bih.button.backtotop.text

“แสบร้อนกลางอก....เป็นกรดไหลย้อน” แท้จริงแล้วโรคนี้คืออะไร?

แสบร้อนกลางอก หรือเรอเปรี้ยว....ใช่โรคกรดไหลย้อนหรือเปล่านะ?

หากคุณมีอาการแสบร้อนกลางอก หรือเรอเปรี้ยว ขมในปาก อาการเหล่านี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) เพราะเมื่อสารคัดหลั่งหรืออาหารไหลย้อนขึ้นมาสู่หลอดอาหาร คอ หรือปาก ทำให้เกิดการระคายเคืองและอาการอื่นๆ ตามมา ซึ่งโรคนี้สามารถเกิดได้กับทุกช่วงวัย และกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีน้ำหนักมาก ดื่มสุรา สูบบุหรี่ กำลังตั้งครรภ์ หรือเป็นโรคผิวหนังแข็ง (scleroderma) เป็นต้น

*แต่บางอาการของโรคกรดไหลย้อน เช่น เจ็บคอ เสียงแหบ ไอเรื้อรัง อาการทางช่องปาก หรืออาการจุกแน่นหน้าอก อาจมาจากสาเหตุอื่น ผู้ป่วยจึงควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านนั้นๆ เพื่อวินิจฉัยก่อน หากไม่พบสาเหตุจึงอาจเกิดจากโรคกรดไหลย้อนได้
   

อาการของโรคกรดไหลย้อน แบ่งได้เป็น 2 ประเภท

อาการของหลอดอาหาร
  •  แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ กลางหน้าอก
  • มีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก
อาการนอกหลอดอาหาร (หากมีอาการดังนี้ ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์เฉพาะทางก่อน)
  • เจ็บหน้าอก โดยที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
  • เจ็บคอ หรือเสียงแคบเรื้อรัง
  • ไอเรื้อรัง
  • อาการทางช่องปาก เช่น มีกลิ่นปาก ฟันผุ


รู้ไหมสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนมีอะไรบ้าง?

  • รับประทานอาหารรสจัด และอาหารที่มีไขมันสูง
  • รับประทานอาหารมากเกินไป และนอนทันทีหลังรับประทานเสร็จ
  • สูบบุหรี่
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ดื่มกาแฟ น้ำอัดลม ช็อกโกแลต เป็นประจำ
  • ความเครียด
  • ภาวะที่ทำให้หูรูดหลอดอาหารหย่อน เช่น การใช้ยาขยายหลอดลม


กรดไหลย้อน รักษาเองได้ไหม...หรือต้องไปหาหมอ?

จริงอยู่ที่โรคนี้ไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่หากไม่รีบรักษาก็อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ หากผู้ป่วยมีอาการสำคัญที่เด่นชัด แพทย์จะให้การวินิจฉัยและรักษาเบื้องต้นในทันที หากผู้ป่วยได้รับการรักษาเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหาร การเอ็กซ์เรย์กลืนสารทึบแสง การตรวจการทำงานของหลอดอาหาร ซึ่งวิธีวินิจฉัยที่แน่นอนที่สุด คือ การตรวจการบีบตัวของหลอดอาหารและการตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหาร

โดยการรักษาสามารถแบ่งได้ดังนี้
  1. รักษาโดยไม่ใช้ยา เช่น การลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักมาก, งดสูบบุหรี่, งดดื่มแอลกอฮอล์, งดดื่มน้ำอัดลม, งดทานอาหารรสจัด หรือมีไขมันสูง และหลีกเลี่ยงการทานอาหารอย่างน้อย 3 ช.ม.ก่อนเข้านอน และให้นอนศีรษะสูง หรือนอนตะแคงซ้ายในผู้ที่มีอาการตอนกลางคืน เป็นต้น
  2. รักษาโดยใช้ยา แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้แก่ ยา H2-blockers ยากลุ่มนี้สามารถลดการหลั่งกรดและบรรเทาอาการได้บางส่วน อีกกลุ่มหนึ่งคือ ยา proton-pump inhibitors ยากลุ่มนี้สามารถลดกรดได้มากกว่ายากลุ่มแรก ในปัจจุบันการรักษาด้วยยาให้ผลการรักษาที่ดี แต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาเป็นระยะเวลานานกว่าการรักษาโรคแผลในกีเพราะอาหารทั่วไป
  3. รักษาโดยการผ่าตัด เฉพาะในผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือผู้ป่วยที่รักษาด้วยยามาเป็นเวลานาน รวมถึงผู้ป่วยที่มีผลแทรกซ้อนจากโรคกรดไหลย้อน เช่น มีแผลในหลอดอาหาร หลอดอาหารตีบหรือมีการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุหลอดอาหาร เช่น Barrett’s esophagus
 

โรคกรดไหลย้อน สามารถกลายเป็นมะเร็งได้หรือไม่?

มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่น้อยมาก โดยเฉพาะคนไทยและเอเชีย ที่มีอาการอักเสบของหลอดอาหารไม่รุนแรงนัก แต่หากมีระดับความรุนแรงมาก ก็จะมีโอกาสเกิดความผิดปกติของเยื่อบุหลอดอาหาร ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้
               

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

“แสบร้อนกลางอก....เป็นกรดไหลย้อน” แท้จริงแล้วโรคนี้คืออะไร?
คะแนนโหวต 9.33 of 10, จากจำนวนคนโหวต 3 คน

Related Health Blogs