การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy หรือ ESWL) เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่ต่ำที่มีพลังงานสูงส่งผ่านผิวหนัง โดยควบคุมให้พุ่งตรงไปยังก้อนนิ่วเพื่อกระแทกให้นิ่วแตกสลายเป็นชิ้นเล็กๆ จนกลายเป็นผงเพื่อให้หลุดไหลออกมากับปัสสาวะ นับเป็นเทคโนโลยีการสลายนิ่วที่ไม่มีการรุกล้ำร่างกายของผู้ป่วย จึงไม่มีบาดแผล ไม่ทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อ มีความปลอดภัยสูง และผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องพักค้างรักษาตัวในโรงพยาบาล
ข้อบ่งชี้ในการรักษา
การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก ส่วนใหญ่ใช้รักษานิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะโดยเฉพาะนิ่วในไตและท่อไต แต่มักไม่ใช้รักษานิ่วในกระเพาะปัสสาวะ โดยผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการผิดปกติดังต่อไปนี้
- มีอาการปวดท้อง ปวดบริเวณเอวด้านหลังที่เป็นตำแหน่งของไต
- การปัสสาวะผิดปกติคล้ายกับอาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะมีเลือดปน
- ปัสสาวะไม่ออกหรือออกกะปริดกะปรอย คือปัสสาวะไหลๆ หยุดๆ
- มีเม็ดนิ่วลักษณะคล้ายกรวดทรายปนออกมากับปัสสาวะ
- มีอาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งผู้ป่วยอาจมีไข้ร่วมด้วย
เมื่อตรวจวินิจฉัยพบนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะแล้ว แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าผู้ป่วยสมควรเข้ารับการรักษาด้วยการสลายนิ่วหรือไม่โดยพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น ตำแหน่งและขนาดของนิ่ว ความแข็งของนิ่ว การอักเสบหรือบวมของไต รวมถึงสภาพร่างกายของผู้ป่วยว่าสามารถรับคลื่นกระแทกจากการรักษาได้มากน้อยเพียงใด
ขั้นตอนการรักษา
ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเช็คสุขภาพร่างกายและเตรียมตัวให้พร้อมเช่นเดียวกับการผ่าตัดทั่วไป จากนั้นแพทย์จะให้ยาเพื่อให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะสงบหรือยาชาเฉพาะที่ ก่อนเข้ารับการรักษาด้วยเครื่องสลายนิ่ว ซึ่งตัวเครื่องมีส่วนประกอบดังนี้
- เครื่องเอกซเรย์ที่ช่วยให้แพทย์สามารถระบุตำแหน่งของนิ่วได้แบบ real-time
- จอภาพแสดงผลจากเครื่องเอกซเรย์
- Lithotripter หรือเครื่องสร้างและส่งคลื่นพลังงานเข้าไปสลายก้อนนิ่ว
- เตียงผู้ป่วยที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ คือมีพื้นที่เว้าบริเวณช่วงเอวสำหรับให้เครื่อง lithotripter ส่งคลื่นขึ้นมาจากทางด้านล่างของเตียง
ทั้งนี้ เครื่อง lithotripter จะยิงคลื่นกระแทกนับเป็นจำนวนช็อตประมาณ 8,000-10,000 ช็อตจนกระทั่งก้อนนิ่วแตกเป็นผง โดยใช้เวลาในการสลายนิ่วประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที
ข้อจำกัดของการสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก
แม้ว่าการสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทกจะเป็นวิธีการรักษาที่แพร่หลายและได้ผลเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่สามารถใช้รักษานิ่วในทางเดินปัสสาวะได้หมดทุกประเภท โดยข้อจำกัดของการรักษามีดังนี้ คือ
- นิ่วมีขนาดใหญ่เกินไป กล่าวคือนิ่วในไตมีขนาดเกิน 2 เซนติเมตร และนิ่วในท่อไตมีขนาดเกิน 1-1.5 เซนติเมตร
- ผู้ป่วยมีภาวะอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาให้หายขาดเสียก่อน เพื่อไม่ให้การติดเชื้อแย่ลง
- ผู้ป่วยมีภาวะเลือดออกผิดปกติ
- ผู้ป่วยมีปัญหาการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขก่อนเพื่อให้เศษนิ่วสามารถผ่านออกไปทางปัสสาวะได้
- ผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์
ภาวะแทรกซ้อนหลังการสลายนิ่ว
ภาวะแทรกซ้อนจากการสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทกมักไม่รุนแรงนัก โดยผู้ป่วยอาจมีอาการดังต่อไปนี้
- ปัสสาวะเป็นสีแดง มีเลือดปน แต่จะค่อยๆ จางหายไปได้เองหลังการปัสสาวะ 2-3 ครั้ง
- มีการอักเสบติดเชื้อเพิ่มขึ้นในรายที่มีการติดเชื้ออยู่ก่อนแล้ว ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ
- มีอาการปวดท้องในกรณีที่มีเศษนิ่วตกมาอุดตันในท่อไต แต่โดยทั่วไปเศษนิ่วเหล่านี้จะหลุดมาได้เอง
- อวัยวะข้างเคียง เช่น ลำไส้ หลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำบอบช้ำเล็กน้อย
การปฏิบัติตัวหลังการสลายนิ่ว
- ดื่มน้ำให้มากเพื่อขับนิ่วออกมาทางปัสสาวะ
- รับประทานยาตามคำสั่งแพทย์
- เข้ารับการตรวจติดตามเป็นระยะ โดยครั้งแรกจะตรวจภายใน 1-2 สัปดาห์หลังการสลายนิ่วเพื่อให้แน่ใจว่านิ่วสลายออกไปหมดแล้วจริงๆ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีก
ทางเลือกอื่นของการรักษา
หากแพทย์ประเมินว่าการสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทกอาจไม่ใช่แนวทางที่ให้ผลการรักษาที่ดีที่สุด แพทย์จะอธิบายถึงแนวทางการรักษาอื่นๆ เช่น
- การเจาะผ่านผิวหนังเป็นรูเล็กๆ เพื่อส่องกล้องเข้าไปกรอนิ่วให้แตกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วจึงใช้เครื่องมือดูดหรือคีบนิ่วออก (PCNL: percutaneous nephrolithotomy)
- การผ่าตัด ใช้ในกรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ หรือเป็นนิ่วเขากวางที่มีกิ่งก้านหลายกิ่งจนไม่สามารถเอาออกด้วยวิธีอื่นได้
- การส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะ (Cystolitholapaxy) เพื่อขบนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ โดยแพทย์จะส่องกล้องเข้าไปในท่อปัสสาวะเพื่อขบนิ่วให้แตกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วล้างเอาเศษนิ่วออก
สถานที่ตั้ง
อาคารบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล คลินิก ชั้น 16
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ 33 สุขุมวิท ซอย 3 เขตวัฒนา กรุงเทพ 10110 ประเทศไทย
ติดต่อสอบถามและทำการนัดหมายแพทย์