bih.button.backtotop.text

Tailor-made Surgery เพราะการผ่าตัดไม่ใช่เพียงการรักษาโรค

15 มิถุนายน 2563
หมอไม่เคยคิดว่าเป็นปัญหา หรือมีอุปสรรคอะไรในการรักษามะเร็ง ผู้ป่วยแต่ละรายก็มักจะมีสถานการณ์ มีเรื่องราวของตัวเองที่ต่างกัน ซึ่งเรามีหน้าที่ตัดชุดให้เหมาะกับเขาและเข้ากับเขาให้ดีที่สุด เพราะเราอยากให้เขาได้รับการรักษาที่ดี หายจากโรค และได้ชีวิตที่เป็นปกติสุขของเขากลับคืนมา” คำพูดที่แฝงไปด้วยความใส่ใจของคุณหมอปิยวรรณ เกณฑ์สาคู ศัลยแพทย์ทั่วไป และผู้เชี่ยวชาญด้านเต้านม ประจำศูนย์ Horizon Regional Cancer Center โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
 
ศัลยแพทย์เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่สำคัญ แต่ก็ไม่จำเป็นว่าผู้ป่วยทุกคนต้องผ่านมือของศัลยแพทย์ เพราะการรักษามะเร็งนั้นมีได้หลายรูปแบบ ทั้งการให้เคมีบำบัด การฉายแสง การผ่าตัด หรือบางครั้งก็ต้องทำควบคู่กันไปเพื่อให้ความเหมาะสมกับผู้ป่วยและเกิดผลลัพธ์ในการรักษาที่ดีที่สุด

 
“เคสต่างๆ ของผู้ป่วยก่อนจะมาถึงมือศัลยแพทย์นั้น ต้องผ่านการคัดกรอง การทำ Imaging ด้วย
แมมโมแกรมระบบดิจิตอลหรือตรวจอัลตร้าซาวน์ รวมทั้งการตรวจชิ้นเนื้อมาก่อน ทางเราจึงต้องวัดผลและประเมินผู้ป่วยให้ดี เพราะว่าการผ่าตัดผู้ป่วยที่เป็นหรือไม่เป็นมะเร็งนั้น เป็นคนละเรื่องกัน วิธีการจะแตกต่างกันออกไป” คุณหมอปิยวรรณอธิบายขั้นตอนก่อนจะมาถึงส่วนของการผ่าตัด “ในเรื่องลำดับขั้นตอนการรักษาของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เพราะอย่างผู้ป่วยที่มีระยะแพร่กระจายแล้ว การผ่าตัดเลยทันทีอาจไม่เหมาะสมนัก ต้องมีการให้เคมีบำบัดก่อน ถ้าร่างกายตอบสนองดี อวัยวะที่แพร่กระจายควบคุมได้ จึงจะมาถึงขั้นตอนของการผ่าตัดได้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องคอยเช็คเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยด้วย”

 
กระบวนการในการตัดสินใจ การวางลำดับขั้นตอนของการรักษานั้น เป็นการประสานงานกันของทีมที่ศูนย์ Horizon Regional Cancer Center โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งคุณหมอได้พูดถึงการตัดสินใจของผู้ป่วยกับคำแนะนำที่ดีเอาไว้ว่า “ผู้ป่วยเป็นคนสำคัญอย่างยิ่ง ในการร่วมตัดสินใจรักษาด้วยกันกับทีมหมอ เราต้องแชร์ข้อเท็จจริง คำแนะนำให้กับผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยมีทางเลือกหลายๆทาง เพื่อให้ผู้ป่วยสบายใจและตัดสินใจได้” คุณหมออธิบายเสริม “แต่ถ้ามีเคสที่ยากหรือพบได้น้อย ก็จะมีการนำเคสนั้นเข้าร่วมปรึกษากับทีมแพทย์และบุคคลากรที่เกี่ยวข้องที่ Tumor Board Conference อย่างเช่น เคสของมะเร็งผิวหนัง ที่บางเคสเป็นเมลาโนม่า มะเร็งเม็ดสี หรือ มะเร็งตับ ที่มีลักษณะ Anatomy ที่ซับซ้อนอยู่แล้ว การผ่าตัดจะไม่ง่ายเลย เราจะปรึกษากันภายในทีมว่าควรทำการรักษาอย่างไรก่อน การผ่าตัดด้วยวิธีไหนที่ดีที่สุด และจัดวางลำดับการรักษาให้ผู้ป่วยคนนั้นๆ และชี้แจงให้ผู้ป่วยทราบเพื่อได้ตัดสินใจเลือกการรักษาอย่างเหมาะสม”


doctor-(1).jpg


Experience Surgeon มากกว่าแค่การรักษา


“สิ่งที่คิดว่าเป็นความต่างของศัลยแพทย์ที่ศูนย์ Horizon Regional Cancer Center โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่ไม่เหมือนที่อื่นก็คือการเป็น Experience Surgeon ที่สามารถรักษาแบบองค์รวมและดูแลใส่ใจผู้ป่วยได้ อย่างเช่นเคสที่หมอพบบ่อยและพบมากที่สุดก็คือมะเร็งเต้านม การรักษาทั่วๆไป อาจตัดเต้านมทิ้งก็คือจบการรักษา แต่สำหรับเรา ต้องใส่ใจมากกว่านั้น” คุณหมอพูดถึงจุดเด่นของทีมศัลยแพทย์ “หมอคิดว่าการทำให้ร่างกายเป็นธรรมชาติที่สุด ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าไม่ได้ป่วยและเป็นปกติที่สุด นั่นคือสิ่งที่จะทำให้เรารู้สึกดีและเต็มที่ในการรักษานั้น การรักษามะเร็งเต้านมจึงใช้เรื่องของ Oncoplastic Surgery เข้ามาช่วย คือเราจะวินิจฉัยและพยายามให้ผู้ป่วยยังคงรักษาเต้านมของเขาไว้ได้ด้วยการผ่าตัดแล้วให้มีเต้านมเหมือนเดิม เช่นการนำเนื้อจากส่วนหลังหรือส่วนหน้าท้องมาทำเต้านมใหม่ หรือการใส่ซิลิโคนเพื่อทำเนื้อนมขึ้นมาใหม่ก็ได้ โดยพยายามทำให้เต้านมของผู้ป่วยเสียรูปน้อยที่สุด ซึ่งเมื่อผ่านการรักษาไปแล้ว ก็จะทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้ป่วย เขาคือคนปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนเดิม”



surgery-(1).jpg
 

คุณหมอเล่าถึงเคสที่ประทับใจให้ฟังว่า “มีผู้ป่วยผู้หญิงคนหนึ่งมารักษากับเรา เป็นผู้ป่วยที่ย้ายมาจากโรงพยาบาลอื่นและถูกวินิจฉัยว่าให้ตัดเต้านมและเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองออกให้หมด ซึ่งผู้ป่วยคนนั้นทุกข์ใจมาก กังวลเรื่องครอบครัว และชีวิตคู่อยู่ตลอด ซึ่งหมอทราบดีว่าหากทำอย่างนั้นจริง จะกระทบทั้งจิตใจและเกิดปัญหาร่างกายอย่างแน่นอน จึงได้ออกแบบการรักษา เริ่มจากการย้อมสีพิเศษซึ่งมะเร็งแต่ละคนนั้นก็มีลักษณะพิเศษเฉพาะไม่เหมือนกัน เราจึงใช้วิธีการย้อมเพื่อมาจับโปรตีนในยีนส์นั้น เมื่อขึ้นเป็นสีก็จะสามารถแยกลักษณะมะเร็งนั้นได้  เราก็พบว่าตอบสนองต่อการเคมีบำบัด และการรักษาแบบยาพุ่งเป้าได้ดี เราจึงปรึกษากัน และรักษาด้วยการใช้ยา เมื่อถึงเวลาผ่าตัดจริง ก็พบว่าก้อนเรื้อร้ายนั้นยุบลงเหลือขนาดแค่ 1 เซนติเมตร และต่อมน้ำเหลืองก็ไม่ต้องเลาะทิ้ง เต้านมก็ยังอยู่ จึงเรียกได้ว่าเป็น Complete Pathologic Response นั่นคือการพยากรณ์โรคที่ดี เก็บได้ทั้งเต้านมและลดโอกาสการเกิดแขนบวมได้อีกด้วย” คุณหมอเล่าด้วยรอยยิ้ม
 

สิ่งที่อยากบอกในฐานะศัลยแพทย์

“ความแข็งแรงของร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยมะเร็งมีผลมากต่อการรักษา ซึ่งผู้ป่วยที่มีแง่คิดที่ดี มีความคิดเชิงบวก ปฏิบัติตัวทั้งเรื่องการกินและออกกำลังกายดี ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีโอกาสหายและผ่านการรักษามาได้ด้วยดีเสมอ แต่สิ่งที่ดีที่สุดหากเป็นการรู้ตัวและตระหนัก (Early Detection) และตรวจเจอว่าเรามีความผิดปกติ หรือเป็นมะเร็งในระยะแรกๆ ก็จะทำให้โอกาสการรักษาแล้วหายขาดสูงไปด้วย ดังนั้นควรตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาลเป็นประจำทุกปีนะคะ” คุณหมอกล่าวทิ้งท้าย
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs