bih.button.backtotop.text

วิธีการตรวจและรักษาเพื่อบอกลามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเกิดจากการที่เซลล์เยื่อบุผนังด้านในของกระเพาะปัสสาวะแบ่งตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างผิดปกติจนกลายเป็นเนื้องอกและมะเร็งในที่สุด ในกรณีที่มีการลุกลามเซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายลึกเข้าไปยังผนังกระเพาะปัสสาวะชั้นอื่น และอาจลุกลามออกไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะอื่นๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูก ปอด และตับ
 

การตรวจและวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะเป็นมะเร็งที่มักตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะแรก เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ด้วยอาการปัสสาวะปนเลือด โดยการตรวจเบื้องต้น ได้แก่

  • การตรวจปัสสาวะ เพื่อหาว่ามีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะมากผิดปกติหรือไม่ รวมทั้งหาเซลล์มะเร็งที่อาจปนออกมากับปัสสาวะ (urine cytology)
  • การส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (cystoscopy) โดยแพทย์จะส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปยังกระเพาะปัสสาวะ เพื่อตรวจหาตำแหน่ง ขนาด จำนวนและรูปร่างของเนื้องอก และตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันว่าเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ เป็นชนิดใด และมีการลุกลามมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการตรวจด้วยวิธีนี้เป็นการตรวจที่แม่นยำและมีความสำคัญอย่างยิ่งในการวินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
  • การตรวจทางรังสีวิทยา อาทิ การตรวจอัลตราซาวนด์ไต ท่อไต และกระเพาะปัสสาวะ (Ultrasound KUB ) การตรวจไตและทางเดินปัสสาวะโดยการฉีดสี (intravenous pyelogram) และการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) บริเวณช่องท้องทั้งหมดเพื่อตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ นอกจากนี้ยังอาจมีการตรวจเอกซ์เรย์กระดูก และปอดหากสงสัยว่ามะเร็งจะลุกลามไปยังบริเวณดังกล่าว


วิธีการรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

แนวทางการรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ชนิด ระยะ ลักษณะความรุนแรงของมะเร็ง และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย โดยทั่วไปแล้วหากมะเร็งยังอยู่ในระยะแรก วิธีการรักษาได้แก่

  • การผ่าตัดโดยการส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปตัดเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ (transurethral resection of bladder tumor หรือ TURBT) เพื่อตัดหรือทำลายก้อนมะเร็งและนำเนื้อเยื่อมาตรวจว่าเป็นมะเร็งชนิดใด และลุกลามลึกถึงชั้นไหนของกระเพาะปัสสาวะ
  • ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยา ฆ่าเซลล์มะเร็ง ร่วมด้วยเพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ โดยจะใส่ยาฆ่าเซลล์มะเร็งผ่านสายสวนเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ ทิ้งไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นจึงให้ผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะทิ้งยาออกมา โดยจะทำทุกสัปดาห์ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 6 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย

ในกรณีที่มะเร็งลุกลามเข้าสู่ชั้นกล้ามเนื้อ หรือตั้งแต่ระยะที่ 2 ขึ้นไป แพทย์อาจต้องพิจารณาผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกทั้งหมด ร่วมกับการทำเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษาเพื่อลดการลุกลามและเกิดซํ้าของมะเร็ง

ทั้งนี้การผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกทั้งหมด (radical cystectomy) เป็นการตัดกระเพาะปัสสาวะออกพร้อมกับต่อมน้ำเหลืองโดยรอบ โดยผู้ป่วยชายต้องตัดต่อมลูกหมากและถุงเก็บอสุจิซึ่งอยู่ด้านหลังกระเพาะปัสสาวะติดกับต่อมลูกหมากออกด้วย ส่วนผู้ป่วยหญิงจำเป็นต้องตัดมดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ และช่องคลอดบางส่วนออก จากนั้นจึงใช้ลำไส้บางส่วนมาสร้างเป็นกระเพาะปัสสาวะใหม่ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถระบายน้ำปัสสาวะออกจากร่างกายได้โดยอาจใช้ถุงปัสสาวะ ใช้สายสวนผ่านผนังหน้าท้อง หรือใช้สายสวนผ่านท่อปัสสาวะ ขึ้นอยู่กับโรคและความต้องการของผู้ป่วย


เรียบเรียงโดย นพ. จรัสพงศ์ ดิศรานันท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านยูโรวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

           E-mail: [email protected]

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs