PrEP คืออะไร?
Pre-exposure prophylaxis (PrEP) เป็นการการใช้ยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี สำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวี แต่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อเอชไอวี
ใครบ้างที่ได้ประโยชน์จากการใช้ PrEP?
พิจารณาแนะนำการใช้ PrEP ในผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการสัมผัส HIV ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และอาจมีแนวโน้มจะมีพฤติกรรมเช่นนี้ต่อไป:
- มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย กับคู่ประจำที่ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังไม่ได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวี หรือยังกดไวรัสไม่สำเร็จ
- มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย กับผู้ที่ไม่ทราบผลการติดเชื้อเอชไอวี
- มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน ซิฟิลิส
- ใช้สารเสพติดซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี เช่น สารกลุ่มแอมเฟตามีน
- มีการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ที่ไม่ทราบผลการติดเชื้อเอชไอวี
PrEP ประกอบด้วยยาอะไรบ้าง?
PrEP ประกอบไปด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี โดยสูตรยารับประทานที่ใช้เป็นหลักจะเป็นสูตรผสมระหว่างยา tenofovir disoproxil fumarate (TDF) และ emtricitabine (FTC) หรือ tenofovir alafenamide (TAF) และ emtricitabine (FTC)
รูปแบบการรับประทานยา PrEP มีกี่ประเภท?
รูปแบบการรับประทานยา PrEP ที่แนะนำให้ใช้เป็นหลักคือ การรับประทาน PrEP แบบทุกวัน (Daily PrEP) โดยวิธีการรับประทานยาคือ ให้รับประทานยา PrEP วันละ 1 เม็ด อย่างตรงเวลาสม่ำเสมอ ตลอดในช่วงที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี
นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการรับประทานยา PrEP อีกรูปแบบหนึ่งคือ การรับประทาน PrEP เฉพาะช่วง (On-demand PrEP) โดยเป็นการรับประทานยา PrEP 2 เม็ด ในช่วง 2-24 ชั่วโมงก่อนการมีเพศสัมพันธ์ และรับประทานต่อเนื่องวันละ 1 เม็ด ไปจนถึง 2 วันหลังมีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย อย่างไรก็ตาม การรับประทานยา PrEP รูปแบบนี้ มีข้อมูลการศึกษาจำกัดเฉพาะกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายเท่านั้น
สิ่งสำคัญที่ควรทราบเกี่ยวกับ PrEP คือ แม้ว่า PrEP จะเป็นทางเลือกในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี แต่ PrEP ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น ซิฟิลิส หนองในได้ จึงควรใช้วิธีป้องกันอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ทำอย่างไรเมื่อต้องเริ่ม PrEP?
ก่อนเริ่มยา PrEP จะต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อคัดกรองสถานะการติดเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี การตรวจการตั้งครรภ์ การตรวจค่าการทำงานของไต รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ และเมื่อเริ่มรับประทานยา PrEP แล้ว ควรมีการนัดตรวจติดตามผลกับแพทย์และตรวจติดตามการติดเชื้อเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะก่อนการหยุดยา
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อที่ได้ที่ Pride clinic รพ.บำรุงราราษฎร์ 08.00-20.00 น. และ ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: