bih.button.backtotop.text

ส่องกล้องเย็บกระเพาะอาหารแบบไม่ต้องผ่าตัด ทำได้มากกว่าการลดน้ำหนัก


การส่องกล้องเย็บกระเพาะอาหารแบบไม่ต้องผ่าตัด (Bariatric Endoscopy) ทำได้มากกว่าการช่วยลดน้ำหนัก

การเย็บกระเพาะอาหารแบบไม่ต้องผ่าตัดด้วยการส่องกล้องผ่านทางปากมีประโยชน์ในหลายๆด้าน หลายคนอาจทราบมาบ้างว่า ในปัจจุบันมีวิธีการใหม่ในการลดน้ำหนักด้วยการส่องกล้องเย็บกระเพาะอาหารแบบไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการลดน้ำหนักด้วยการผ่าตัด นอกจากนี้การเย็บกระเพาะอาหารด้วยการส่องกล้องยังสามารถช่วยแก้ไขในกรณีที่คนไข้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหลังจากการผ่าตัดกระเพาะอาหาร (Bariatric surgery) และช่วยรักษาอาการแทรกซ้อนที่เกิดจากการผ่าตัดกระเพาะอาหารได้อีกด้วย
 

การส่องกล้องเย็บกระเพาะอาหารแบบไม่ต้องผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนัก (Endoscopic Sleeve Gastroplasty: ESG)
ใช้หลักการที่คล้ายคลึงกับการผ่าตัดกระเพาะอาหารด้วยวิธี Sleeve gastrectomy แต่เปลี่ยนเป็นการเย็บกระเพาะเข้าไป โดยใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายจักรเย็บผ้าที่ติดอยู่ที่ปลายกล้อง (OverStitchTM)  โดยแพทย์จะทำการส่องกล้องผ่านทางปาก แทนที่จะเป็นการตัดกระเพาะผ่านทางผนังหน้าท้อง ช่วยลดโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น กรดไหลย้อน มีรอยรั่ว รอยตีบและแผลติดเชื้อ ถึงแม้จะลดน้ำหนักได้ช้ากว่าก็ตาม
 
Endoscopic-sleeve-gastroplasty.jpg Laparoscopic-sleeve-gastroplasty.jpg
Gastric-balloon.jpg  


ถ้าเปรียบเทียบกับหัตถการวิธีอื่นๆ เช่น การลดน้ำหนักโดยใส่บอลลูนในกระเพาะ (Intragastric balloon) การส่องกล้องเย็บกระเพาะอาหารแบบไม่ต้องผ่าตัดมีโอกาสเกิดอาหารแทรกซ้อนน้อยกว่ามาก (เช่น ภาวะคลื่นไส้อาเจียน อาเจียนเป็นเลือด) ลดน้ำหนักได้มากกว่าและผลของการลดน้ำหนักอยู่ได้ต่อเนื่องยาวนานกว่า หรือถ้าเปรียบเทียบกับการลดน้ำหนักด้วยการเจาะหน้าท้องเพื่อเปิดให้อาหารออกมาผ่านทางผนังหน้าท้องหลังกินเสร็จ (Aspiration therapy) ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ค่อยนิยมกันในปัจจุบัน การส่องกล้องเย็บกระเพาะอาหารแบบไม่ต้องผ่าตัดมีโอกาสเกิดการติดเชื้อน้อยกว่ามากเพราะไม่ต้องเจาะหน้าท้องและสะดวกกับคนไข้มากกว่า ถึงแม้น้ำหนักที่ลดภายในระยะเวลา 12 เดือนจะใกล้เคียงกัน
 

การส่องกล้องเย็บกระเพาะอาหารแบบไม่ต้องผ่าตัดเพื่อแก้ไขน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นหลังจากการผ่าตัดกระเพาะอาหาร (Bariatric endoscopy for revisions of weight regain following bariatric surgery) 

ในกรณีที่คนไข้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหลังจากการผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนักด้วยวิธี Roux-en-Y gastric bypass หรือ Sleeve gastrectomy ซึ่งมักเกิดขึ้นในปีที่สองถึงปีที่ห้าหลังการผ่าตัด หากน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นถึง 15% ของน้ำหนักตัวเดิมที่เคยลดลงไปได้ อาจต้องแก้ไขซึ่งในบางกรณีไม่เหมาะสมต่อการแก้ไขด้วยวิธีผ่าตัด เช่น คนไข้มีพังผืดภายในช่องท้องมาก

  • การแก้ไขการผ่าตัดแบบ sleeve gastrectomy หากกระเพาะมีขนาดใหญ่ขึ้นจากขนาดเท่ากล้วยหอมเป็นขนาดเท่าลูกรักบี้และแพทย์พิจารณาแล้วว่าคนไข้ไม่เหมาะกับการผ่าตัดซ้ำ แพทย์สามารถใช้วิธีการส่องกล้องผ่านทางปากเพื่อเย็บกระเพาะ โดยการนำกล้องที่ติดปลายจะงอยซึ่งมีลักษณะเหมือนเครื่องเย็บผ้าอยู่ตรงปลายกล้อง ((OverStitchTM) เข้าไปเย็บกระเพาะเป็นชั้นๆเข้ามาจนกระทั่งขนาดของกระเพาะมีขนาดเล็กลงเท่าเดิม
Endoscopic-sleeve-gastroplasty.jpg
 
  • การแก้ไขการผ่าตัดแบบ Roux-en-Y gastric bypass การผ่าตัดกระเพาะอาหารแบบบายพาสจะเกิดขึ้นเมื่อศัลยแพทย์ ผ่าตัดแยกกระเพาะอาหารออกเป็น 2 ส่วน โดยที่ส่วนแรกจะมีขนาดเล็กเท่าไข่ไก่ (gastric pouch) ทำหน้าที่รับอาหารต่อจากหลอดอาหาร และส่งอาหารเข้าสู่ลำไส้เล็กโดยตรง โดยที่อาหารจะไม่ผ่านกระเพาะอาหารส่วนที่เหลือ (excluded stomach) อีกต่อไป ในกรณีที่กระเพาะไข่ไก่ขยายใหญ่ขึ้นหรือรอยต่อระหว่างกระเพาะไข่ไก่และลำไส้เล็กยืดขยาย จะส่งผลให้คนไข้สามารถทานอาหารได้มากขึ้น และจะทำให้น้ำหนักเพิ่มตามมาได้  
    Gastric-bypass.jpg

    แพทย์สามารถเย็บกระเพาะไข่ไก่ให้มีขนาดเล็กลงหรือเก็บรอยต่อระหว่างกระเพาะไข่ไก่และลำไส้เล็กให้แคบลงได้ โดยทำได้หลายวิธี เช่น
    • เทคนิค Argon Plasma Coagulation เป็นการนำอุปกรณ์จี้ไฟฟ้า ไปจี้ทำลายเนื้อดีของกระเพาะไข่ไก่ที่อยู่รอบๆรอยต่อระหว่างกระเพาะไข่ไก่และลำไส้เล็ก เพื่อให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อใหม่และมีการหดรั้งของเนื้อเยื่อตามมา ทำให้รอยต่อระหว่างกระเพาะไข่ไก่และลำไส้เล็กเล็กลง
    • เทคนิค TORe หรือ Endoscopic Transoral Gastric Outlet Reduction ประกอบไปด้วย 2 ขั้นตอน ซึ่งในขั้นตอนแรกจะเริ่มจากเทคนิค argon plasma coagulation จากนั้นแพทย์จะทำการเย็บระหว่างกระเพาะไข่ไก่ และลำไส้เล็ก โดยใช้อุปกรณ์ติดที่ปลายกล้อง (OverStitchTM) ซึ่งสอดผ่านทางปาก อุปกรณ์นี้จะมีลักษณะเหมือนจักรเย็บผ้า เพื่อทำการเย็บวนรอบรอยต่อระหว่างกระเพาะไข่ไก่และลำไส้เล็กแล้วรูดเก็บเหมือนกระเป๋าสตางค์ หรือเรียกว่า เทคนิค purse-string

การส่องกล้องเย็บกระเพาะอาหารแบบไม่ต้องผ่าตัด เพื่อแก้ไขภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดกระเพาะอาหาร (Management of complications from bariatric surgery)
ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด Sleeve gastrectomy และการผ่าตัด Roux-en-Y gastric bypass สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งการส่องกล้องเย็บกระเพาะอาหารแบบไม่ต้องผ่าตัดสามารถช่วยแก้ไขภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดเหล่านี้ได้ เช่น

  • แผลเลือดออกบ่อยๆ (Marginal ulcer) ซึ่งมักจะเกิดบริเวณรอยต่อระหว่างกระเพาะไข่ไก่และลำไส้เล็ก และในบางกรณีอาจไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาลดกรดเพียงอย่างเดียว แพทย์สามารถใช้กล้องติดเครื่องเย็บจักรเพื่อให้เนื้อดีตรงขอบแผลกลับมาชนกัน
  • รอยต่อระหว่างกระเพาะใหม่กับกระเพาะเก่ามาชนกัน (Gastrogastric fistula) ซึ่งทำให้อาหารจากหลอดอาหารไหลลงสู่กระเพาะไข่ไก่เข้าสู่กระเพาะอาหารเดิมโดยตรง เป็นเหตุให้คนไข้มีการดูดซึมอาหารมากขึ้น ส่งผลให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นตามมาได้ ปัญหานี้จึงเกิดในผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษาแบบ Roux-en-Y gastric bypass แพทย์จะทำการแก้ไขด้วยการใช้จี้ไฟฟ้าไปจี้รอบๆรอยต่อระหว่างกระเพาะไข่ไก่ (gastric pouch) และกระเพาะเดิม (excluded stomach) เพื่อให้แผลหดรั้งจนปิดเหมือนเดิมหรือนำคลิปอันใหญ่ๆเข้าไปครอบเพื่อให้รูปิดจนกระทั่งกระเพาะอาหารทั้งสองส่วนไม่มีทางเชื่อมต่อกันอีก อุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาเหล่านี้สามารถทำผ่านกล้องซึ่งสอดเข้าทางปากโดยไม่อาศัยการผ่าตัดแต่อย่างใด
  • รอยแยก รอยรั่ว (Leaks) รูปแบบของการรักษาขึ้นอยู่กับขนาดของรอยรั่ว ระยะเวลาที่เกิดรอยรั่ว และโรคร่วมของคนไข้ ซึ่งทีมแพทย์ที่ประกอบด้วยศัลยแพทย์และแพทย์ทางเดินอาหารที่มีประสบการณ์ถือเป็นหัวใจสำคัญ ว่าผู้ป่วยควรได้รับการรักษาแบบใด ในบางกรณีแพทย์สามารถส่องกล้องเพื่อเข้าไปเย็บหรือหนีบรอยแยก รอยรั่วได้เช่นกัน
  • รอยตีบ (Stenosis) แพทย์สามารถทำการขยายส่วนที่ตีบได้ด้วยบอลลูนหรือหลอดโลหะ (stent) โดยที่การขยายดังกล่าวจะต้องทำให้ไม่เกิดภาวะน้ำหนักเกินตามมา
  • นิ่วในท่อน้ำดี สำหรับบคนไข้ที่ทำ Roux-en-Y gastric bypass ในอดีตแล้วการนำนิ่วออกจากท่อน้ำดีจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากทางเปิดของท่อน้ำดีอยู่ในส่วนของลำไส้เล็กที่อยู่ใกล้กับกระเพาะเดิม และอยู่ไกลจากกระเพาะไข่ไก่ ในปัจจุบันแพทย์สามารถทำการเชื่อมต่อกระเพาะไข่ไก่และกระเพาะเดิมด้วยอุปกรณ์โดยใช้การส่องกล้องผ่านทางปากโดยไม่ต้องใช้วิธีผ่าตัดช่วย จากนั้นจึงทำการส่องกล้องเข้าไปในท่อน้ำดีเพื่อนำนิ่วท่อน้ำดีออกมาทางลำไส้เล็ก จากนั้นแพทย์จะทำการปิดรอยต่อระหว่างกระเพาะไข่ไก่และกระเพาะเดิมเพื่อไม่ให้คนไข้กลับมามีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เราทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดและผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้เป็นสำคัญ ทีมงานของเราประกอบด้วยแพทย์ผู้ชำนาญสูงหลากหลายสาขา เช่น ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญด้านการผ่าตัดกระเพาะอาหารลดน้ำหนัก แพทย์ผู้ชำนาญการด้านการส่องกล้องเย็บกระเพาะอาหาร และทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีประสบการณ์และมีความรู้ในการดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดี ทำให้เราสามารถรักษาโรคและแก้ไขอาการที่ซับซ้อนได้อย่างประสบความสำเร็จ



 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
          8.00-20.00  (BKK Time)
          02-0113984-5 and 02-113991

          20.00-8.00 (BKK Time)
          Contact center +662 066 8888 and  1378

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs