bih.button.backtotop.text

เทคโนโลยีเพื่ออนาคต เริ่มต้นแล้ววันนี้ที่บำรุงราษฎร์

25 พฤศจิกายน 2562
สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงการแพทย์ หากพูดถึงหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด หลายคนอาจนึกภาพไม่ออกว่าหุ่นยนต์ที่ว่านั้นจะมีรูปร่างลักษณะแบบไหน จะช่วยผ่าตัดได้อย่างไร และที่สำคัญคือจะปลอดภัยหรือไม่?

            อันที่จริงแล้ว หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดก็คือระบบคอมพิวเตอร์ที่ทำงานผ่านแขนกลต่างๆ ภายใต้การควบคุมของศัลยแพทย์ที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างเชี่ยวชาญ โดยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดตัวแรกของโลกที่ชื่อ Puma 560 นั้นถูกนำมาใช้ในการผ่าตัดเนื้อเยื่อสมองตั้งแต่ปี 2528 และนับจากนั้นมา เทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ก็ได้รับการยอมรับและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

            ปัจจุบัน ศัลยแพทย์ของบำรุงราษฎร์ใช้หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัดรักษาโรคได้แทบทุกอวัยวะสำคัญ โดยหุ่นยนต์ที่ใช้อยู่มีด้วยกัน 3 ระบบหลัก คือ da Vinci, Mazor X Stealth และ MAKO เรามาดูกันว่าหุ่นยนต์ทั้งสามระบบนี้ทำงานอย่างไรและใช้ในการรักษาโรคใดบ้าง
 

da Vinci มหัศจรรย์ของหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด


3-News-Da-Vinci-Surgical-Robot-4.jpg
นับตั้งแต่ปี 2543 ที่ da Vinci ผ่านการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาจนถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ระบบนี้มากกว่า 6 ล้านคนทั่วโลก นั่นคือทุกๆ 30 วินาที ณ มุมใดมุมหนึ่งของโลก จะมีศัลยแพทย์ที่กำลังใช้หุ่นยนต์ da Vinci ในการรักษาผู้ป่วยและบำรุงราษฎร์เองก็ได้นำระบบหุ่นยนต์นี้เข้ามาใช้ตั้งแต่ปี 2559
 

da Vinci มีดีอย่างไร

da Vinci เป็นหุ่นยนต์ช่วยศัลยแพทย์ผ่าตัดที่สามารถทำการผ่าตัดได้ในหลากหลายสาขาการแพทย์ มีคุณสมบัติที่เหนือกว่าวิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิมโดยเป็นการผ่าตัดชนิดที่แผลขนาดเล็กที่มีความแม่นยำ และประสิทธิภาพสูงแม้ต้องทำงานในตำแหน่งที่เข้าถึงยากและลึก ช่วยให้ผู้ป่วยเสียเลือดน้อยกว่า ฟื้นตัวเร็วขึ้น และลดภาวะแทรกซ้อนภายหลังการผ่าตัดลงได้
 

da Vinci ทำงานอย่างไร

หุ่นยนต์ da Vinci ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญที่ทำงานประสานกันเป็นระบบ คือ
  • ส่วนควบคุมการผ่าตัด (surgeon console) สำหรับศัลยแพทย์นั่งควบคุมการเคลื่อนไหวของแขนกลหุ่นยนต์ผ่านจอที่ให้ภาพ 3 มิติความละเอียดสูง ซึ่งอยู่ข้างเตียงผู้ป่วยภายในห้องผ่าตัด
  • ส่วนของแขนกลหุ่นยนต์ข้างเตียงผู้ป่วย (patient cart) ประกอบด้วยแขนกล 4 แขน โดยแขนที่หนึ่งใช้ถือกล้องเพื่อส่งภาพอวัยวะภายในของผู้ป่วยออกไปยังจอภาพให้ศัลยแพทย์เห็น ส่วนอีกสามแขนใช้ถือเครื่องมือสำหรับการผ่าตัดที่ควบคุมโดยศัลยแพทย์ในคอนโซล
  • ระบบควบคุมภาพ (vision cart) เป็นคอมพิวเตอร์ส่วนกลางที่เปรียบเสมือนสมองของระบบ da Vinci ทำหน้าที่เชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างส่วนประกอบต่างๆ รวมถึงระบบภาพ 3 มิติความละเอียดสูง
ในการผ่าตัด เครื่องมือผ่าตัดขนาดจิ๋วที่ติดอยู่ปลายแขนกลจะถูกนำเข้าไปในร่างกายผู้ป่วยผ่านรูแผลเปิดขนาดเล็กประมาณ 1 เซ็นติเมตร ระบบ da Vinci จะถ่ายทอดการเคลื่อนไหวของมือศัลยแพทย์แบบเรียลไทม์จากคอนโซลไปยังเครื่องมือเหล่านี้ โดยแพทย์สามารถควบคุมให้เครื่องมือเคลื่อนไหวได้เหมือนมือมนุษย์แต่องศารอบทิศทางกว่า ไม่ว่าจะเป็นการหมุนหรือโค้งงอ ดังนั้น การผ่าตัดในตำแหน่งที่คับแคบหรือลึกจึงทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 

da Vinci เหมาะกับใคร

หุ่นยนต์ da Vinci สามารถใช้ช่วยศัลยแพทย์ผ่าตัดรักษาโรคได้แทบทุกระบบอวัยวะ ยกตัวอย่างเช่น  

Mazor X Stealth ผู้ช่วยผ่าตัดกระดูกสันหลัง


1300x878.jpg

โรคที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลังเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย ยิ่งคนเราอายุยืนยาวขึ้นก็ยิ่งมีโอกาสเกิดโรคมากขึ้น นอกจากนั้น ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย หรือออกกำลังกายผิดวิธีก็ทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังเพิ่มมากขึ้นทุกปี

ผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังมักมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดหลังหรือปวดคอ ซึ่งถ้าการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ทั้งหมดแล้วไม่ได้ผล ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด

การผ่าตัดกระดูกสันหลังที่ได้ผลลัพธ์น่าพึงพอใจนั้นเกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญสูงและเทคโนโลยีการรักษาที่ก้าวหน้า โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เริ่มนำเอาการผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยการใช้เทคนิคใส่สกรูยึดกระดูกสันหลังแบบแผลเล็กเจ็บน้อย (minimal invasive surgery) มาใช้ตั้งแต่ปี 2556 เริ่มจากการเอกซเรย์แบบ 2 มิติ และพัฒนามาเป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ O-Arm ที่สามารถระบุตำแหน่งที่จะผ่าตัด ตรวจสอบความถูกต้องในระหว่างการผ่าตัดและหลังการผ่าตัด รวมถึงช่วยเพิ่มมุมมองในการผ่าตัดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยมีผู้เข้ารับการรักษาด้วยเทคโนโลยีนี้แล้วไม่ต่ำกว่า 600 ราย

            ล่าสุด ในปี 2561 บำรุงราษฎร์ได้พัฒนาการผ่าตัดกระดูกสันหลังไปอีกก้าวหนึ่ง ด้วยการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเข้ามาใช้ในชื่อ Mazor X Stealth
 

Mazor X Stealth มีข้อดีอย่างไร


Mazor X Stealth คือ มีข้อดีอย่างไร

Mazor X Stealth เป็นแขนกลหุ่นยนต์กำหนดพิกัดสำหรับการผ่าตัดกระดูกสันหลังที่ต้องใส่โลหะหรือสกรูเข้าไปยึดตรึงกระดูกสันหลัง มีระบบสำหรับวางแผนการผ่าตัดอย่างละเอียดก่อนการผ่าตัดจริง ช่วยให้การกำหนดพิกัดและทิศทางของการใส่สกรูเป็นไปอย่างแม่นยำ แขนกลหุ่นยนต์สามารถงอ หมุน และเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระทุกทิศทางทำให้เวลาในการผ่าตัดลดลง
ความแม่นยำของ Mazor X Stealth ช่วยให้การผ่าตัดมีความปลอดภัยมากขึ้นแม้ผู้ป่วยจะมีกายวิภาคที่ท้าทาย ผู้ป่วยเสียเลือดน้อยลงและฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังจากการผ่าตัดเนื่องจากแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก คือเป็นเพียงรูเล็กๆ บนผิวหนัง จึงเกิดความบอบช้ำของแผลผ่าตัดน้อย และกระบวนการผ่าตัดยังทำให้ผู้ป่วยได้รับกัมมันตรังสีน้อยลงอีกด้วย
 

Mazor X Stealth ทำงานอย่างไร

ก่อนการผ่าตัด หุ่นยนต์ Mazor X Stealth ช่วยให้ศัลยแพทย์วางแผน กำหนดพิกัด และทิศทางการใส่สกรูสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายโดยใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ในการคำนวณพิกัด รวมถึงจำลองภาพหลังการผ่าตัดได้ตั้งแต่ก่อนเริ่มทำการผ่าตัดจริง

            ระหว่างการผ่าตัด Mazor X Stealth จะทำงานตามแผนที่กำหนดไว้ แขนกลของหุ่นยนต์จะล็อกตำแหน่งตามพิกัดอย่างแม่นยำเพื่อใส่เครื่องมือ ซึ่งศัลยแพทย์สามารถมองเห็นภาพขณะใส่สกรูจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้แบบเรียลไทม์ จึงช่วยลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทและหลอดเลือดลงได้อย่างมาก
 

Mazor X Stealth เหมาะกับใคร

หุ่นยนต์ Mazor X Stealth เหมาะกับการผ่าตัดรักษาโรคทางกระดูกสันหลังที่ต้องมีการฝังยึดสกรู เช่น โรคกระดูกสันหลังคดในเด็กและวัยรุ่น โรคกระดูกสันหลังเสื่อมในผู้ใหญ่ โรคกระดูกสันหลังแตกหักจากอุบัติเหตุ การเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง การปลูกถ่ายกระดูกสันหลัง เนื้องอกและอื่น ๆ
 

MAKO แขนกลหุ่นยนต์เปลี่ยนข้อเทียม

4-Mako_RIO-System-1300x1033.jpg

โรคข้อเสื่อม เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนที่ฉาบผิวกระดูกข้อต่อไว้ไม่ให้เสียดสีกันเมื่อเคลื่อนไหว การที่เราเคลื่อนไหวร่างกายไม่ว่าจะเป็นการลุก นั่ง ยืน หรือเดินนั้น ข้อต่อจะทำงานสอดประสานกันอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อกระดูกอ่อนเสียหายหรือบางลง กระดูกข้อต่อก็จะเสียดสีกันเองจนทำให้เกิดการอักเสบตามมา

            ผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมไม่ว่าจะเป็นข้อเข่าหรือข้อสะโพกจะมีอาการเจ็บปวดบริเวณข้อต่อจนไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันเป็นไปด้วยความยากลำบาก และถ้าข้อถูกทำลายไปมากจนการรักษาด้วยวิธีต่างๆ ทั้งหมดแล้วไม่ได้ผล การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมจะเป็นทางเลือกสุดท้ายเสมอ

            ปัจจุบันเทคโนโลยีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมมีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะการนำแขนกลหุ่นยนต์เข้ามาช่วยในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม (robotic arm-assisted joint replacement surgery) ซึ่งบำรุงราษฎร์ได้นำแขนกลหุ่นยนต์ MAKO เข้ามาใช้ตั้งแต่ปี 2556 ภายใต้โปรแกรมการรักษาที่เรียกว่า MAKOplasty ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งกับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมและข้อสะโพกเทียม
 

ข้อดีของ MAKOplasty

ปัญหาที่มักพบในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมคือการวางตำแหน่งข้อเทียมที่ไม่เหมาะสม ทำให้อายุการใช้งานของข้อเทียมสั้นกว่าที่ควรจะเป็น บางครั้งอาจเกิดความเสี่ยงจากการเคลื่อนหลุดของข้อเทียม ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดซ้ำ และอาจไม่ได้ผลดีเท่ากับการผ่าตัดครั้งแรก

            MAKOplasty ช่วยให้การวางตำแหน่งข้อเทียมเป็นไปอย่างแม่นยำ ลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการวางข้อเทียมผิดตำแหน่ง แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก เส้นเอ็นและเนื้อเยื่อต่างๆ บริเวณโดยรอบที่ยังมีสภาพดีไม่บอบช้ำจากการผ่าตัด ผู้ป่วยเสียเลือดน้อย ฟื้นตัวเร็ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่เริ่มเดินได้โดยใช้อุปกรณ์ช่วยประคองภายใน 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด และช่วยให้ข้อเทียมมีอายุการใช้งานยืนยาวอย่างที่ควรจะเป็น
 

แขนกลหุ่นยนต์ MAKO ทำงานอย่างไร


5-Mako-Knee-Replacement.jpg

MAKOplasty ประกอบด้วยแขนกลหุ่นยนต์ กล้องจับสัญญาณภาพ 3 มิติ และเครื่องประมวลผลสำหรับควบคุมการทำงานทั้งหมดให้สอดคล้องกัน ก่อนการผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อให้ศัลยแพทย์วางแผนการรักษาได้อย่างละเอียด เช่น กำหนดขนาด องศา และตำแหน่งของข้อเทียมแล้วส่งข้อมูลไปยังแขนกลหุ่นยนต์

ระหว่างการผ่าตัด แขนกลหุ่นยนต์จะช่วยให้ศัลยแพทย์วางตำแหน่งข้อเทียมอย่างถูกต้องตามที่วางแผนไว้ ทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำมากขึ้น และลดโอกาสเกิดความผิดพลาดลง
 

MAKOplasty เหมาะกับใคร

แขนกลหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าและข้อสะโพกเสื่อมที่มีอาการปวดมากจนเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาทั่วไปที่ไม่ใช่การผ่าตัด เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต การลดน้ำหนัก การรับประทานยา และการทำกายภาพบำบัด
 
เทคโนโลยีการรักษาด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดกำลังก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง และบำรุงราษฎร์ในฐานะผู้นำนวัตกรรมทางการแพทย์ก็พร้อมที่จะนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาเสริมการทำงานของศัลยแพทย์เพื่อยกระดับการรักษาให้มีคุณภาพและปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดไม่ได้เหมาะกับผู้ป่วยทุกราย ซึ่งแพทย์จะต้องพิจารณาความเหมาะสม ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย หากคุณอยากทราบว่าหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจะช่วยคุณได้หรือไม่และอย่างไร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โทร 0 2066 8888 ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs