bih.button.backtotop.text

อัลไซเมอร์

อัลไซเมอร์ เป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของการทำงานหรือโครงสร้างของเนื้อเยื่อของสมองซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ โดยไม่ใช่ความเสื่อมตามธรรมชาติเพราะผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องเป็นอัลไซเมอร์ทุกคน แต่เป็นความเสื่อมที่เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid) ชนิดไม่ละลายน้ำซึ่งเมื่อไปจับกับเซลล์สมองจะส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง รวมถึงทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหายจากการลดลงของสารอะซีติลโคลีน (acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความทรงจำ 

 

การสะสมของเบต้า-อะไมลอยด์
การสะสมของเบต้า-อะไมลอยด์ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองค่อยๆ ลดลง เริ่มจากสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ที่มีบทบาทสำคัญในการจดจำข้อมูลใหม่ๆ เมื่อเซลล์สมองส่วนนี้ถูกทำลาย ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาเรื่องความจำโดยเฉพาะความจำระยะสั้น จากนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นจะแพร่กระจายไปสู่สมองส่วนอื่นๆ และส่งผลต่อการเรียนรู้ ความรู้สึกนึกคิด ภาษา และพฤติกรรม
 
อายุ จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งมีโอกาสเกิดโรคมากขึ้น เพราะ สถิติในปัจจุบันพบว่ากลุ่มที่มีอายุราว 65 ปี พบผู้ป่วยอัลไซเมอร์ประมาณร้อยละ 5  กลุ่มผู้ที่มีอายุราว 75 ปี พบผู้ป่วยอัลไซเมอร์ประมาณร้อยละ 15 และกลุ่มผู้ที่มีอายุ 85 ปีขึ้นไป พบผู้ป่วยอัลไซเมอร์มากถึงร้อยละ 40 ฉะนั้น จำนวนผู้ป่วยอัลไซเมอร์จึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากคนเรามีอายุที่ยืนยาวขึ้น

นอกจากนี้ โรคอัลไซเมอร์ยังสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้แต่พบเป็นส่วนน้อย คือประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น โดยผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการให้เห็นตั้งแต่อายุ 50-60 ปี 

สาเหตุสำคัญของภาวะสมองเสื่อมชนิดที่ไม่สามารถรักษาได้ในผู้สูงอายุ เกิดจากโรคอัลไซเมอร์ถึงร้อยละ 60-80 โดยส่วนใหญ่ อาการของโรคจะปรากฏหลังอายุ 60-65 ปีไปแล้ว เว้นแต่ในผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมซึ่งอาจเป็นได้ตั้งแต่อายุยังน้อย แต่พบได้ไม่บ่อยนัก 
อาการแรกเริ่มที่สำคัญของผู้ป่วยอัลไซเมอร์คือการสูญเสียความจำระยะสั้น ซึ่งเป็นอาการที่ใกล้เคียงกับภาวะความจำเสื่อมตามธรรมชาติในผู้สูงอายุ แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้ป่วยร้อยละ 80-90 จะมีอาการทางพฤติกรรมหรือทางจิตเวชร่วมด้วย ซึ่งอาการทางพฤติกรรมนี่เองที่ทำให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะรายที่มีอาการก้าวร้าว  

อาการทั่วไปของโรคอัลไซเมอร์

อาจแบ่งคร่าวๆ ได้เป็นสามระยะ ได้แก่
  1. ระยะแรก ผู้ป่วยจะมีความจำถดถอยจนตัวเองรู้สึกได้ ชอบถามซ้ำ พูดซ้ำๆ เรื่องเดิม สับสนทิศทาง เริ่มเครียด อารมณ์เสียง่ายและซึมเศร้า แต่ยังสื่อสารและทำกิจวัตรประจำวันได้ ระยะนี้เป็นระยะที่คนรอบข้างยังสามารถดูแลได้ 
  2. ระยะกลาง ผู้ป่วยมีอาการชัดเจนขึ้น ความจำแย่ลงอีก เดินออกจากบ้านไปโดยไม่มีจุดหมาย พฤติกรรมเปลี่ยนไปมาก เช่น จากที่เป็นคนใจเย็นก็กลายเป็นหงุดหงิดฉุนเฉียว ก้าวร้าว พูดจาหยาบคาย หรือจากที่เป็นคนอารมณ์ร้อนก็กลับกลายเป็นเงียบขรึม และเมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ชงกาแฟไม่ได้ ใช้รีโมททีวีหรือโทรศัพท์มือถือไม่ได้ คิดอะไรที่ไม่ถูกต้อง ไม่อยู่ในโลกของความจริง เช่น คิดว่าจะมีคนมาฆ่า มาขโมยของ คิดว่าคู่สมรสนอกใจ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอาการที่ยากต่อการดูแลและเข้าสังคม
  3. ระยะท้าย ผู้ป่วยอาการแย่ลง ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างน้อยลง สุขภาพทรุดโทรมลงคล้ายผู้ป่วยติดเตียง รับประทานได้น้อยลง การเคลื่อนไหวน้อยลงหรือไม่เคลื่อนไหวเลย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สมองเสื่อมเป็นวงกว้าง ไม่พูดจา ภูมิคุ้มกันอ่อนแอซึ่งมักนำไปสู่การติดเชื้อและเสียชีวิตในที่สุด โดยระยะเวลาทั้งหมดตั้งแต่แรกวินิจฉัยจนเสียชีวิตเฉลี่ยประมาณ 8-10 ปี
เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการหลงลืม ขั้นตอนแรกของการวินิจฉัยโรคคือดูว่าผู้ป่วยเข้าข่ายมีภาวะสมองเสื่อมหรือไม่โดยแพทย์จะซักประวัติจากผู้ป่วย ญาติ หรือผู้ดูแลที่สามารถให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับความสามารถในชีวิตประจำวัน และพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความถดถอยด้านการทำงานของสมอง พร้อมทั้งให้ผู้ป่วยเข้ารับการทดสอบสมรรถภาพของสมองโดยการตอบคำถามเกี่ยวกับความจำ สมาธิ การตัดสินใจ ทิศทาง การใช้ภาษา และการคำนวณ เป็นต้น

จากนั้นจึงเป็นการตรวจคัดกรองหาสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมว่ามาจากโรคที่รักษาได้หรือไม่ โดยการเจาะเลือดตรวจ และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (MRI) หากไม่พบสาเหตุอื่นประกอบกับผู้ป่วยมีอาการและการทดสอบทางสมองเข้าเกณฑ์การวินิจฉัยของโรคอัลไซเมอร์ จึงจะวินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์

นอกจากนี้แพทย์ยังสามารถระบุแยกย่อยออกไปได้อีกว่า ผู้ป่วยเป็นโรคภาวะสมองเสื่อมอื่นๆ ที่รักษาไม่หายขาดนอกเหนือจากอัลไซเมอร์หรือไม่ ซึ่งโรคเหล่านี้มีอาการแตกต่างกัน แต่การรักษาไม่ต่างกัน เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลเตรียมตัวได้ว่าจะต้องเจอกับอาการอย่างใดบ้าง
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาด สมองจะค่อยๆ เสื่อมลงไปโดยไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาได้ แต่การนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นจะช่วยยืดระยะเวลาการดำเนินโรค เพิ่มคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล และป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเป้าหมายหลักของการรักษาโรคอัลไซเมอร์
สำหรับวิธีการดูแลรักษาผู้ป่วยมี 2 รูปแบบ คือ
  1. การรักษาด้วยการใช้ยา โดยเป็นยาที่ช่วยควบคุมอาการต่างๆ ให้น้อยลงชั่วคราวแต่อาจไม่ช่วยในเรื่องของความจำมากนัก ยาดังกล่าวจะเข้าไปยับยั้งเอนไซม์ที่มาทำลายสารสื่อประสาทอะซีติลโคลีน เพื่อเพิ่มหรือปรับระดับของสารแอซิติลโคลีนไม่ให้ลดลงมากจนเกินไป ผู้ป่วยจึงสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ มีความสุขสดชื่นขึ้น ขณะเดียวกันผู้ดูแลก็ดูแลได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการทางพฤติกรรมที่ค่อนข้างรุนแรง เช่น ก้าวร้าวมาก แพทย์อาจพิจารณาให้ยาทางจิตเวชควบคู่กันไปด้วย
  2. การรักษาโดยไม่ใช้ยา เป็นการดูแลสมองและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย อาทิ
    • จัดให้ผู้ป่วยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีการศึกษาพบว่าการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ (cardio exercise) ที่เน้นการเสริมสร้างความแข็งแรงของหัวใจและปอด เช่น การเดิน วันละ 20 นาที 4 วันต่อสัปดาห์จะช่วยให้สมองสดชื่นและยืดระยะเวลาการดำเนินโรคได้
    • มีกิจกรรมให้ผู้ป่วยได้ออกไปนอกบ้านเป็นระยะๆ เพื่อพบปะผู้คน พูดคุยกับเพื่อนฝูง ญาติพี่น้องคนอื่นๆ นอกเหนือจากสมาชิกในบ้าน
    • ดูแลให้ผู้ป่วยได้นอนหลับอย่างมีคุณภาพตามสุขลักษณะการนอน เช่น ไม่ดื่มสารคาเฟอีนในช่วงเย็นหรือก่อนนอน ไม่ออกกำลังกายใกล้กับเวลานอน เข้านอนและตื่นนอนตรงเวลา ปรับความสว่างในห้องนอนให้มืดพอดี เพราะหากวงจรการนอนไม่ดีจะส่งผลต่อภูมิคุ้มกันของร่างกาย ความดันโลหิต น้ำหนัก และรวมถึงความจำด้วย
    • ดื่มน้ำให้พอเพียง เพื่อป้องกันภาวะเลือดหนืดหรือเลือดข้นซึ่งทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก สมองไม่สดชื่น หากไม่มีข้อห้าม เช่น มีโรคหัวใจหรือโรคไต ควรดื่มน้ำวันละ 2 ลิตรเป็นอย่างน้อย

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์โรคระบบประสาท

ดูเพิ่มเติม

คลินิกความจำ

ดูเพิ่มเติม

คลินิกสุขภาพผู้สูงอายุนิวไลฟ์

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 10.00 of 10, จากจำนวนคนโหวต 7 คน

Related Health Blogs