bih.button.backtotop.text

ส่วนประกอบการรักษา ส่วนผสมตัวยาที่เหมาะและพอดีกับผู้ป่วยมะเร็งแต่ละราย

          "บ่อยครั้งมักจะมีผู้ป่วย ซึ่งได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจเมื่อทราบว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็ง คนไข้ต้องการการดูแลเป็นพิเศษไม่ว่าจะเป็นทางร่างการและจิตใจ เมื่อคนไข้เหล่านี้ตัดสินใจที่จะมารักษากับทางโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เภสัชกรอย่างเรานั้น เข้าใจความรู้สึกและความต้องการของผู้ป่วยดีและเราได้เปลี่ยนข้ามอุปสรรคต่างๆในการรักษาให้เป็นรอยยิ้มและเพิ่มกำลังใจให้เขา รวมทั้งจัดผสมยาเพื่อรักษาเขาให้ดีที่สุด เรายินดีทุกครั้งที่ได้ทำ” ความใส่ใจที่เป็นมากกว่าแค่หน้าที่เภสัชกรของคุณ นิรชร คูชลธารา (Nirachorn Kuchonthara) Senior Manager, Pharmaceutical Admixture & Compounding Services ประจำศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งฮอไรซัน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

 

จัดเตรียมและผสมยาหลากหลายสูตรตามมาตรฐานการรักษาให้เหมาะและพอดีกับผู้ป่วยมะเร็ง

          หน้าที่หลักของฝ่ายเภสัชกรรมของ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งฮอไรซันนั้น เป็นผู้ที่จัดเตรียม ผสมยา สำหรับผู้ป่วยมะเร็งซึ่งในแต่ละเคสของผู้ป่วยนั้น ก็จะใช้ยาที่แตกต่างกันออกไป โดยคุณนิรชร ได้เล่าถึงการเตรียมและผสมยาว่า “ยาที่เราต้องจัดการดูแลนั้น จะมีทั้งยาที่เป็นอันตราย ต้องใช้ในการควบคุม และยาสะอาดปราศจากเชื้อ ซึ่งการให้บริการนั้นก็จะเป็นการจัดเตรียมยาฉีดทั่วไป ยาเคมีบำบัด และยาภูมิค้มกันบำบัด Immunotherapy สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ”
 
          “กว่าผู้ป่วยจะมาถึงฝ่ายของเรานั้น ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ ซึ่งผู้ป่วยจะต้องผ่านการวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาก่อน เช่นพบแพทย์ทางด้านปอด ด้านตับ หรือด้านระบบทางเดินอาหาร ศัลยแพทย์หรือ สูตินรีเวช และหากแน่ชัดแล้วว่าผู้ป่วยนั้นเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยก็จะถูกส่งมาให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวินิจฉัยอย่างละเอียด เมื่อรู้ผลจากการตรวจชิ้นเนื้อ รู้ระยะของโรค ก็จะมีทางเลือกในการรักษา ช่วงนี้ล่ะที่เรา (แพทย์และผู้ป่วย) จะมาพูดคุยปรึกษาในเรื่องของตัวยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยไปพร้อมๆกัน” คุณนิรชรอธิบายขั้นตอนกว่าที่จะมาถึงหน้าที่ของฝ่ายเภสัชกรรมที่เธอดูแลอยู่ ซึ่งสูตรยาในการรักษานั้น ล้วนแต่เป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและตัวผู้ป่วย และญาติ เนื่องจากสูตรยารักษามะเร็งตามมาตรฐานการรักษามีหลายสูตรแต่ละสูตรให้การตอบสนองและมีผลข้างเคียงแตกต่างกันไปตามสภาวะโรคและชนิดของเซลล์มะเร็ง แพทย์จะเป็นผู้อธิบายให้ผุ้ป่วยเข้าใจข้อดีและข้อเสียของแต่ละสูตร เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับผลการตอบสนองที่ดีที่สุดแต่ผลข้างเคียงน้อยที่สุดนำไปสู่การร่วมมือในการรักษา

Retouch-1200.jpg

          “เมื่อผู้ป่วยและแพทย์ได้ร่วมกันตัดสินใจและเลือกสูตรยาแล้ว บางทีอาจต้องการข้อมูลจากทางเภสัชกรเพิ่ม เราจะอธิบายลำดับการให้ยาที่ผู้ป่วยจะได้รับในแต่ละครั้ง อธิบายจำนวนการใช้ที่เกิดขึ้น ใช้จำนวนกี่ Cycle เป็นอย่างน้อย หรือมีสถิติหรือข้อมูลที่น่าสนใจในสูตรตัวยานี้อย่างไร มีโอกาสกลับเป็นซ้ำกี่เปอร์เซ็นต์ หรือจะรักษาได้หายกี่เปอร์เซ็นต์ รวมถึงอาหารเสริมหรือยาอื่นๆ ที่ผู้ป่วยรับประทานอยู่ที่อาจมีปฏิกิริยาระหว่างกัน หากผู้ป่วยยังมีข้อสงสัย อื่นๆ ที่เกี่ยวกับยาก็จะช่วยตอบข้อสงสัยนั้น”
 
Anatomy2-1200.jpg
 
          เมื่อได้ตัดสินใจเลือกสูตรตัวยาที่เหมาะและพึงพอใจแล้ว แพทย์ก็จะมีคำสั่งให้ยาส่งมายังแผนกเภสัชกรรม หน้าที่หลักของทางฝ่ายเภสัชกรรม ก็จะเป็นผู้เช็คสูตรให้ถูกต้อง เช็คขนาดยา จัดเตรียม ผสม และเลือกสารน้ำให้เหมาะสมเข้ากันได้กับตัวยาและเข้ากันได้กับผู้ป่วยนั้น นอกจากนั้นยังต้องประสานกับฝ่ายจัดซื้อและคลังยากรณีที่ยาในสูตรเป็นยาหายากและมี stock ไม่เพียงพอเพื่อจัดหายามาให้พร้อมใช้ “ไม่ใช่แค่ข้อมูลร่างกายทั่วไปที่เราดู แต่เราต้องดูถึงสุขภาพผู้ป่วยด้วย เช็ค Safety Profile เช็คเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดงว่าเป็นอย่างไร เช็คค่าแลปที่เกี่ยวกับตับกับไต หากต้องมีการปรับขนาดยาเภสัชกรก็จะปรึกษาแพทย์ ถ้าพร้อมให้ยาและได้รับการแจ้งมาจากพยาบาล เราก็จะผสมยาสำหรับผู้ป่วยคนนั้น ” เธอกล่าวเสริมถึงเรื่องความพิถีพิถันก่อนจะผสมยา
 

มากกว่าความเอาใจใส่ในการจัดและจ่ายยา

          นอกจากเรื่องของการเตรียมและผสมยาแล้วนั้น ยังมีเรื่องของการอธิบายผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดกับผู้ป่วยใหม่ หรือผู้ป่วยเก่าที่มีการเปลี่ยนแผนการรักษาอีกด้วย “เรามีเภสัชกรที่ช่วยอธิบายยาให้ผู้ป่วยฟัง ถ้าเป็นผู้ป่วยต่างชาติที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ เราจะประสานให้มีล่ามมาช่วยอธิบายไปพร้อมๆกันด้วย หรือในบางรายนั้นต้องมีนักกำหนดอาหารเข้าร่วมในการจัดยาด้วย เพราะถ้าร่างกายผู้ป่วยไม่พร้อมจะรับยาอาจเป็นผลเสียมากกว่า จึงต้องให้นักกำหนดอาหารช่วยอธิบายเรื่องอาหารการกินเสริมให้ผู้ป่วยมีความพร้อมในการรักษาและใช้ยา ผู้ป่วยบางรายนอนไม่ค่อยหลับ ซึ่งการนอนมีผลต่อผู้ป่วยมะเร็งมากโดยเฉพาะช่วงที่เม็ดเลือดถูกสร้างในช่วงเที่ยงคืนถึงตีสี่ ดังนั้นหากเขานอนในช่วงนั้นไม่ได้ จะทำให้เขามารับยามะเร็งไม่ได้ เราจึงต้องถามผู้ป่วยเสมอว่านอนได้ไหม ถ้าจำเป็นเราก็จะจ่ายยานอนหลับให้ ทุกรายละเอียดคือความห่วงใยและจะทำให้ผลการรักษานั้นดีตามไปด้วย” เธอได้อธิบายเพิ่มเรื่องการให้ความรู้เรื่องผลข้างเคียงของยา “ยาสเตียรอยด์ที่ป้องกันการคลื่นไส้อาเจียน อาจมีผลทำให้นอนไม่หลับ และการนอนไม่หลับมีผลต่อผู้ป่วยมะเร็งมาก เพราะเม็ดเลือดจะสร้างในช่วงเวลากลางคืน ดังนั้นถ้าเขานอนช่วงนั้นไม่ได้ ก็จะทำให้เขามารับยามะเร็งไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจะถามผู้ป่วยเสมอว่านอนได้ไหม ถ้าจำเป็นต้องได้ยานอนหลับก็ต้องให้ ซึ่งเราก็ให้คำอธิบายให้เขาสบายใจ เพราะทุกรายละเอียดคือความห่วงใย”
 
          จากประสบการณ์การทำงานของคุณนิรชร มามากว่า 15 ปี จึงทำให้ได้รับความไว้วางใจจากแพทย์และผู้ป่วยในเรื่องของยามาก ซึ่งเธอก็พร้อมที่จะช่วยสนับสนุนทุกอย่าง ที่เกี่ยวเนื่องในการรักษาด้วยยา และมีการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรในแผนกให้ทำงานด้วยใจและความแม่นยำในการจัดเตรียมและผสมยาอยู่เสมอ “ทุกๆ คนในฝ่ายเภสัชกรรมนั้น ล้วนแต่ทำงานด้วยใจ มีความเห็นอกเห็นใจผู้ป่วย พร้อมทำงานแม้จะเลยเวลางานแล้วก็ตาม เพราะคิดเสมอว่า ผู้ป่วยมะเร็งนั้น มีช่วงเวลาในการรักษาที่ต้องอดทนและพร้อมสู้ไปกับโรคอยู่เสมอ เราจึงเห็นใจเขา และทำงานอย่างพิถีพิถันที่สุด เพื่อให้เขาหายและกลับไปใช้ชีวิตดังเดิมได้” เธอกล่าวทิ้งทาย
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs