทับของไขสันหลังร่วมด้วย ซึ่งสามารถอ่านได้จาก
บทความนี้นะครับ ดังนั้นหากมีอาการแล้วรีบมาพบแพทย์จะดีที่สุดครับ
การตรวจวินิจฉัย
แพทย์จะทำการตรวจการทำงานของระบบประสาทส่วนคอ และจะใช้
MRI ร่วมกับ x-ray เพื่อยืนยันผลตรวจและหาแนวทางรักษา
การรักษา
โรคนี้ส่วนมากหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด แพทย์จะใช้ยาแก้ปวดหลายๆ ตัวร่วมกับการทำกายภาพบำบัดที่เหมาะสม อาการก็มักจะดีขึ้นเป็นลำดับภายในไม่กี่สัปดาห์
การผ่าตัด
ผู้ป่วยรายนี้มีกระดูกคอที่เสื่อมรุนแรงและมีการกดทับทั้งเส้นประสาทและไขสันหลัง ได้รับการผ่าตัดด้วยการเชื่อมกระดูก (Cervical Fusion)
ผู้ป่วยรายนี้อายุยังน้อยมีความเสื่อมของกระดูกไม่รุนแรง หลังผ่าตัดเปลี่ยหมอนรองกระดูกแล้วยังสามารถขยับคอได้อย่างเป็นธรรมชาติ
การผ่าตัดอาจจำเป็นเมื่อการรักษาด้วยวิธีกายภาพไม่เป็นผล หรือเริ่มมีอาการของกล้ามเนื้อแขนหรือมือที่อ่อนแรง อาการเหล่านี้บ่งชี้ว่าเส้นประสาทเริ่มสูญเสียการทำงานแล้ว เปรียบเสมือนคนที่โดนของหนักๆ มาทับไว้ หากเราช่วยยกเอาของหนักนั้นออกได้เร็ว โอกาสที่จะฟื้นตัวก็ย่อมจะดีกว่า
ในปัจจุบันเราจะผ่าตัดด้วยเทคนิคการส่องกล้องทั้งหมด โดยมากแล้วจะเป็นการผ่าตัดผ่านทางด้านหน้าของลำคอ แพทย์จะเห็นภาพจากกล้องจุลทรรศน์และสามารถเลือกเข้าผ่านช่องว่างของกล้ามเนื้อโดยไม่จำเป็นต้องตัดกล้ามเนื้อเลย หลังจากที่เอาหมอนรองกระดูกที่ทับเส้นประสาทออกแล้ว แพทย์ก็จะพิจารณาการใส่อุปกรณ์ยึดตรึงแบบมาตรฐานหรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Cervical fusion แต่หากผู้ป่วยเป็นคนหนุ่มสาวกระดูกไม่เสื่อมมากนักก็จะพิจารณาเลือกหมอนรองกระดูกเทียมแบบเคลื่อนที่ได้ หรือเรียกภาษาอังกฤษว่า Cervical Disc Replacement เพื่อลดภาระงานของกระดูกข้อถัดไปด้วย
สรุป
อาการปวดคอที่มีลักษณะของการปวดหรือชาตามแขนด้วย อาจหมายถึงหมอนรองกระดูกคอที่เคลื่อนมาทับเส้นประสาท อาการเหล่านี้มักหายได้ดีหากได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ แต่ถ้าการรักษาอย่างอื่นไม่เป็นผล หรือมีอาการแขนหรือมืออ่อนแรง การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูก หรือการทำ Cervical Disc Replacement ผ่านการส่องกล้องก็เป็นการรักษาที่มีโอกาสสำเร็จสูงมากและมีผลข้างเคียงต่ำ และเปิดโอกาสให้เส้นประสาทได้ฟื้นตัวจากการกดทับได้เร็ว
บทความที่เกี่ยวข้อง
https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/october-2020/herniated-disc
https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/september-2020/cervical-myelopathy
https://www.bumrungrad.com/th/treatments/artificial-cervical-disc-replacement
https://www.bumrungrad.com/th/treatments/anterior-cervical-discectomy-fusion
เกี่ยวกับผู้เขียน
หมอเข้ม หรือ
น.พ. วิธวินท์ เกสรศักดิ์ เรียนจบเฉพาะทางทางด้านประสาทศัลยศาสตร์ ที่ร.พ. รามาธิบดี และได้ไปเรียนต่อยอดด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยการส่องกล้องเอ็นโดสโคปที่ประเทศเยอรมนี และประเทศอังกฤษ ปัจจุบันนอกจากหมอเข้มจะทำงานเป็นศัลยแพทย์ด้านกระดูกสันหลังประจำที่ร.พ. บำรุงราษฎร์ แล้วยังเป็นแพทย์ผู้ฝึกสอนการผ่าตัดด้วยเทคนิคเอ็นโดสโคปในประเทศเยอรมนี และเป็นผู้บรรยายอิสระให้กับ AOspine ซึ่งเป็นองค์กรการศึกษาแบบไม่แสวงผลกำไรในระดับนานาชาติอีกด้วย
บทความน่ารู้เกี่ยวกับกระดูกสันหลัง:
การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงประสาท, percutaneous TLIF, สัญญาณอันตรายของโรคกระดูกสันหลัง,
หมอนรองกระดูกทับไขสันหลัง ภัยร้ายซ่อนเร้น, หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทรักษาได้ด้วยแผลผ่าตัดเพียง 8มม.
ประสบการณ์การรักษาจากผู้ป่วย:
ผ่าตัดหมอนรองกระดูกด้วยกล้องเอ็นโดสโคป,
การผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: