bih.button.backtotop.text

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก หรือมะเร็งมดลูกเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีไทย ผู้คนชอบนำไปสับสนกับมะเร็งปากมดลูก ที่พบบ่อยเป็นอันดับ 1 โรคนี้ถ้ามาพบแพทย์ตั้งแต่แรกเริ่มมีอาการ มักรักษาได้หายค่อนข้างสูง 

มดลูกเป็นอวัยวะที่มีลักษณะคล้ายชมพู่คว่ำอยู่เชื่อต่อด้านบนของช่องคลอด เป็นที่ให้ทารกฝังตัวและเจริญเติบโต เยื่อบุโพรงมดลูก คือ ผนักด้านในของมดลูก ซึ่งในวัยเจริญพันธุ์จะหนาตัวขึ้นทุกเดือน เพื่อรับการฝังตัวของ ตัวอ่อน (ทารก) หากเดือนใดไม่มีการตั้งครรภ์เยื่อบุโพรงมดลูกจะสลายตัว ออกมาเป็นประจำเดือน (ระดู)

ส่วนปากมดลูกคือส่วนล่างสุดของมดลูกที่เชื่อมต่อกับช่องคลอด ปีกมดลูกก็คือ รังไข่และท่อนำไข่ ที่อยู่ 2 ข้างเชื่อมต่อกับโพรงมดลูก

ในประเทศไทย พบบ่อยเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี โดยพบประมาณ 3 คน/แสนราย/ปี ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อเมริกา หรือยุโรป พบบ่อยเป็นอันดับ 1 ประเทศไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนา ที่เริ่มมีลักษณะความเป็นอยู่คล้ายคลึงประเทศแถบตะวันตกมากขึ้นทุกที จึงพบการเกิดมะเร็งชนิดนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

สาเหตุของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

มะเร็งชนิดนี้เติบโตได้โดยการกระตุ้นของฮอร์โมนเพศหญิงหรือเอสโตรเจน ดังนั้นภาวะใดก็ตามที่ทำให้มีฮอร์โมนเหล่านี้มากผิดปกติก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งชนิดนี้ด้วย ได้แก่

1. การได้รับฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งมีได้ 2 กรณีด้วยกัน

1.1 ฮอร์โมนวัยทอง ฮอร์โมนวัยทองมีหลายชนิดและหลายส่วนประกอบ บางชนิด (เอสโตรเจนอย่างเดียวไม่มีโปรเจสโตเจน) สามารถกระตุ้นโรคนี้ได้มาก บางชนิด (เอสโตรเจนที่มีโปรเจสโตเจนร่วมด้วย) ก็ไม่ทำให้เป็นโรคนี้ ดังนั้นผู้ที่รับประทานฮอร์โมนวัยทองควรปรึกษาแพทย์ก่อน และอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์

1.2 สมุนไพร ยาสมุนไพรบางชนิดมีเอสโตรเจนปริมาณสูง เช่น กวาวเครือ และอีกหลายชนิดมีเอสโตรเจนแฝงอยู่โดยไม่รู้ การรับประทานสมุนไพรบางตัวจึงอาจทำให้เลือดระดูออกผิดปกติหรือเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้

2. ความอ้วนในชั้นไขมันของคนเราเป็นที่สะสมของเอสโตรเจน ดังนั้นยิ่งอ้วนมากยิ่งมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้มากขึ้น

3. ยารักษามะเร็งเต้านม ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังผ่าตัด บางรายแพทย์แนะนำให้รับประทานยาป้องกันการกลับเป็นซ้ำ (ทามอกซิเฟน) ซึ่งยานี้มีลักษณะคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนจึงกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติได้ จึงสมควรได้รับการตรวจติดตามอย่างใกล้ชิด

4. ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง ซึ่งมักมีอาการประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เมื่อเป็นมากๆ อาจมีสิว ผิวมัน ขนดกร่วมด้วยกลุ่มนี้มีเอสโตรเจนสูงเช่นกัน

5. โรคเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้

นอกจากนั้นยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อีก ได้แก่

  1. เบาหวาน และความดันโลหิตสูง
  2. ประวัติพันธุกรรม ญาติสายตรง เป็นมะเร็งสำไส้ใหญ่ ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้อไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นมะเร็ง แต่ควรเฝ้าระวังดูแลและรีบมาพบแพทย์เมื่อมีอาการ

พบว่าการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ นอกจากนั้นยังช่วยกันการเกิดมะเร็งรังไข่ด้วย โรคนี้มักเริ่มแสดงอาการแต่เนิ่นๆ นั่นคือ มีเลือดออกทางช่องคลอด เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้มักเกิดหลังอายุ 50 ปี ดังนั้น ผู้หญิงทุกคนที่มีเลือดออกหลังหมดประจำเดือนไปแล้วควรรีบมาพบแพทย์

ผู้ที่ยังไม่ถึงวัยทอง แต่ถ้ามีอาการเลือดออกผิดปกติที่ไม่ใช่รอบเดือน เช่น ออกกระปริดกระปรอย หรือออกมากและนานกว่าปกติ คือเกิน 7 วันต่อรอบ ก็ควรมาพบแพทย์เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงข้างต้น อย่าลืมว่ายิ่งพบแต่ระยะแรกโอกาสหายยิ่งสูง มีอาการผิดปกติอย่านิ่งนอนใจ

ส่วนกรณีที่โรคเป็นมากแล้ว อาจมีอาการของมดลูกโตขึ้น ปวดท้องน้อย คลำได้ก้อนในท้องน้อย มดลูกไปกดกระเพาะปัสสาวะทำให้ปัสสาวะบ่อยหรือกดทวารหนัก ทำให้อุจจาระลำบากได้

  • การวินิจฉัยที่แน่นอนได้จากการนำเยื่อบุโพรงมดลูกไปตรวจทางพยาธิวิทยา (ส่องกล้องย้อมเซลล์ดู) ซึ่งมักต้องขูดมดลูกให้ได้เนื้อเยื่อไปตรวจ ในผู้ทีเคยมีบุตรแล้ว การขูดมดลูกทำได้โดยฉีดยาชา ส่วนผู้ที่ยังโสด หรือไม่เคยมีบุตรแพทย์มักวางยาสลบให้ไม่เจ็บ สามารถกลับบ้านได้หลังขูดมดลูก ซึ่งแพทย์จะตรวจพิจาณาเป็นรายๆ ไป ว่าอาการผิดปกติ เหมือนการเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกหรือไม่ ถ้าอาการผิดปกติไม่เหมือน ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องขูดมดลูกมี
  • ทำได้โดยการผ่าตัด ซึ่งได้แก่ การตัดเอามดลูก ปากมดลูก ปีกมดลูก (รังไข่และท่อนำไข่) ออกร่วมกับการล้างน้ำในช่องท้องและสุ่มตัดต่อมน้ำเหลืองไปตรวจ การผ่าตัดจะช่วยทำให้ทราบว่าผู้ป่วยอยู่ในระยะใดของโรค
    • หากพบว่าเป็นระยะแรก กล่าวคือ มีมะเร็งอยู่เฉพาะที่เยื่อบุโพรงมดลูก ยังมีการลุกลามเข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูกไม่มาก ไม่มีการกระจายของโรคไปอวัยวะอื่น การผ่าตัดที่กล่าวมาก็เพียงพอในการรักษา ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างอื่นเพิ่มเติมผลการรักษาดีมาก
    • หากพบว่าเริ่มมีการลุกลามของมะเร็งลึกขึ้น หรือกระจายไปในอวัยวะข้างเคียง หลังผ่าตัดจำเป็นต้องได้รับรังสีรักษา (ฉายแสง) หรือเคมีบำบัดร่วมด้วย โดยรังสีแพทย์จะพิจารณาฉายแสดงภายนอกหรือใส่แร่ที่ช่องคลอด หรือทั้งสองวิธี แล้วแต่กรณี
    • ในกลุ่มที่มีการกระจายของโรคไปไกลๆ เช่น ช่องท้องด้านบน ตับ ปอด การรักษาเป็นการรักษาแบบประคับประคอง มักให้ยาเคมีบำบัดหลังผ่าตัด ซึ่งในกลุ่มนี้การพยากรณ์โรคมักไม่ดี

โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นโรคที่ มักมีอาการเตือนแต่แรกเริ่ม กล่าวคือมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ดังนั้นการพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการผิดปกติจะช่วยให้รักษาได้แต่เนิ่นๆ โดยผ่าตัดเพียงอย่างเดียว โอกาสหายสูง

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์สูติ-นรีเวช

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 10.00 of 10, จากจำนวนคนโหวต 4 คน

Related Health Blogs