bih.button.backtotop.text

ควบคุมน้ำตาลช่วยผู้ป่วยเบาหวานจากโรคตา

01 มกราคม 2558

ควบคุมน้ำตาลช่วยผู้ป่วยเบาหวานจากโรคตา

ภาวะแทรกซ้อนสำคัญประการหนึ่งของโรคเบาหวานคือความผิดปกติที่เกิดกับดวงตา ไม่ว่าจะเป็นต้อกระจก จอประสาทตาบวม หรือเบาหวานขึ้นจอตา ซึ่งมักเกิดกับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นในที่สุด

งานวิจัยที่เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ใน New England Journal of Medicine ระบุว่าการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างเคร่งครัดช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยเบาหวานจะต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษาโรคเกี่ยวกับตาได้ถึงเกือบร้อยละ 50

งานวิจัยชิ้นนี้ทำในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 จำนวน 1,441 คน เป็นเวลา 10 ปี โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก 711 คนซึ่งต้องเข้าโปรแกรมควบคุมระดับน้ำตาลอย่างเข้มข้น และกลุ่มที่สองจำนวน 730 คน เป็นการดูแลตามมาตรฐานทั่วไป จากการติดตามผลต่อเนื่อง 23 ปี พบว่าผู้ป่วยที่ต้องเข้าผ่าตัดโรคตาจากเบาหวานมาจากกลุ่มแรก 63 คน จากกลุ่มที่สอง 93 คน โดยโอกาสที่ผู้ป่วยกลุ่มแรกจะต้องผ่าตัดต้อกระจกลดลงร้อยละ 48 ส่วนโอกาสเข้ารับการผ่าตัดน้ำวุ้นตาและจอประสาทตาลอกลดลงถึงร้อยละ 45

หมดกังวลเมื่อต้องรับบริจาคกระจกตา

โรคตาบางชนิดจำเป็นต้องรักษาด้วยการปลูกถ่ายกระจกตาจากผู้บริจาคเท่านั้น หลายคนอาจกังวลกับคุณภาพของกระจกตาที่ได้รับมาใหม่ โดยเฉพาะกระจกตาจากผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดอยู่ทั่วร่างกายรวมถึงในดวงตา

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยล่าสุดที่นำเสนอในงานประชุมประจำปีของสมาคมการวิจัยเกี่ยวกับสายตาและจักษุวิทยาแห่งประเทสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่ากระจกตาซึ่งได้รับจากผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจไม่มีความเสี่ยงอย่างที่เป็นห่วงกัน

นักวิจัยได้นำกระจกตาจากผู้บริจาคที่เป็นโรคเบาหวานจำนวน 1,486 ชิ้น และจากผู้บริจาคทั่วไปจำนวน 2,488 ชิ้น มาเทียบความหนาแน่นของเซลล์บุผิวหลอดเลือดซึ่งเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพของกระจกตา และพบว่าไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจนแต่อย่างใด

นอกจากผู้บริจาคที่เป็นเบาหวานแล้ว งานศึกษาอื่นๆ ยังเสริมอีกด้วยว่าอายุของผู้บริจาคก็ไม่มีผลต่อคุณภาพของกระจกตาเช่นกัน กล่าวคือกระจกตาจากผู้บริจาควัย 71 ยังคงคุณภาพดีไม่ต่างจากกระจกตาจากผู้บริจาควัย 35 ปีเมื่อติดตามผลหลังการปลูกถ่ายผ่านไปแล้ว 10 ปี

มองหาผักปลาผลไม้ เพื่อสายตาที่ดีอย่างยั่งยืน

สารอาหารบางชนิดไม่เพียงช่วยให้คุณมีสุขภาพดวงตาที่ดีเท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันโรคตาได้อีกด้วย

ทั้งนี้จักษุแพทย์จากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยโลโยลา ประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำว่าให้เน้นอาหารที่มีสีสันเข้าไว้ โดยเฉพาะสีเขียว น้ำเงิน และแดง พร้อมทั้งระบุสารอาหารที่ช่วยบำรุงตาเป็นพิเศษซึ่งได้แก่

  • แอสต้าแซนทิน ป้องกันโรคต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม และตาบอด พบมากในสาหร่ายและปลาแซลมอนในธรรมชาติ
  • โอเมก้า-3 ป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก พบในปลาที่มีไขมันสูงเช่น ปลาทูน่า ซาร์ดีน และแซลมอน
  • แอนโทไซยานิน ป้องกันโรคต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม ตาอักเสบ และภาวะเบาหวานขึ้นจอตา พบได้ในบลูเบอร์รี่ บิลเบอร์รี่ และแบล็กเคอร์แรนท์
  • ไบโอฟลาโวนอยด์ ป้องกันต้อกระจกและจอประสาทตาเสื่อม พบได้ในชา ไวน์แดง ผลไม้รสเปรี้ยว และเชอร์รี่
  • เบต้าแคโรทีน ป้องกันโรคตาบอดตอนกลางคืนและอาการตาแห้ง พบในแครอท มันเทศ ผักโขม คะน้า และฟักบัตเตอร์นัท
  • ลูทีนและซีแซนทีน ช่วยชะลอโรคจอประสาทตาเสื่อมจากอายุ มักพบในผักใบเขียวเข้ม สารสกัดจากดอกดาวเรือง และไข่แดง
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
          8.00-20.00  (BKK Time)
          02-0113984-5 and 02-113991

          20.00-8.00 (BKK Time)
          Contact center +662 066 8888 and  1378

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs