ทราบไหมว่า มีงานวิจัยศึกษาพบว่า คนไทยวัยทำงานถึงหนึ่งในสาม หรือประมาณร้อยละ 36.51 ขาดวิตามินดี ทั้งๆที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่เรียกได้ว่ามีแต่ฤดูร้อนน้อยกับฤดูร้อนมากเท่านั้น
ร่างกายของเราจะได้รับวิตามินดี 2 ทางด้วยกันคือ
- อาหาร ซึ่งในอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดี เช่น ปลาแซลมอน หรือปลาแมคคอแรลที่สุก ปลาทูน่ากระป๋อง และ ในต่างประเทศมีการเพิ่มเติมวิตามินดี ใส่ลงในนม น้ำส้ม โยเกิร์ต หรือแม้กระทั่งธัญพืชอาหารเช้าที่ใส่วิตามินดีเสริม
- แสงแดด ซึ่งการที่เราจะได้รับวิตามินดีจากแสงแดดนั้น จะต้องให้ผิวหนังสัมผัสกับแสงอาทิตย์เป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาทีทุกวัน โดยใส่เสื้อแขนสั้น กางเกงขาสั้น และวิตามินดี 3 จะสังเคราะห์ในผิวหนังของเราจากรังสี UVB ซึ่งเป็นรังสีที่มีช่วงคลื่นสั้น ตกกระทบที่ผิวหนังชั้นนอกสุด หรือชั้นหนังกำพร้า ซึ่งเป็นผิวบริเวณที่สังเคราะห์วิตามินดี
แต่จากการที่เราวัยทำงานที่ทำงานกันอยู่ในตึก หรือพนักงานออฟฟิศ ตอนเช้าก่อนออกจากบ้าน ใส่เสื้อแขนยาว ทาครีมกันแดด หลีกเลี่ยงแสงแดดเพราะกลัวผิวคล้ำ ขับรถติดฟิล์มกรองแสงเพราะแสงแดดจ้า ตกเย็นออกกำลังกายในที่ร่ม เข้าFitness ตามวิถีชีวิตคนเมืองกรุง อีกทั้งบางคนที่มีผิวสีคล้ำ ปัจจัยเหล่านี้เองทำให้เราไม่ได้รับวิตามินดีจากแสงแดด ประกอบกับอายุที่มากขึ้นการดูดซึมวิตามินดีจากอาหารก็ลดลงตามวัยด้วย และเมื่อปัจจัยเหล่านี้รวมกันร่างกายของเราจึงขาดวิตามินดีได้
หน้าที่หลักของวิตามินดีคือ
- ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส
ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโต และเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน
หากเรามีวิตามินดีต่ำหรือขาดวิตามินดี เป็นระยะเวลานานจะส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย
- ทำให้เกิดโรคกระดูกน่วม (Osteomalacia)
- โรคกระดูกอ่อนในเด็ก (Rickets)
- การขาดวิตามินดียังสัมพันธ์กับการเกิดโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) เพิ่มความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม และอาจทำให้กระดูกหักได้
- การขาดวิตามินดีมีผลต่อสุขภาพของเราด้านอื่นนอกเหนือจากเรื่องกระดูกของเรา เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง (Muscle weakness) ช่วยต้านโรคมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer) มะเร็งเต้านม (Breast cancer) มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer) กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย (Immune system) รวมถึงโรคเบาหวานชนิดที่ 1 (type 1 diabetes) โรคเอ็มเอส (MS – Multiple Sclerosis) และกลุ่มโรคที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร (Inflammatory Bowel Disease – IBD)
จากข้อมูลงานวิจัยเราจะเห็นได้ถึงประโยชน์ของวิตามินดีมากมายซึ่งไม่เพียงแต่เฉพาะในกระดูก แต่มีผลสำคัญในระบบอื่นๆด้วย ดังนั้น และเพื่อเป็นการป้องกันการขาดวิตามินดี เราจึงควรเลือกรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดีสูง ร่วมกับ ปรับวิถีการดำเนินชีวิต เช่น ออกสัมผัสแสงแดดยามเช้า นอกจากนั้น การรับประทานวิตามินดีในรูปแบบของวิตามินเสริม ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก โดยปริมาณของวิตามินดีที่แนะนำว่าควรได้รับต่อวัน (The Recommended Dietary Allowance – RDA) คือ 600 international units (IU) สำหรับผู้ใหญ่จนถึงวัย 70 ปี
การรักษาควรทำอย่างไร
เราจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวัดระดับวิตามินดีในเลือดก่อนทานวิตามินเสริมเนื่องจากหากเรารับประทานวิตามินดีในปริมาณมาก เกินความต้องการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ในปริมาณมากกว่า 20,000 IU ต่อวัน แทนที่จะเกิดประโยชน์ ก็อาจทำให้เกิดโทษและเป็นอันตรายต่อสุขภาพเราได้เช่นกัน
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: