bih.button.backtotop.text
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่พบบ่อยเป็นลำดับ 4 ของผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทย ในแต่ละปี มีผู้ป่วยทั้งผู้หญิงและผู้ชายเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์หรือครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยทั้งหมด เนื่องจากโรคนี้มักมีอาการปรากฏให้เห็นเมื่อผู้ป่วยอยู่ในระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะก่อนระยะสุดท้าย ทำให้โอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยมีน้อยลง แต่การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ทำให้พบติ่งเนื้อตั้งแต่ระยะก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็งในอนาคต ทำให้แพทย์สามารถรักษาเพื่อหยุดภาวะที่ติ่งเนื้อจะกลายเป็นมะเร็งได้ทันท่วงที นอกจากนี้หากตรวจพบมะเร็งในระยะแรกและทำการรักษา ผู้ป่วยยังมีโอกาสรอดชีวิตที่ 5 ปีถึง 90 เปอร์เซ็นต์
 
ใครบ้างที่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
ผู้หญิงและผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป สำหรับผู้มีประวัติคนในครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก่อนอายุ 60 ปี ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 40 ปี อย่ารอจนกระทั่งมีอาการ

 
การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ทำได้อย่างไรบ้าง
การตรวจคัดกรองทำได้หลายวิธี เช่น การตรวจหาเลือดในอุจจาระ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แต่วิธีการตรวจที่ดีที่สุดคือการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (colonoscope) เพราะแพทย์สามารถมองเห็นรายละเอียดและประเมินอาการผิดปกติต่างๆภายในลำไส้ใหญ่ได้อย่างแม่นยำ และหากตรวจพบความผิดปกติ เช่น แผลในลำไส้ แพทย์สามารถตัดเนื้อบางส่วนออกมาเพื่อหาสาเหตุของแผลหรือหากพบติ่งเนื้อ ก็สามารถตัดติ่งเนื้อออกมาส่งตรวจทางพยาธิวิทยาด้วยการใช้อุปกรณ์ต่างๆผ่านกล้องในขณะเดียวกัน

 
ก่อนตรวจต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
  • งดผัก ผลไม้ที่มีกากใยสูงก่อนรับการส่องกล้องอย่างน้อย 1 วัน
  • งดรับประทานอาหารเครื่องดื่มเป็นเวลา 6-8 ชั่วโมง
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงอาการผิดปกติจากยาหรือสารเคมีใดๆที่เคยเกิดขึ้น
  • เตรียมรายชื่อยาทุกชนิดที่รับประทานเป็นประจำ
  • งดยาละลายลิ่มเลือด
 
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทำได้อย่างไร
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ในปัจจุบันวิธีการตรวจได้พัฒนาไปมาก ทำให้ผู้เข้ารับบริการ ไม่เจ็บปวดทั้งระหว่างและหลังการส่องกล้อง  ในวันที่เข้ารับบริการ ควรมาถึงโรงพยาบาลก่อนเวลาส่องกล้อง 4 ชั่วโมง เพื่อรับประทานยาระบายตามแพทย์สั่งก่อนเข้ารับการส่องกล้อง 

ระหว่างการส่องกล้องผู้เข้ารับบริการจะได้รับยาทางหลอดเลือดดำ ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายตลอดระยะเวลาการส่องกล้อง โดยแพทย์จะทำการส่องกล้องที่ยืดหยุ่น โค้งงอได้ มีเลนส์อยู่ตรงปลาย เข้าไปทางทวารหนักอย่างช้าๆ ขึ้นไปยังลำไส้ใหญ่ส่วนต้น การส่องกล้องลำไส้ใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 30 – 60 นาที หลังการส่องกล้อง ผู้เข้ารับบริการจะได้รับการดูแลในห้องพักฟื้น ประมาณ 2 ชั่วโมงก่อนที่จะพบแพทย์เพื่อฟังผลการส่องกล้อง 

 
ต้องส่องกล้องตรวจบ่อยครั้งแค่ไหน
ขึ้นอยู่กับว่าตรวจแล้วพบความผิดปกติหรือไม่ หากไม่พบความผิดปกติ แพทย์จะนัดทุกๆ 5-10 ปี แต่หากตรวจแล้วพบติ่งเนื้อ แพทย์จะแนะนำให้ส่องกล้องทุกๆ 1-3 ปี
 
สำหรับคนไข้ที่มีประวัติโรคมะเร็ง หรือญาติสายตรงที่เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เต้านม รังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูก กระเพาะอาหาร ตับอ่อน ไต สมอง หรือทางเดินปัสสาวะ อาจได้รับคำแนะนำเพื่อพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์ เพื่อตรวจหายีนที่อาจมีความเกี่ยวพันกับโรคทางพันธุกรรม ซึ่งทำให้ความถี่ในการตรวจอาจเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม
 
นอกจากนี้ หากการเตรียมลำไส้ใหญ่ไม่สะอาดพอเพื่อการตรวจค้นหามะเร็งลำไส้ใหญ่ แพทย์จะแนะนำให้ทำการตรวจซ้ำภายใน 1 ปี
 
ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ บำรุงราษฎร์ มีทีมแพทย์ผู้มีประสบการณ์และความชำนาญเฉพาะทาง ให้บริการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยอย่างกล้องเอ็นโดสโคป (high definition colonoscope) ทำให้ตรวจพบความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มได้อย่างแม่นยำ

 
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs