bih.button.backtotop.text

10 คำถามเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 และภูมิแพ้/โรคหืด

Q: คนไข้ที่เป็นโรคภูมิแพ้/โรคหืด สามารถรับวัคซีนได้หรือไม่ ควรรับชนิดไหนดี?

A: คนไข้ที่เป็นโรคภูมิแพ้และโรคหืด สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้ตามปกติ โดยโรคนี้ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการแพ้วัคซีน มากกว่าคนทั่วไป สามารถรับวัคซีนชนิดไหนก็ได้ โดยอัตราการเกิดการแพ้ชนิดรุนแรง (anaphylaxis) พบได้น้อยมาก ประมาณ 1-11 ครั้งในการฉีด 1,000,000 ครั้ง (ขึ้นกับชนิดของวัคซีน) ส่วนอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อย ไม่รุนแรงและหายได้เอง เราเรียกว่าผลข้างเคียงไม่ใช่อาการแพ้วัคซีน เช่น ปวดศีรษะ เมื่อยตัว คลื่นไส้อาเจียน ง่วงนอน/อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ มีผื่น/บวมแดงร้อนบริเวณที่ฉีด ซึ่งอาการเป็นไม่มาก และมักจะหายได้เอง

Q: คนไข้โรคภูมิแพ้ หอบหืด กลุ่มไหนที่มีความเสี่ยงสูง ที่จำเป็นต้องรีบรับวัคซีนโควิด?

A: ทุกคนไม่ว่าเป็นคนไข้หรือไม่ใช่คนไข้ ก็สมควรต้องรับวัคซีน เพราะสามารถป้องกันโรค หรือหากเกิดการติดเชื้อโรคก็ลดความรุนแรงและการเสียชีวิต แต่คนไข้ภูมิแพ้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อแบบรุนแรง คือคนไข้โรคหืดที่มีอาการมาก หรือควบคุมอาการยังได้ไม่ดี ซึ่งหากติดเชื้ออาจทำให้มีอาการหอบกำเริบรุนแรงได้ ดังนั้นคนไข้กลุ่มนี้จึงต้องรีบรับวัคซีนก่อน ยิ่งเป็นทั้งโรคหืดในผู้สูงอายุ หรือที่มีโรคร่วมหลายโรค ยิ่งต้องรีบรับวัคซีนโดยเร็ว อย่างไรก็ตามทุกคนควรรับวัคซีนเพื่อป้องกันโรค

Q: กรณีแพ้อาหาร ยา รับวัคซีนได้หรือไม่?

A: คนไข้ที่มีประวัติแพ้ยา อาหารทุกชนิด แพ้แมลง แพ้ผลิตภัณฑ์จากยางพารา (latex) สามารถรับวัคซีนได้ตามปกติ ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการแพ้วัคซีน ยกเว้นกรณีที่มีประวัติแพ้วัคซีนชนิดอื่นๆ แบบรุนแรง อาจต้องปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน ซึ่งอาการของแพ้ชนิดรุนแรงได้แก่ มีผื่นคัน ลมพิษ บวม แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก คลื่นไส้อาเจียน หรือหน้ามืดเป็นลม หมดสติ โดยที่อาการแพ้ชนิดรุนแรงต้องมีอาการอย่างน้อยสองระบบของร่างกาย เช่น มีอาการผิวหนัง ร่วมกับอาการทางเดินหายใจ เป็นต้น หากมีแต่อาการคัน ผื่นขึ้นอย่างเดียว ไม่ถือว่าแพ้ชนิดรุนแรง ดังนั้น กรณีแพ้อาหารทุกชนิด แพ้ยา แพ้แมลง สามารถรับวัคซีนได้ตามปกติ

Q: อาการแพ้วัคซีนมีอะไรบ้าง สังเกตยังไง?

A: ก่อนอื่นต้องแยกระหว่างการแพ้วัคซีนรุนแรง (anaphylaxis) ผลข้างเคียงของวัคซีน (side effects) หรืออาการเป็นลม (vasovagal syncope) ที่อาจเกิดจากความเครียด เจ็บปวด ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติหยุดทำงานชั่วคราว จนเกิดอาการหน้ามืด ใจสั่น เป็นลม หมดสติได้ ซึ่งวิธีแยกมีดังนี้

ภาวะแพ้ เป็นปฎิกริยาของร่างกายผ่านระบบอิมมูน ส่วนใหญ่ ประมาณร้อยละ 80 มักเกิดขึ้นภายในเวลา 15-30 นาทีหลังรับวัคซีน ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อยที่สุดคือ ผื่นคันคล้ายลมพิษ อาจมีอาการบวม นอกจากนี้อาการที่พบร่วมกันได้แก่ หายใจเหนื่อย แน่นหน้าอก ชีพจรเต้นเร็ว คลื่นไส้อาเจียน ความดันโลหิตต่ำ หมดสติ โดยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นหลายระบบพร้อมกัน อาการเหล่านี้หายได้ด้วยการใช้ยาฉีดรักษาคือ adrenaline หรือ epinephrine แล้วอาการจะค่อยๆดีขึ้นภายในเวลา 24 ชั่วโมง

ผลข้างเคียง จากวัคซีน มักจะเกิดขึ้นหลังฉีดไปหลายชั่วโมง จนถึง 3 วัน อาการที่เกิดขึ้น เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีด อาการมักหายไปเองได้ โดยไม่ต้องให้การรักษา หรือรักษาตามอาการ

อาการเป็นลม เป็นอาการหน้ามืดที่สามารถพบได้บ่อย ในผู้ที่มีสุขภาพร่างกายหรือจิตใจอ่อนแอ เช่น คนป่วย อดนอน หิว หรืออยู่ในสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ได้รับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม เช่น อากาศร้อน แสงแดด ความเครียด ความวิตกกังวล ยืนเป็นเวลานาน  เป็นต้น ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติเกิดการหยุดทำงานแบบชั่วคราว ทำให้ คลื่นไส้ อาเจียน หน้าซีด เหงื่อแตก ความดันโลหิตลดต่ำลงและเป็นลมหมดสติ ภาวะนี้หัวใจจะเต้นช้าลง และไม่มีผื่นขึ้นไม่เหมือนภาวะแพ้ชนิดรุนแรงที่เต้นเร็ว และมีผื่น

Vasovagal Episode

Anaphylaxis

ระยะเวลา

  • เกิดขึ้นทันที หรือ ภายใน 30 นาทีแรกหลังได้รับวัคซีน

  • เกิดขึ้นทันทีหรือภายในระยะเวลาเป็นนาที ถึง 1-2 ชั่วโมงหลังได้รับวัคซีน

ระบบทางเดินหายใจ

  • การหายใจปกติ อาจจะพบลักษณะหายใจตื้นๆได้ แต่มันไม่มีลักษณะหายใจลำบาก

  • ไอ หายใจเสียงวี๊ด (wheeze)

  • เสียงแหบ หรือมี stridor

  • น้ำมูกไหล

  • การหายใจล้มเหลม เช่น หอบเหนื่อย, เขียว, อกบุ๋ม

  • ทางเดินหายใจส่วนบนบวม เช่น ปาก/คอ/ลิ้น/ลิ้นไก่บวม

ระบบหัวใจและหลอดเลือด

  • หัวใจเต้นช้า

  • คลำชีพจรส่วนปลายของร่างกายเบา แต่ชีพจรส่วนต้น เช่น บริเวณสันคอ (carotid) เต้นแรง

  • ความดันโลหิตต่ำ โดยมักจะเป็นชั่วคราว และดีขึ้นเมื่ออยู่ในท่านอนหงาย

  • หมดสติ ดีขึ้นเมื่อนอนหงาย หรือ นอนศีรษะต่ำ

  • หัวใจเต้นเร็ว และ คลำชีพจรส่วนต้นของร่างกาย (carotid) ได้เบา

  • ความดันโลหิตต่ำ เป็นอยู่นาน และอาการไม่ดีขึ้นเองถ้าไม่ได้รับการรักษา

  • หมดสติ ไม่ดีขึ้น เมื่อนอนหงาย หรือนอนศีรษะต่ำ

อาการทางผิวหนัง

  • ผิวทั่วร่างกายซีดและเย็น

  • ลมพิษ, คัน

  • ปากบวม ตาบวม มือ/เท้าบวม

  • ผิวแดง

ระบบทางเดินอาหาร

  • คลื่นไส้ อาเจียน

  • ปวดเกร็งช่องท้อง ถ่ายเหลว คลื่นไส้ หรือ อาเจียน

ระบบประสาท

  • รู้สึกวิงเวียน หน้ามืด

  • วิงเวียน หน้ามืด

  • ปวดศรีษะ

  • มองภาพไม่ชัด

  • บางรายอาจพบอาการชักเกร็งได้


ดัดแปลงจาก : The Australian Immunisation Handbook

 

Q: หากใช้ยาประจำอยู่ ควรงดยาตัวไหน ก่อนรับวัคซีน?

A: ไม่จำเป็นต้องงดยารักษาโรคเดิม ก่อนรับวัคซีน กรณีคนไข้ภูมิแพ้ หากได้ยาแก้แพ้ ยาพ่นสูด ให้ใช้ยาเดิมต่อเนื่องตามปกติ ไม่ควรลด หรือหยุดยาก่อนมาฉีด เพราะอาจทำให้โรคกำเริบและมีอาการคล้ายแพ้วัคซีนได้

Q: การเตรียมตัวก่อนรับวัคซีน ต้องทานยาอะไรป้องกันภาวะแพ้?

A: ไม่มีความจำเป็นต้องทานยาแก้แพ้เพื่อป้องกันการแพ้วัคซีน เพราะนอกจากจะไม่ช่วยป้องกันแล้ว กรณีให้ยาแก้แพ้ก่อนรับวัคซีนยังอาจทำให้ยับยั้งอาการทางผิวหนังซึ่งเป็นอาการสำคัญของการแพ้วัคซีน ทำให้สังเกตุอาการได้ยากขึ้นหากว่าแพ้ สิ่งสำคัญที่ควรเตรียมร่างกายก่อนรับวัคซีน คือพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดหรือวิตกกังวัลจนเกินไป ไม่งดอาหารก่อนมารับวัคซีน เพราะอาจทำให้หน้ามืด เป็นลมได้ง่าย

Q: ข้อห้ามในการรับวัคซีนโควิด คืออะไรบ้าง?

A: ไม่มีข้อห้ามในการให้วัคซีน แต่อาจต้องระมัดระวังในกลุ่มที่มีประวัติแพ้วัคซีนชนิดอื่นแบบรุนแรงมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางภูมิแพ้ เพื่อทดสอบว่าแพ้ส่วนประกอบไหนในวัคซีน แล้วเลือกชนิดของวัคซีนให้เหมาะสมกับคนไข้ กรณีที่เป็นโรคหืดที่เพิ่งมีอาการกำเริบรุนแรงจนได้สเตียรอยด์ชนิดฉีดหรือรับประทาน ควรฉีดวัคซีนหลังจากหายหอบไปแล้วอย่างน้อยสองสัปดาห์ คนไข้ที่ได้ยากดภูมิคุ้มกันอยู่ สามารถรับวัคซีนได้ตามปกติ เพราะวัคซีนที่ให้ไม่ใช่วัคซีนตัวเป็น (live vaccine)

Q: กรณีที่รับวัคซีนแล้วมีอาการแพ้ หรืออาการข้างเคียง ต้องดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง?

A:
อาการแพ้ชนิดรุนแรง (anaphylaxis) จำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาลด้วยการให้ยาฉีดที่เป็น Adrenaline หรือ Epinephrine

ผลข้างเคียงของวัคซีน หายเองได้ภายใน 1-3 วัน หากมีอาการปวดมาก อาจประคบด้วยความเย็นบริเวณที่ฉีดวัคซีน แล้วให้ยาแก้ปวดพาราเซ็ตตามอล
ส่วนอาการเป็นลม จะหายได้เอง หากให้พักผ่อน อยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่มีความจำเป็นต้องได้ยารักษา

Q: หากแพ้วัคซีนโควิดเข็มแรกแล้ว เราจะรับเข็มที่สองได้หรือไม่?

A: กรณีที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วมีผลข้างเคียงหรือแพ้เล็กน้อยแบบไม่รุนแรง สามารถรับวัคซีนเข็มที่สองได้ตามกำหนด ไม่มีข้อห้ามในการรับฉีดวัคซีนเข็มต่อไป
กรณีที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วมีอาการแพ้ชนิดรุนแรง(anaphylaxis)  แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีนเข็มที่สอง เพื่อหาสาเหตุว่าอาการแพ้ชนิดรุนแรงเป็นจากอะไร และปรับการวัคซีนเข็มที่สองเป็นอีกยี่ห้อที่มีส่วนผสมที่ต่างจากวัคซีนเข็มแรก ซึ่งสาเหตุที่แพ้วัคซีนชนิดรุนแรงมักเกิดจากส่วนประกอบที่มีอยู่ในวัคซีน ที่พบบ่อยคือ Polyehtylene glycon (PEG)  ซึ่งวัคซีน/ยาที่มีส่วนประกอบของ PEG ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA vaccine ( Pizer หรือ Moderna)  ยาฉีด methylprednisolone ยาคุมชนิดฉีด (Depo-Provera)  ยาระบาย miralax หากมีประวัติแพ้รุนแรงต่อกลุ่มนี้ อาจให้วัคซีนกลุ่มอื่น เช่น Sinovac vaccine เพราะไม่มีส่วนผสมเหล่านี้อยู่ อีกส่วนประกอบอื่นในวัคซีนที่อาจแพ้ คือ polysorbate ซึ่งมีรูปร่างคล้าย PEG ทำให้อาจพบการแพ้ร่วมกันได้ (cross-reactivity) ซึ่งวัคซีนที่มีส่วนประกอบของ polysorbate ได้แก่ ตับอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ วัคซีนปอดบวม วัคซีนโควิด -19 ของ AstraZenaca, Sputnik-V, Johnson & Johnson

Q: การทดสอบแพ้วัคซีน ทำอย่างไร?

A: ข้อบ่งชี้ในการทดสอบการแพ้วัคซีน คือมีประวัติการแพ้ชนิดรุนแรงต่อวัคซีนมาก่อน แล้วไม่สามารถหาวัคซีนชนิดอื่นทดแทนได้  ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้เพื่อทำการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังต่อสารพวก PEG หรือ polysorbate ก่อนให้วัคซีน หากว่าแพ้ก็เปลี่ยนชนิดวัคซีนเป็นชนิดที่ไม่มี PEG หรือ polysorbate และการให้วัคซีนในคนไข้กลุ่มนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
กรณีไม่สามารถทำการทดสอบได้ อาจเลือกชนิดของวัคซีนโควิด ที่มีส่วนผสม แตกต่างจากวัคซีนชนิดที่เคยแพ้ ก็ได้ แล้วสังเกตุอาการอย่างใกล้ชิดหลังฉีดวัคซีน

          กล่าวโดยสรุปคือ การแพ้วัคซีนเกิดขึ้นน้อยมาก และหากเกิดอาการขึ้นก็สามารถรักษาได้ค่ะ  คนไข้โรคหืด หรือภูมิแพ้ ก็ไม่ได้เสี่ยงต่อการรับวัคซีนนะคะ


ไขข้อสงสัยเรื่องอาการแพ้วัคซีนโควิด 19 และภูมิแพ้/โรคหืด ติดต่อที่ ศูนย์ภูมิแพ้


 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs