เอชไอวีและเอดส์เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตทั่วโลก และยังเป็นโรคที่คุกคามมนุษยชาติที่ร้ายแรงที่สุดโรคหนึ่งในปัจจุบันนี้
องค์การอนามัยโลก ได้เปิดเผยข้อมูลว่าในปี 2015 มีประชากรติดเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์จำนวน 36.7 ล้านคนทั่วโลก
เอชไอวีและเอดส์คืออะไร
โรคเอดส์เป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี เอชไอวีซึ่งย่อมาจากคำว่า human immunodeficiency virus เป็นเชื้อไวรัส ในขณะที่โรคเอดส์หรือ acquired immune deficiency syndrome คือกลุ่มอาการของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อเอชไอวีซึ่งเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกเชื้อไวรัสทำลายจนร่างกายของผู้ป่วยไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคทั้งหลายที่เข้าสู่ร่างกายได้
ผู้ติดเชื้อเอชไอวีอาจไม่พัฒนาอาการจนเป็นผู้ป่วยโรคเอดส์เต็มขั้น
ผลกระทบของเอชไอวีและเอดส์ที่มีต่อร่างกายมนุษย์
เมื่อร่างกายติดเชื้อเอชไอวี เชื้อเอชไอวีจะโจมตีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลงจนไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้ จนในที่สุดเชื้อไวรัสจะโจมตีร่างกายทั้งหมด
เป้าหมายของเอชไอวีคือการทำลายเซลล์ที่มีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคและการติดเชื้อไวรัสต่างๆ เซลล์นี้มีชื่อว่า CD4 (หรือเซลล์ T-helper) เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีความสำคัญต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เอชไอวีทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของผู้ติดเชื้ออ่อนแอลงจนทำให้เกิดโรคต่างๆได้ง่าย ในขณะที่คนที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่แข็งแรงจะสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคเหล่านี้ได้ดีกว่า
ความช้าเร็วของการดำเนินโรคและผลกระทบที่เชื้อเอชไอวีมีต่อร่างกายขึ้นอยู่กับผู้ติดเชื้อแต่ละคน ปัจจัยหลายอย่างเช่น สุขภาพและอายุ รวมถึงความช้าเร็วในการได้รับการรักษา ล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินโรคทั้งสิ้น คนบางคนสามารถติดเชื้อเอชไอวีนานหลายปีโดยไม่มีอาการของโรคเอดส์
ปัจจัยที่อาจทำให้การติดเชื้อเอชไอวีพัฒนาเป็นอาการของโรคเอดส์รวดเร็วขึ้นนั้น ยังคงรวมถึงปัจจัยทางกรรมพันธุ์ การมีอายุมากขึ้น ภาวะโภชนาการไม่ดี หรือติดเชื้อร่วมกับโรคอื่น เช่น ตับอักเสบซีหรือวัณโรค
การติดเชื้อเอชไอวี
คนสามารถติดเชื้อเอชไอวีโดยการสัมผัสกับเลือด น้ำอสุจิ ของเหลวจากช่องคลอด หรือแม้แต่น้ำนมแม่ สาเหตุการแพร่เชื้อส่วนใหญ่มาจากการมีเพศสัมพันธ์และการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือส่งผ่านจากแม่สู่ลูกระหว่างการตั้งครรภ์
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนควรมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเข็มฉีดยาที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อโรค ไม่ว่าจะระหว่างการไปพบแพทย์หรือการใช้เพื่อนันทนาการ
ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสาเหตุของการติดเชื้อเอชไอวี ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อเอชไอวีจากการจับมือทักทาย การกอด การจูบ การจาม การใช้ห้องน้ำร่วมกัน การใช้ภาชนะและช้อนส้อมร่วมกันหรือการสัมผัสในรูปแบบอื่นๆที่ไม่ทำให้ติดเชื้อเอชไอวี การทำกิจกรรมที่กล่าวมานี้ ไม่สามารถทำให้ติดเชื้อเอชไอวีได้
การติดเชื้อเอชไอวี 3 ระยะ
ระยะเฉียบพลัน (Acute HIV Infectious) เป็นระยะแรกของการติดเชื้อเอชไอวี เกิดขึ้นระหว่าง 2-4 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อ ในระยะนี้ผู้ติดเชื้อจำนวนมากจะเริ่มมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดเมื่อยตามร่างกาย มีผื่นและปวดหัว อาการเหล่านี้เรียกว่า acute retroviral syndrome หรือ ARS เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อเอชไอวี
ในระยะนี้ เชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนอย่างมากในร่างกาย ทำให้เซลล์ CD4 ในร่างกายลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เป็นระยะที่มีความเสี่ยงสูงมากที่ผู้ติดเชื้อจะแพร่กระจายไวรัสไปยังผู้อื่น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวี
อย่างไรก็ตาม หลังจากระยะเฉียบพลัน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะค่อยๆ ทำให้ปริมาณของเชื้อไวรัสอยู่ในระดับคงที่ หรือเรียกว่า viral set point หมายความว่าเชื้อไวรัสมีปริมาณที่คงที่ในร่างกายและปริมาณเซลล์ CD4 เริ่มเพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่จะไม่สูงเท่ากับก่อนติดเชื้อ
ระยะถัดมาคือ ระยะสงบทางคลินิก (Clinical Latency Stage) เป็นระยะที่เชื้อไวรัสอยู่ในร่างกายโดยไม่แสดงอาการใดๆ หรืออย่างมากที่สุดคือมีอาการเพียงเล็กน้อย บางครั้งเรียกระยะนี้ว่า ระยะติดเชื้อเรื้อรัง (chronic HIV infection) หรือ ระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ (asymptomatic HIV infection) ในระยะนี้ไวรัสจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นในระดับต่ำ และมักจะใช้เวลานานถึง 10 ปี แต่สำหรับผู้ติดเชื้อบางคนอาจใช้เวลาน้อยกว่านั้น
ระยะสุดท้ายคือ ระยะโรคเอดส์ (AIDS) เป็นระยะที่การติดเชื้อเอชไอวีได้พัฒนาเป็นโรคเอดส์
ระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงมีปริมาณเซลล์ CD4 อยู่ระหว่าง 500 ถึง 1,600 ในขณะที่ผู้ป่วยโรคเอดส์มี CD4 ต่ำกว่า 200 เมื่อถึงจุดนี้ระบบภูมิคุ้มกันได้ถูกทำลายอย่างรุนแรงจนผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อฉวยโอกาส (opportunistic infections) ซึ่งเกิดจากเชื้อโรคที่ไม่ก่อให้เกิดโรคในคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง แต่จะทำให้เกิดโรคกับผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ แต่ไม่ว่าผู้ติดเชื้อมีปริมาณ CD4 เท่าใดก็ตาม หากมีอาการติดเชื้อฉวยโอกาสอย่างใดอย่างหนึ่งหรือมากกว่าถือว่าผุ้ติดเชื้อนั้นเป็นโรคเอดส์
อาการของโรคเอดส์
อาการของโรคเอดส์มีดังนี้
- ปอดอักเสบ
- สูญเสียความจำ อาการซึมเศร้าและอาการทางระบบประสาทอื่นๆ
- ท้องเสียเรื้อรังนานกว่าหนึ่งสัปดาห์
- เหนื่อยผิดปกติ
- อาการไข้ที่กลับมาเป็นซ้ำๆ
- เหงื่อออกตอนกลางคืน
- น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
- มีผื่นตามผิวหนัง ในช่องปาก จมูกและเปลือกตา
- แผลที่ริมฝีปาก อวัยวะเพศและทวารหนัก
- อาการบวมที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ รักแร้และขาหนีบ
อาการของโรคเอดส์อาจเป็นอาการของโรคอื่นที่ไม่ใช่โรคเอดส์ก็ได้ ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะรู้ว่าติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ ควรทำการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี (HIV test)
การรักษาการติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ให้หายขาดได้ แต่มียาหลายชนิดที่ช่วยรักษาอาการติด
เชื้อเอชไอวี
มียารักษาอาการติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ที่ได้รับการรับรองมากกกว่า 25 ชนิด เรียกว่า ยาต้านรีโทรไวรัส (antiretroviral drugs หรือเรียกย่อว่า ARV) ซึ่งทำหน้าที่ยับยั้งหรือต้านการแบ่งตัวของเชื้อ เอชไอวี รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคสู่คนอื่น
การรักษาอาการติดเชื้อเอชไอวีประกอบด้วยการใช้ยาต้านไวรัสในกลุ่ม ARV หลายชนิดรวมกันเพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อ หรือเรียกว่า Antiretroviral therapy (ART) วิธีการนี้เป็นการรักษาโรคโดยการควบคุมไวรัสไม่ให้ขยายพันธุ์ ทำให้ผู้ติดเชื้อมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อสู่คนอื่น ในปัจจุบันวงการแพทย์แนะนำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกคนรับการรักษาด้วย ยา ARV
หากกังวลว่าตัวเองอาจติดเชื้อเอชไอวีภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง (3 วัน) สามารถใช้ยา ARV หลังสัมผัสโรค (post-exposure prophylaxis หรือชื่อย่อว่า PEP) เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ ผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อจำเป็นต้องได้รับยาให้เร็วที่สุดภายในเวลา 3 วันหลังจากสัมผัสเชื้อเอชไอวีเพื่อให้การป้องกันมีประสิทธิผล
นอกจากนี้ ยา ARV สามารถใช้ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนสัมผัสโรค (Pre-exposure prophylaxis หรือชื่อย่อว่า PrEP) ใช้ในผู้ไม่มีเชื้อเอชไอวีแต่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีสูง และต้องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อต้องรับประทานยาทุกวันเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
ทำไมจึงจำเป็นต้องทำการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี
ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม หากคุณกังวลเพียงเล็กน้อยว่าคุณอาจติดเชื้อเอชไอวี คุณควรทำการตรวจเลือด เป็นวิธีการที่รวดเร็วและง่ายดายและบริการฟรีในหลายๆ แห่ง
วิธีการเดียวที่จะรู้ว่าคุณติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่คือการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวี การตรวจเลือดแต่เนิ่นๆ ช่วยลดความกังวลใจและทำให้คุณได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง
หากคุณติดเชื้อเอชไอวี การได้รับการวินิจฉัยแต่เริ่มแรกทำให้คุณสามารถดูแลสุขภาพของตัวเองและคู่ครองรวมถึงคนอื่นที่คุณห่วงใย ถึงแม้ผลเลือดจะบ่งชี้ว่าคุณมีการติดเชื้อ การได้รู้ว่าตัวเองมีการติดเชื้อจะทำให้คุณสามารถดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองและใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม
โดย นพ. อนุวัฒน์ กีระสุนทรพงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: