bih.button.backtotop.text

ตามัว

เป็นอาการที่ตามองเห็นไม่ชัดเจน หรือเห็นสิ่งต่างๆเป็นภาพเบลอๆ อาจเกิดจากมีความผิดปกติของส่วนต่างๆในลูกตาเช่น กระจกตา จอประสาทตา หรือ เส้นประสาทตา อาการที่เป็นอาจเป็นช่วงสั้นๆหรือถาวร ซึ่งอาจส่งผลทำให้สูญเสียการมองเห็น ดังนั้นจึงควรพบแพทย์เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง

สาเหตุ
สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

1.    สาเหตุที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยทันที

1.1 โรคจอประสาทตาหลุดลอก: ภาวะที่เกิดการแยกหรือลอกตัวของจอประสาทตาออกจากตำแหน่งเดิม ทำให้มีอาการมองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแล่บหรือแสงแฟลชถ่ายรูป และหรือมีอาการมองเห็นจุดดำหรือเส้นสีดำๆ คล้ายเงาหยากไย่ลอยไปลอยมา ร่วมกับมีอาการตามัว ซึ่งโรคนี้สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ
1.2 โรคหลอดเลือดสมอง: ซึ่งอาจมีอาการตามัวร่วมกับหน้าเบี้ยวและหรือแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก
1.3 โรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก: พบได้ประมาณ 15-20% ของโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ เกิดจากการเสื่อมโดยมีเส้นเลือดผิดปกติงอกขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นเส้นเลือดที่เปราะบาง จะเกิดการรั่วซึมหรือแตก ทำให้จุดรับภาพบวมหรือมีเลือดออก มองเห็นภาพบิดเบี้ยว ตามัว และสูญเสียการมองเห็นในส่วนกลางในที่สุด
1.4 โรคต้อหินเฉียบพลัน: เกิดจาก การไหลเวียนของน้ำในลูกตาเกิดติดขัดทันที ซึ่งมักสัมพันธ์กับการที่ช่องหน้าม่านตาแคบ หากมีอาการ ตาแดง ตามัว ปวดตามากเฉียบพลัน ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรีบพบจักษุแพทย์ทันที
1.5 โรคเส้นเลือดแดงจอประสาทตาอุดตัน: ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางจักษุที่ต้องพบแพทย์ทันที เนื่องจากภาวะนี้ทำให้สูญเสียการมองเห็นแบบถาวรดดยไม่มีอาการปวดตา
   

2.สาเหตุอื่นๆ

    2.1 ตาแห้ง: ภาวะของตาที่มีปริมาณน้ำตาที่ให้ความชุ่มชื้นกับตาและกระจกตาไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอาการ แสบตา เคืองตา ฝืดตา ตาแดง น้ำตาไหลมาก ตามัว ถ้าไม่ได้รับการรักษาปล่อยให้มีอาการเรื้อรัง อาจส่งผลให้เกิดการอักเสบติดเชื้อตามมาได้
    2.2 เยื่อบุตาอักเสบ: สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจาก ไวรัส แบคทีเรีย หรือสารก่อภูมิแพ้ ทำให้เกิดอาการ ตาแดง แสบตา คันตา ตาบวม บางรายอาจมีโรคแทรกซ้อน คือกระจกตาอักเสบ สามารถสังเกตได้จากมีอาการตามัวลง และยังเคืองตา ซึ่งอาจเกิดในช่วง 7-10 วันหลังมีอาการตาแดง
    2.3 โรคเส้นประสาทตาอักเสบ: เป็นสาเหตุของภาวะตามัวแบบเฉียบพลันในผู้ป่วยอายุน้อย มักพบ
สัมพันธ์กับความรู้สึกไม่สบายตา ปวดบริเวณรอบเบ้าตา และจะปวดมากขึ้นเมื่อกลอกตา
    2.4 โรคต้อกระจก: เป็นภาวะที่เกิดการขุ่นที่เลนส์ตา ทำให้แสงไม่สามารถผ่านเข้าไปในตาได้ตามปกติ ทำให้มีอาการตามัวหรือการมองเห็นไม่ชัดเจน พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ
    2.5 ภาวะเบาหวานขึ้นตา: เป็นภาวะแทรกซ้อนทางตาที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งอาจมีความรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นแบบถาวรได้
    2.6 อุบัติเหตุทางตา: เป็นสิ่งที่สามารถพบได้บ่อย ซึ่งอาจเป็นอุบัติเหตุจากการทำงาน การขับขี่ยานพาหนะ การทะเลาะวิวาท หรือสารเคมีเข้าตา เป็นต้น
 
หากเริ่มสงสัยว่ามีอาการตามัว ควรรีบมาพบจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมและถูกต้อง
  1. การเข้ารับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
  2. การล้างมือก่อนสัมผัสตา หรือคอนแทคเลนส์
  3. การเลิกสูบบุหรี่
  4. สวมแว่นเพื่อป้องกันตาให้เหมาะสมเมื่อต้องทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำงานฝีมือ งานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี หรือเล่นกีฬาที่มีความเสี่ยงต่อการกระทบกระแทก
  5. หลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดจ้าเป็นประจำ ถ้าจำเป็นควรใช้แว่นตากันแดดที่สามารถกรองแสงยูวี
  6. รับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงสายตา เช่น ผัก ผลไม้ ปลา และอาหารทะเลที่มีกรดไขมันจำเป็นหรือโอเมก้า 3 เป็นต้น
  7. หลีกเลี่ยงการทำงานโดยใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์จักษุ

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง ตามัว

คะแนนโหวต 10.00 of 10, จากจำนวนคนโหวต 1 คน

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ตามัว