bih.button.backtotop.text

ความก้าวหน้าในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

          การผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากโดยใช้แขนกลหุ่นยนต์ดาวินชี (Robotic–assisted da Vinci Surgery or Da Vinci® Prostatectomy) คือหนึ่งในวิธีรักษาที่กระทบกระเทือนเนื้อเยื่อรอบด้านน้อยที่สุด โดยแพทย์จะควบคุมแขนกลหุ่นยนต์ซึ่งเลียนแบบการเคลื่อนไหวของแพทย์ได้อย่างแม่นยำ และดูภาพผ่านกล้องความคมชัดสูงที่ขยายทุกรายละเอียดให้ชัดเจน อีกวิธีการรักษาที่มีบทบาทไม่แพ้กันคือ รังสีรักษาระยะใกล้ (brachytherapy) ซึ่งเป็นการสอดท่อขนาดจิ๋วเข้าไปเพื่อส่งเม็ดกัมมันตรังสีเข้าสู่ก้อนมะเร็ง ก้อนมะเร็งจึงได้รับรังสีปริมาณมากโดยตรง ในขณะที่อวัยวะรอบด้านสัมผัสรังสีน้อยลง
 
          ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่สำคัญในระบบสืบพันธุ์ของคุณผู้ชาย ซึ่งแตกต่างจากอวัยวะอื่นๆ ตรงที่ไม่ได้หยุดตรงเมื่อเป็นผู้ใหญ่เต็มที่ แต่ยังคงโตต่อไปได้เรื่อยๆ ปัญหาคือบางครั้ง ต่อมที่ว่าก็โตเกินไป หากเป็นภาวะต่อมลูกหมากโตแบบไม่ร้ายแรง (benign prostate hyperplasia) ก็อาจจะแค่ก่ออาการปัสสาวะขัดหรือเล็ดให้รำคาญ แต่ถ้าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบได้มากเป็นอันดับสองในเพศชาย ก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว และจากสถิติก็พบว่ามะเร็งต่อมลูกหมากมักตรวจพบเมื่ออยู่ในระยะท้าย ๆ ทำให้ยากต่อการรักษา
 
          ด้วยเหตุนี้ การตรวจให้พบโรคได้เร็วจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง สมาคมโรคมะเร็งแห่งอเมริกันแนะนำให้คุณผู้ชายเจาะเลือดเพื่อตรวจค่า PSA ทุกปีเมื่อเข้าสู่วัยหนึ่ง ว่าแต่ค่าที่ว่านี้คืออะไร แล้วควรจะตรวจเมื่อไร นพ. จรัสพงศ์ ดิศรานันท์ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ ประจำศูนย์ทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จะมาเฉลยกัน
           
ค่า PSA คืออะไร และผลของค่า PSA บอกอะไรได้บ้าง
          นพ.จรัสพงศ์กล่าวว่า “PSA (prostate-specific antigen) คือโปรตีนชนิดหนึ่ง ที่มักจะเพิ่มสูงกว่าปกติในผู้ที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก การมีค่า PSA สูงไม่แปลว่าต้องเป็นมะเร็งเสมอไป เพียงแต่มีโอกาสจะเป็นเท่านั้น ที่เราต้องใช้วิธีนี้ ก็เพราะมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกจะไม่แสดงอาการใด ๆ การเจาะเลือดตรวจ PSA จึงเป็นวิธีที่สะดวกที่สุดในการคัดกรองมะเร็งเบื้องต้น แต่แม้ค่า PSA จะต่ำ ก็ยังมีโอกาสเป็นมะเร็งได้เช่นกัน”
 
1-(1).png

เราควรตรวจค่า PSA บ่อยแค่ไหน
          นพ.จรัสพงศ์ “แนะนำให้ผู้ชายทุกคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปตรวจอย่างน้อยปีละครั้ง หากตรวจแล้วพบว่าค่า PSA สูง ก็อาจจะเพิ่มความถี่เป็นทุก ๆ 6 เดือนเพื่อติดตามเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด และเริ่มทำการรักษาได้ทันทีหากมีความผิดปกติ”
 
หากค่า PSA สูงแล้ว ต้องทำอย่างไรต่อ
          “หลังรอผลประมาณสองชั่วโมง หากพบว่าค่า PSA สูง เราก็อาจจะตรวจยืนยันด้วยการทำ MRI เพื่อให้เห็นรายละเอียดภายในต่อมลูกหมากและเนื้อเยื่อโดยรอบ ซึ่งหากพบความผิดปกติ ก็จะทำ MRI/Ultrasound Fusion Biopsy เพื่อระบุตำแหน่งที่สงสัยให้แม่นยำก่อนตัดชิ้นเนื้อมาตรวจยืนยันต่อไปครับ”
 
          หลังเข้าใจวิธีการคัดกรองแล้ว คำถามถัดมาก็คงไม่พ้นว่าหากพบมะเร็งขึ้นมา จะรักษาได้อย่างไร ซึ่งก็มีหลากหลายวิธีตั้งแต่ การฉายแสง การใช้เคมีบำบัด การใช้ฮอร์โมนบำบัด แต่วิธีที่ใช้ในการรักษาขั้นต้นและยังคงมีประสิทธิภาพดีที่สุดก็คือการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก โดยปัจจุบันมักใช้วิธีผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยการส่องกล้อง (laparoscopic radical prostatectomy ที่ใช้กล้องขนาดเล็กส่องเข้าไปในร่างกาย แล้วใช้ห่วงไฟฟ้าที่ปลายกล้องตัดเนื้อร้ายออกมา หลังการผ่าตัดผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 3 วัน  
 
          แต่การผ่าตัดอีกวิธีซึ่งมีประสิทธิภาพสูงยิ่งกว่าคือ การผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากโดยใช้แขนกลหุ่นยนต์ดาวินชี  (Robotic–assisted da Vinci Surgery or Da Vinci® Prostatectomy)
 
robots-radiation_2.png
         
          ซึ่งนพ. ธีระพล อมรเวชสุกิจ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านยูโรวิทยาประจำโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่าเป็นการผ่าตัดที่แพทย์จะควบคุมแขนกลหุ่นยนต์ซึ่งประกอบด้วยชุดกล้องและมีดผ่าตัด แพทย์จะเห็นอวัยวะภายในผ่านทางกล้องความคมชัดสูงที่ขยายภาพให้ใหญ่ขึ้นหลายเท่า นอกจากนี้ แขนกลหุ่นยนต์ดาวินชี่ยังขยับได้ถึงเจ็ดทิศทาง ซึ่งมากกว่าข้อมือมนุษย์เสียอีก จึงถ่ายทอดทุกรายละเอียดการขยับมือของศัลยแพทย์ได้อย่างครบถ้วน คุณสมบัติทั้งสองนี้ทำให้การผ่าตัดด้วยวิธีดังกล่าวมีความแม่นยำสูงและถนอมเนื้อเยื่อรอบข้างได้เป็นอย่างดี ทั้งยังลดโอกาสที่จะเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และภาวะองคชาติไม่แข็งตัวได้อีกด้วย
 
robots-radiation_3.jpg 
          
          อีกวิธีการรักษาที่มีบทบาทไม่แพ้กันคือ รังสีรักษาระยะใกล้ (brachytherapy) ซึ่งเป็นการสอดท่อขนาดจิ๋วเข้าไปเพื่อส่งเม็ดกัมมันตรังสีเข้าสู่ก้อนมะเร็ง ก้อนมะเร็งจึงได้รับรังสีปริมาณมากโดยตรง ในขณะที่อวัยวะรอบด้านสัมผัสรังสีน้อยลง นพ.อภิชาต พานิชชีวลักษณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีวิทยา ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งฮอไรซัน (Horizon Cancer Center of Excellence) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้อธิบายถึงการรักษาซึ่งแบ่งเป็นการฝังแบบถาวรกับชั่วคราวไว้ว่า
 
robots-radiation_4.png

          “ในกรณีของการฝังแร่แบบชั่วคราว (High Dose Rate brachytherapy) เราจะสอดท่อขนาดจิ๋วเข้าไปในต่อมลูกหมาก โดยใช้คลื่นอัลตราซาวด์นำทาง (Transrectal Ultrasound Guidance or TRUS) จากนั้นจึงเริ่มฉายรังสีในปริมาณที่คำนวณไว้แล้ว และนำท่อออกเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการ จึงไม่มีแร่กัมมันตรังสีหลงเหลืออยู่ในร่างกาย ข้อดีของวิธีนี้คือสามารถปรับความเข้มของรังสีได้ตลอดเวลาที่ท่อยังคาอยู่ การฝังแร่แบบชั่วคราวนี้ให้ผลรักษาที่ดีมากในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากซึ่งยังไม่แพร่กระจายชนิดความเสี่ยงปานกลาง-สูง โดยมีอัตราการรอดชีวิตสูงกว่าร้อยละ 90 ขณะที่ภาวะแทรกซ้อนต่ำกว่าการรักษาแบบอื่นมาก
 
robots-radiation_5.jpg
          
          ส่วนการฝังแร่แบบถาวร (permanent brachytherapy) นั้นเหมาะกับมะเร็งต่อมลูกหมากซึ่งยังไม่แพร่กระจายชนิดความเสี่ยงต่ำ โดยแพทย์จะฝังแร่กัมมันตรังสีที่ให้รังสีในปริมาณต่ำซึ่งจะค่อยๆ ทำลายเซลล์มะเร็งไปจนกว่าจะหมดฤทธิ์ ซึ่งอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน โดยเม็ดแร่จะค้างอยู่ในต่อมลูกหมากตลอดไป แพทย์จึงจำเป็นต้องคำนวณปริมาณรังสีให้แม่นยำที่สุดก่อนจะฝังแร่
 
robots-radiation_6.png
          
          ในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งฮอไรซันนั้น ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาแผนการรักษาโดยคำนึงถึงขนาด ตำแหน่ง และระยะของโรคเป็นสำคัญเสมอ ขอเพียงเราตระหนักรู้ ตรวจร่างกายเป็นประจำ และเตรียมตัวให้พร้อมหากต้องรักษา การผนึกกำลังกันระหว่างองค์ความรู้และประสบการณ์จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีล่าสุดในทุกวันนี้ ก็จะทำให้มะเร็งต่อมลูกหมากไม่ใช่ภัยร้ายลึกลับที่น่าหวาดหวั่นอีกต่อไป
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs