bih.button.backtotop.text

ภูมิคุ้มกันอ่อนแอจนเกิดโรคมะเร็ง จะดูแลตัวเองอย่างไร

โรคมะเร็งเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่พันธุกรรม สารพิษในสภาพแวดล้อม ไปจนถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอจนไม่สามารถต่อสู้กับเซลล์มะเร็งได้ ดังนั้นเมื่อเป็นโรคมะเร็งแล้วสิ่งที่ควรทำนอกเหนือจากการเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆก่อนที่มะเร็งจะแพร่กระจายแล้ว การดูแลตัวเองให้มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการเอาชนะโรคมะเร็งและกลับมามีสุขภาพที่ดีเหมือนเดิม

สร้างภูมิคุ้มกันให้กลับมาแข็งแรงได้อย่างไร

ภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงเปรียบเสมือนกองทัพที่มีทหารจำนวนมากและมีทักษะพร้อมรบกับข้าศึก เราสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงเพื่อเอาชนะโรคมะเร็งร้ายได้ด้วยการสร้างพฤติกรรมสุขภาพดีดังนี้

  • รับประทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งมักได้รับผลข้างเคียงจากการรักษาเช่นเคมีบำบัด รังสีรักษา หรือภูมิคุ้มกันบำบัด ทำให้รู้สึกเบื่ออาหาร คลื่นไส้ กลืนลำบาก การรับรสอาหารเปลี่ยนไป ทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง ติดเชื้อง่ายขึ้น อาหารโดยเฉพาะโปรตีนที่มีความสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแรงและมีประโยชน์มากมายต่อร่างกายเช่น ช่วยสมานแผล เพิ่มเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว รวมถึงเพิ่มภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยมะเร็งหลายคนไม่อยากรับประทานโปรตีนเพราะคิดว่าไม่ดีต่อร่างกาย แต่ความจริงการขาดโปรตีนทำให้ร่างกายทรุดโทรมและผอมลง ควรรับประทานโปรตีนประมาณ 25-30 กรัมต่อมื้อ  และหลังจากสิ้นสุดการรักษาเคมีบำบัดควรรับประทานอาหารที่มีกากใยอย่างเช่น ผักและผลไม้ เพราะนอกจากอุดมไปด้วยวิตามินที่ร่างกายต้องการแล้ว ผักและผลไม้ยังเป็นพรีไบโอติกส์ (prebiotics) ที่ช่วยสร้างระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ทำให้จุลินทรีย์ในร่างกายมีความสมดุล เพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ภูมิคุ้มกัน การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายทำให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและทำให้น้ำหนักตัวอยู่ในระดับที่เหมาะสม
  • ลดการสัมผัสกับสารพิษ ไม่ว่าจะเป็นสารพิษในสภาพแวดล้อม เช่น ฝุ่น PM 2.5 โดยการใช้เครื่องฟอกอากาศ ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆและลดการได้รับสารพิษจากอาหาร โดยเลือกรับประทานอาหารออร์แกนิกส์ ล้างผักผลไม้ก่อนรับประทาน ระหว่างการได้รับยาเคมีบำบัดหรือการฉายแสง ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุดสะอาด ไม่ควรรับประทานของดิบเพราะทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย เช่น ปลาดิบ ผักสด ผลไม้สดหรือน้ำแข็งที่ไม่มั่นใจในความสะอาด
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายแบบหักโหมแต่ให้ใช้กล้ามเนื้อ เช่น การเดิน การแกว่งแขน โดยเริ่มต้นช้าๆจนเพิ่มเป็น 30 นาทีต่อวัน กล้ามเนื้อจะช่วยส่งสัญญาณที่เรียกว่า myokine ให้กับภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้นนอกจากนี้การออกกำลังกายยังทำให้อารมณ์ดี ช่วยลดความเครียด
  • นอนหลับให้เพียงพอ การนอนหลับเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและปรับสมดุลสารเคมีต่างๆในสมอง การอดนอนทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง ควรนอนหลับอย่างมีคุณภาพอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง การนอนหลับอย่างมีคุณภาพเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่อาการแทรกซ้อนอาจทำให้เกิดความไม่สุขสบาย นอกจากนี้ยา เช่น ยาบรรเทาปวด ยาลดความวิตกกังวลและยาสเตียรอยด์ส่งผลให้เกิดการแปรปรวนในการนอนหลับ พฤติกรรมที่ผู้ป่วยสามารถปรับเปลี่ยนได้เองคือ การเข้านอนและตื่นตามตารางเวลา ใช้เตียงและห้องนอนเพื่อการนอนเท่านั้น ไม่งีบหลับในเวลากลางวัน หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ไม่รับประทานอาหารมื้อหนักก่อนเข้านอน 2 ชั่วโมง ไม่ดื่มน้ำมากก่อนเข้านอนเพราะอาจทำให้ต้องตื่นขึ้นมาเพื่อเข้าห้องน้ำและใช้เทคนิคช่วยในการผ่อนคลายก่อนเข้านอน เช่น อาบน้ำอุ่นและจบด้วยน้ำเย็น ฝึกสมาธิ อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยพยายามปรับพฤติกรรมและยังมีปัญหานอนไม่หลับเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์

 
คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรมมะเร็งเอสเพอรานซ์ ประกอบด้วยทีมแพทย์ที่มีความชำนาญและประสบการณ์สูงในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยวิธีการผสมผสาน โดยมุ่งเน้นวิธีการรักษาที่เฉพาะเจาะจงสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากการรักษาน้อยที่สุดและได้ผลลัพธ์ในการรักษาที่ดีที่สุด
 


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรมมะเร็ง
โทร: 02-011-5888

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs