bih.button.backtotop.text

ออกกำลังกายถูกต้อง ป้องกันการบาดเจ็บ

การเล่นกีฬาและออกกำลังกายเป็นปัจจัยสำคัญของการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง แต่การออกกำลังกายที่ไม่ถูกวิธีและขาดความพอดี อาจนำมาซึ่งอาการบาดเจ็บได้ 

เป็นเรื่องน่ายินดีที่ปัจจุบัน ผู้คนส่วนใหญ่มีความเข้าใจในเรื่องการดูแลสุขภาพและหันมาออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามการออกกำลังกายให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั้น ควรเป็นไปอย่างเหมาะสมกับวัย สภาพร่างกาย ถูกท่า
ถูกวิธี ไม่น้อยเกินไปและไม่หักโหมจนเกินไป
 

การออกกำลังกายที่ไม่ถูกต้องอาจส่งผลลบต่อร่างกายได้หลายประการไม่ว่าจะเป็น การเกิดบาดแผล เป็นตะคริว ข้อแพลง กล้ามเนื้อฉีก ข้อหลุด หรืออาจถึงขั้นกระดูกหักในกรณีเล่นกีฬาที่ต้องมีการปะทะซึ่งเรื่องนี้ นพ. วิญญู รัตนไชย ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อมีคำแนะนำในการป้องกัน รวมไปถึงวิธีการปฏิบัติเมื่อเกิดการบาดเจ็บมาฝากคุณใน Better Health ฉบับนี้ 

 

แม้บางครั้งการออกกำลังกายอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บ แต่ในทางตรงกันข้าม การออกกำลังกายก็เป็นการป้องกันการบาดเจ็บที่ดีเช่นกัน เพราะการออกกำลังกายเป็นประจำจะทำให้ร่างกายมีความยืดหยุ่นและเกิดความเคยชิน “การบาดเจ็บส่วนใหญ่ มักเกิดกับคนที่ฝืนออกกำลังกายเกินพอดีจนร่างกายทำงานผิดพลาด ฉะนั้น การออกกำลังกายอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสม่ำเสมอจึงสำคัญมาก” นพ. วิญญูกล่าวออกกำลังกายอย่างไรไม่ให้บาดเจ็บ

 

การอบอุ่นร่างกาย (Warm up) ก่อนออกกำลังกาย และการยืดหรือคลายกล้ามเนื้อ (Stretching) หลังออกกำลังกายเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถป้องกันอาการบาดเจ็บได้เป็นอย่างดี “ระหว่างการอบอุ่นร่างกาย เลือดจะถูกส่งไปที่กล้ามเนื้อและสร้างความยืดหยุ่นให้กับเอ็นกล้ามเนื้อ เป็นการเตรียมความพร้อมให้ร่างกาย” นพ. วิญญูอธิบาย 
 

“ส่วนการยืดหรือคลายกล้ามเนื้อก่อนและหลังการออกกำลังกายก็มีส่วนช่วยลดการบาดเจ็บ โดยเฉพาะหลังออกกำลังกาย คุณจะสามารถยืดกล้ามเนื้อได้มากขึ้น จึงควรใช้ช่วงเวลานี้ยืดเอ็นกล้ามเนื้อเพื่อให้พร้อมในการออกกำลังครั้งต่อไป”
 

การสวมเครื่องป้องกัน เช่น สนับเข่า สนับแข้ง หมวกกันน็อค สามารถป้องกันการบาดเจ็บได้เช่นกัน แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะเครื่องมือเหล่านี้ช่วยได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น

เรื่องบาดเจ็บ จัดการได้

เมื่อเกิดการบาดเจ็บ อาการที่สังเกตได้โดยง่ายคือการปวด บวม ซึ่งเกิดจากเลือดที่ไหลออกมาจากกล้ามเนื้อที่ฉีกขาด หากสังเกตเห็นว่าตนเองมีอาการปวดบวมส่วนไหนแล้ว นพ. วิญญู แนะนำข้อควรปฏิบัติ เบื้องต้น 4 ประการที่มีอักษรย่อว่า RICE ดังนี้

 

“หากทำ RICE ไปแล้ว มีแนวโน้มดีขึ้น อาการปวดลดลง ก็ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ แต่ถ้ายังปวดมากขึ้นจนทนไม่ไหวก็ให้รีบมาพบแพทย์ เพราะอาจเกิดความผิดปกติที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น เลือดคั่งจากการที่กล้ามเนื้อฉีกขาดซึ่งอาจทำให้กล้ามเนื้อรอบ ๆ ตาย เป็นต้น”  นพ. วิญญูแนะนำ


อย่าลืมว่า แม้การออกกำลังกายอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บได้ แต่การไม่ออกกำลังกายเลย กลับเพิ่มความเสี่ยงให้กับร่างกายมากยิ่งกว่า เพราะเมื่อร่างกายไม่ได้รับการเตรียมพร้อม แม้การออกแรงในชีวิตประจำวันก็อาจทำให้บาดเจ็บได้เช่นกัน
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs