ผู้ป่วยเบาหวานควรให้ความสำคัญกับการดูแลเท้าและเล็บเท้าเป็นพิเศษ เพราะการเกิดแผลที่เท้าเพียงเล็กน้อยอาจนำไปสู่ปัญหาที่รุนแรงกว่าได้อย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่คุมภาวะน้ำตาลได้ไม่ดี จะเกิดแผลที่เท้าได้ง่ายเนื่องจากเส้นประสาทที่เท้าเสื่อม ทำให้เท้าชา ไม่รู้สึกเจ็บที่เท้าเมื่อเป็นแผล และยังทำให้ผิวหนังบริเวณขาและเท้าแห้ง คัน จนเกิดแผลได้ง่ายกว่าคนปกติ ประกอบกับภาวะการขาดเลือดไปเลี้ยงเท้าจากหลอดเลือดที่ปลายขาตีบ ยิ่งทำให้แผลที่เท้าหายยาก ส่งผลให้สูญเสียเท้าหรือขาได้ในที่สุด
รู้จักสัญญาณเตือนว่าเท้ามีปัญหา
ผู้ป่วย
เบาหวานทุกคนควรตระหนักถึงสัญญาณที่บ่งบอกว่าเท้าเริ่มมีปัญหา และรีบไปพบแพทย์โดยทันทีก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง โดยสังเกตได้จากอาการดังนี้
- รู้สึกแสบร้อนหรือเจ็บเท้า
- ชา ไม่รู้สึกถึงความร้อน ความเย็นที่เท้าหรือเวลาจับต้องเท้า
- ขนที่เท้า นิ้วเท้าและขาส่วนล่างร่วง
- มีแผลที่เท้า หนังแข็งที่เท้าหรือตาปลา
- ผิวหนังที่เท้าเปลี่ยนสีหรือรูปทรงนิ้วเท้าและเท้าผิดรูป
- เล็บเท้าหนาขึ้นและมีสีเหลือง เล็บขบ
ดูแลเท้าและเล็บเท้าอย่างไร จึงจะถูกวิธี
- ล้างเท้าให้สะอาดทุกวันโดยใช้น้ำอุ่นผสมสบู่อ่อนๆ ซับเท้าและซอกนิ้วเท้าให้แห้งอย่างระมัดระวัง ไม่ถูแรงๆเพราะอาจเกิดแผลถลอก ใช้ครีมบำรุงผิวชนิดอ่อนโยนทาผิวเท้าเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น และควรหลีกเลี่ยงการทาครีมบริเวณซอกนิ้วเท้า
- ตรวจเท้าให้ทั่วทั้งฝ่าเท้าและส้นเท้าทุกวันเพื่อดูความเปลี่ยนแปลง ความผิดปกติต่างๆ โดยใช้กระจกส่องในบริเวณที่มองเห็นไม่ชัด เช่น แผล รอยช้ำ รอยถลอก ผิวหนังเปลี่ยนสี รอยแห้งแตกที่เท้าและเล็บเท้า ตรวจซอกเท้าเพื่อดูรอยแผลหรือเชื้อรา
- ตัดเล็บเท้าหลังจากอาบน้ำในขณะที่เล็บยังนิ่มอยู่ ตัดเล็บเป็นแนวตรงและตะไบให้ขอบเล็บเรียบ อย่าปล่อยให้เล็บขบเข้าไปในเนื้อ อย่าตัดหนังเล็บหรือใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะแหลมทำความสะอาดใต้เล็บ
- สวมรองเท้าที่ใส่สบาย ใช้วัสดุที่นิ่มและระบายอากาศได้ดี เช่น รองหนังและรองเท้าผ้าใบ รองเท้าควรมีขนาดกำลังพอดี ไม่หลวม ไม่คับจนเกินไปเพื่อป้องกันการเสียดสีจนเกิดแผล เลือกรองเท้าที่ปรับขนาดได้ เช่น รองเท้าที่มีเชือกหรือเวลโก้ (Velcro) และรองเท้าที่มีหนุนกันกระแทก
- ไม่สวมรองเท้าส้นสูงหรือรองเท้าหัวแหลม ไม่สวมรองเท้าเปิดหัวหรือเปิดส้น เช่น รองเท้าแตะ
- ก่อนสวมรองเท้าให้ตรวจดูว่ามีกรวดเล็กๆอยู่ในรองเท้าหรือไม่เพราะทำให้เกิดบาดแผลได้
- สวมถุงเท้าที่สะอาดและแห้ง ไม่สวมถุงเท้าหรือถุงน่องที่รัดๆหรือมีตะเข็บเพราะจะทำให้กดทับขามากขึ้น
- สวมถุงเท้าหรือรองเท้าเมื่ออยู่ในบ้าน อย่าเดินเท้าเปล่า สวมถุงเท้าขณะนอนหากรู้สึกเย็นที่เท้า
- อย่าใช้แผ่นร้อนหรือกระเป๋าน้ำร้อนประคบที่เท้า ให้ปกป้องเท้าจากความร้อนและความเย็น
- ไม่กำจัดตาปลาหรือหนังแข็งที่เท้าออกด้วยตนเอง ควรไปพบแพทย์หรือผู้ชำนาญการด้านดูแลสุขภาพเท้า
- ผู้ป่วยเบาหวานควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปยังขาและเท้าได้ดีขึ้น ควรเลือกสวมรองเท้าที่ใส่สบายและหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายขณะที่มีแผลที่เท้า
ป้องกันเท้าติดเชื้อได้อย่างไร
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ลดหรือควบคุมน้ำหนักและรับประทานอาหารตามที่แพทย์แนะนำ จะสามารถช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ รวมถึงปัญหาที่เกี่ยวกับเท้า
- งดสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ทำให้หลอดเลือดตีบ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เท้า
- หากมีแผล รอยถลอกหรือปัญหาเกี่ยวกับเท้าเพียงเล็กน้อย ให้ปรึกษาแพทย์ทันที อย่าปล่อยทิ้งไว้
- การดูแลเท้าและเล็บเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวานมักทำได้ด้วยตัวเองได้ยากและไม่ปลอดภัย ทั้งจากปัญหาสายตาและปัญหาเส้นประสาท คลินิกดูแลเท้าและเล็บ ของศูนย์รักษาแผลแบบองค์รวม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีทีมผู้ชำนาญการเฉพาะด้านในการดูแลสุขภาพเท้าและเล็บสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพเท้าครอบคลุม ซึ่งรวมถึงบริการตัดเล็บและการตัดหนังฝ่าเท้า
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: