bih.button.backtotop.text

Bumrungrad Podcast EP.18 ข้อเข่าเสื่อมรักษาได้

ข้อเข่าเสื่อม อีกหนึ่งสาเหตุทำให้เดิน ลุกนั่งไม่สะดวก และเกิดความเจ็บปวดทรมานจนใช้ชีวิตลำบากได้ มารับฟังวิธีป้องกัน ไปจนถึงวิธีการรักษาข้อเข่าเสื่อม ไว้เป็นทางเลือกสำหรับคุณผู้ฟังที่อาจจะกำลังประสบกับปัญหานี้อยู่



ร่างกายของคนเราเสื่อมลงทุกวัน และอาการเสื่อมบางประเภทก็ส่งผลกับการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก โดยเฉพาะข้อเข่า เมื่อเกิดอาการเสื่อมขึ้นมาทำให้เดินเหินลุกนั่งไม่สะดวก ในบางรายมีอาการเจ็บปวดทรมานจนใช้ชีวิตลำบาก และมีผลกระทบกับคุณภาพชีวิต ในบทความนี้เราจะพูดถึงวิธีการรับมือและการรักษาข้อเข่าเสื่อมโดย นพ. ชาลี สุเมธวานิชย์ แพทย์ผู้ชำนาญการ ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อและข้อเทียม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ถึงที่มาที่ไปของปัญหาและวิธีการรักษาข้อเข่าเสื่อม
 
สาเหตุข้อเข่าเสื่อมเกิดจากอะไรได้บ้าง
โดยทั่วไปที่เจอได้มากที่สุดในคนไทยก็คือ เราใช้ข้อเข่ามาเป็นเวลานาน คนเราใช้ข้อเข่ามานาน 50-60ปี บางคนก็ 70 ปี เพราะฉะนั้นมันมีการสึก การเสื่อมไปตามสภาพอยู่แล้ว ร่างกายของเรา มันทนกับการใช้งานมาได้เยอะเมื่อเทียบกับเครื่องจักรอื่นๆ เนี่ย 50-60-70 ปีนี่ถือว่าดีมากๆ แล้ว แต่มันก็ต้องมีเสื่อมไปตามสภาพ เมื่อมีการเสื่อมไปตามสภาพ ก็ทำให้เกิดมีอาการของข้อเข่าเสื่อมตามมา

 
พฤติกรรมแบบไหนที่อาจจะทำให้ข้อเข่าเสื่อมได้
สาเหตุอื่นๆ ทำให้ข้อเข่าเสื่อม อย่างเช่น โรคข้ออักเสบ โรครูมาตอยด์ จากอุบัติเหตุ มีเส้นเอ็นฉีกขาด เส้นเอ็นในข้อเข่าฉีกขาด กระดูกรอบๆ ข้อเข่านี่แตกเข้าไปในข้อเข่า ก็ทำให้ข้อเข่ามันเสื่อมเร็วมากขึ้น ในกลุ่มนี้ ซึ่งจะเจอในคนที่อายุน้อยลงไปเรื่อยๆตามลำดับ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีการข้อเข่าอักเสบ หรือมีการกระดูกหักเข้าไปในข้อนั้น
 
 
สัญญาณแบบไหนที่จะเป็นสัญญาณเตือนว่า ข้อเข่าเราเริ่มที่จะเสื่อมแล้ว
โดยทั่วไปมันเริ่มต้นจากที่ว่า มีอาการปวดหลังจากการใช้งานมาทั้งวัน ปวดเริ่มต้นจากการปวดเมื่อยธรรมดาก่อน อันนี้คือจุดเริ่มต้นแรกสุดเลย หลังจากที่ปวดแบบนี้แล้ว จะเริ่มมีปวดในขณะใช้งาน ตอนใช้ชีวิตประจำวัน หรือการออกกำลังกาย เมื่อใดก็ตามที่มีการใช้งานของตัวข้อเข่า ข้อเข่าที่มันสึกหรือในเสื่อมไปแล้วจะทำให้มีอาการปวดขึ้นมา ซึ่งอาการปวดมันขึ้นอยู่กับหลายๆ อย่าง โดยส่วนมากแล้วการปวดของตัวข้อเข่าเสื่อม ปวดจาก 2 องค์ประกอบด้วยกัน องค์ประกอบแรกก็คือว่า ผิวข้อที่มันสึกไปทั้งหมดแล้ว ทำให้กระดูกกับกระดูกมาชนกัน โดยทั่วไปตัวผิวข้อไม่มีเส้นประสาทรับความรู้สึก เมื่อผิวข้อสึกไปเรื่อยๆ จนหมดแล้ว ตัวกระดูกกับกระดูกมาชนกัน ตรงกระดูกแข็งของเราจะมีเส้นประสาทอยู่ ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บความรู้สึกปวดได้

นอกจากนั้นในตัวข้อเข่าของเรายังมีตัวผิวเยื่อบุข้อซึ่งพอมีการอักเสบแล้ว ก็ทำให้มีอาการเจ็บปวด การอักเสบทำในตัวข้อเข่าหรือตัวผิวข้อเข่า มันทำให้อาการปวดนั้นมันต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งการรักษา มันก็ขึ้นอยู่กับใช้รักษาทั้งลดอาการอักเสบ และก็การรักษาข้อเข่าเสื่อมที่มันมีการสึกหรอของข้อเข่าเป็น 2 องค์ประกอบในการรักษา
 
 
ลักษณะของอาการข้อเข่าเสื่อม
  • มีอาการปวดเข่าเป็นๆ หายๆ ในระยะเวลายาวนาน ปวดตอนขณะการใช้งาน หรือเดินขึ้นลงบันได
  • มีอาการปวดจี๊ด หรือว่ามีอาการเสียวๆ ที่เข่า เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่ามีอาการอักเสบของตัวเส้นเอ็นและเยื่อบุ
  • มีเสียงกรอบแกรบที่เข่าเวลาเคลื่อนไหว เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่ามีผิวข้อมันเริ่มสึกไปแล้ว
  • มีอาการเจ็บเมื่อกดตรงจุดบริเวณที่ปวด
  • มีอาการบวมร้อนที่บริเวณเข่า และในผู้ป่วยบางรายที่มีการอักเสบของข้อเข่าที่มีการอักเสบมากๆ หรือมีอาการรุนแรงจะมีข้อเข่าบวมและมีน้ำในข้อเข่า
 
วิธีการป้องกันข้อเข่าเสื่อม
  • หลีกเลี่ยงการใช้งานข้อเข่าหนักมากเกินไป และใช้งานในท่าทางที่ถูกต้อง
  • เน้นการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า เพื่อเป็นการช่วยรับน้ำหนักของตัวข้อเข่า และลดการทำงานของเข่าให้น้อยลง
การป้องกันที่ดีที่สุดคือ เมื่อเข่าเริ่มมีปัญหาเริ่มต้นมีปัญหาเล็กๆน้อยๆ ให้ลองมาปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันปัญหาแต่เนิ่นๆ

 
แนวทางวิธีการการรักษาข้อเข่าเสื่อม
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานของเข่า เพื่อลดอาการเสื่อมในระยะแรกๆ หากยังไม่ดีขึ้น ควรหากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาในขั้นต่อไป
  • การทานยารักษาอาการปวดและอาการอักเสบ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการอาการระยะเบื้องต้น
  • การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัดด้วยการฉีดยาเข้าข้อเข่า ควบคู่ไปกับการทำกายภาพบำบัด - สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการระยะเบื้องต้น ถึงระยะกลาง
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ควบคู่ไปกับการทำกายภาพบำบัด – สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากและเรื้อรัง
เมื่อแพทย์ประเมินระดับความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อมแล้ว จะแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วย โดยจะพิจารณาเริ่มการรักษาแตกต่างกันเป็นรายบุคคลไป เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีข้อบ่งชี้และข้อจำกัดที่แตกต่างกัน


อาการขั้นไหนควรได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด
สำหรับการผ่าตัดจะต้องมีการประเมินหลายอย่างว่าคนไข้สมควรจะผ่าหรือไม่ และประโยชน์ที่คนไข้จะได้รับอย่างมากที่สุด สิ่งสำคัญคือเราต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไข้ให้กลับมาใช้ชีวิตปกติได้เหมือนเดิม

 
เรื่องของอายุมีผลกับการผ่าตัดหรือไม่
เราไม่ได้ประเมินที่อายุเป็นสำคัญ เราประเมินที่การผ่าตัดนั้นสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ให้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้หรือไม่  และขึ้นอยู่กับปัจจัย lifestyle ของแต่ละคน บางคนอาจจะเป็นแนว active มาก บางคนอาจจะไม่ค่อยทำกิจกรรมอะไรมากนัก เพราะฉนั้นแพทย์และคนไข้จะต้องคุยหารือร่วมกันในการตัดสินใจทำการผ่าตัด
 
 
วิธีการผ่าตัดมีกี่รูปแบบ แต่ละรูปแบบมีผลดีอย่างไร
มาตรฐานในการผ่าตัดนั้น มีแบ่งง่ายๆ ได้เป็น 2 อย่าง อย่างแรกคือแบบไม่ใช้ข้อเทียม อย่างที่สองคือใช้ข้อเทียม แบบไม่ใช้ข้อเทียม การผ่าตัดแบบส่องกล้อง การผ่าตัดจัดมุมกระดูกใหม่ สำหรับคนที่ข้อเข่าโก่งมากๆ อายุยังน้อยๆ การ จัดมุมให้ข้อเข่าตรงขึ้น เพื่อส่วนที่สึกไปไม่ต้องรับน้ำหนัก

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมก็แยกได้ใหญ่ๆ เป็น 2 อย่าง อย่างแรกก็คือเปลี่ยนข้อเทียมเฉพาะบางส่วน คือเปลี่ยนเฉพาะส่วนที่สึก อันนี้ใช้ในคนที่มีการสึกของตัวข้อเข่าเฉพาะด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านในที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ว่า เมื่อมันมีการสึกเฉพาะด้านในเยอะ เราควรเปลี่ยนเฉพาะด้านในที่มันสึกก่อน อันที่สองก็คือการเปลี่ยนข้อทั้งหมด เปลี่ยนทั้งหมดข้อก็คือว่าเปลี่ยนข้อเทียมใหม่ เพราะฉะนั้น 2 แบบนี้ มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน การเปลี่ยนเฉพาะด้านอาจทำให้อาการดีขึ้น แต่ต่อไปถ้าเกิดว่าส่วนอื่นๆ ของตัวข้อเข่าสึกมากขึ้น ก็อาจจะต้องมาเปลี่ยนอีกครั้ง

 
ข้อเทียมสามารถทดแทนข้อเดิมได้ 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่
ข้อเทียมสามารถทดแทนเท่ากับข้อปกติโดยประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีข้อดีกว่าข้อเข่าที่มันเสื่อมไปแล้วที่ใช้งานได้แค่ 40-50เปอร์เซ็นต์

 
อาการข้อเข่าเสื่อมสามารถเกิดขึ้น 2 ข้างพร้อมกันหรือไม่
โดยทั่วไปในคนที่สูงอายุที่ไม่มีการเกิดอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บของข้อเข่ามาก่อน คนบาดเจ็บของข้อเข่ามาก่อนมักจะเป็นข้างเดียว แต่ถ้าเกิดว่าเสื่อมตามอายุ เสื่อมตามการใช้งานมักจะเป็น 2 ข้าง โดยเริ่มต้นเจ็บข้างเดียวก่อน แล้วซักพักก็มาเจ็บอีกข้าง เมื่อเราเจ็บข้างใดข้างหนึ่ง เราจะใช้อีกข้างเยอะและจะสึกตามกันมา สุดท้ายก็สึกไปเรื่อยๆ เป็นอาการเสื่อมทั้งสองข้าง

 
การผ่าตัดควรผ่าพร้อมกันหรือผ่าทีละข้าง
อย่างแรกมี 2 อย่าง คำว่าผ่าตัดพร้อมกัน ต้องคุยกันดีๆผ่าตัดพร้อมกันคือแพทย์ 2 ทีมผ่าพร้อมกัน 2 ข้าง เริ่มต้นพร้อมกันจบพร้อมกัน อันที่ 2 คือว่าผ่าตัดครั้งหนึ่ง 2 ข้างแต่ว่าผ่าข้างนึงก่อนเสร็จแล้วมาผ่าอีกข้าง อันนี้ต้องเคลียร์กันดีๆ ผ่าตัดแบบแรกมีแต่น้อยมากเพราะว่าทำทีเดียวพร้อมกัน 2 ข้างมันเกิดอะไรเยอะแยะมากมายมีแต่น้อยมาก แต่ถ้าแบบว่าทำข้างนึงเสร็จแล้วทำอีกข้างนึงภายในการผ่าตัดครั้งเดียว แบบนั้นก็มีแบบนั้นก็ทำได้ แต่โดยทั่วๆไปแล้ว หลายคนก็กลัวเขาก็ผ่าทีละข้างได้ทั้ง 2 แบบครับ

 
อาหารเสริมช่วยรักษาข้อเข่าเสื่อมได้หรือไม่
ข้อเข่าเสื่อมมันเป็นโรคของการใช้งาน เป็นโรคที่เกิดจาก mechanic ของร่างกาย เพราะฉะนั้นเมื่อใดก็ตามที่ระบบโครงร่างของร่างกายมันไม่ดี เมื่อไหร่ก็ตามที่เข่าเริ่มโกง เข่าเริ่มเสื่อม เข่าเริ่มหลวม อาหารเสริมก็ไม่น่าจะมีผลช่วยได้ มีเพียงกล้ามเนื้อที่จะช่วย เพราะมันช่วยลดงานลดแรงต่อเข่า และการออกกำลังกายก็ช่วยได้

โดยสรุปข้อเข่าเสื่อมรักษาได้ ไม่จำเป็นต้องทนทรมานอีกต่อไป ถ้าเรารู้สาเหตุ หาวิธีป้องกันไปและวิธีรักษาข้อเข่าเสื่อมไว้เป็นทางเลือก เพื่อที่จะได้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างอิสระคล่องตัวอีกครั้ง

ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาและข้อ​ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีความเสื่อมของข้อสะโพกและข้อเข่า โดยรวมแพทย์ผู้ชำนาญและมีประสบการณ์ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ทีมแพทย์ของเราให้การดูแลรักษาและผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมให้ผู้ป่วยมามากกว่าพันราย ประสบการณ์ในการทำงานด้านเปลี่ยนข้อเทียมมากกว่าสิบปี โดยใช้ข้อเทียมที่ดีมีมาตรฐาน และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เรายังมีทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลเตรียมผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด และดูแลฟื้นฟูสภาพภายหลังการผ่าตัด ทีมศัลยแพทย์ข้อสะโพกและข้อเข่าเทียมยังเป็นทีมแพทย์ที่มีชื่อเสียงในวงการแพทย์ข้อสะโพกและข้อเข่าเทียมทั้งภายในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้เรายังมีทีมแพทย์เฉพาะทางในสาขาที่เกี่ยวข้องและทีมสหสาขาวิชาชีพที่ชำนาญพิเศษในการดูแลผู้ป่วยโรคข้อ ซึ่งทำงานเป็นทีมร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างดีที่สุดตั้งแต่ก่อนการผ่าตัด ไปจนถึงการฟื้นฟูภายหลังการผ่าตัด เป้าหมายของเราคือการทำให้ผู้ป่วยกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีและทำกิจกรรมที่ชื่นชอบได้เหมือนเดิม


เรียบเรียงโดย นพ. ชาลี สุเมธวานิชย์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์กระดูกและข้อและข้อเทียม ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาและข้อ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์


 
Layout-BI-Podcast-Badge_Spotify-360x118.png  Layout-BI-Podcast-Badge_YouTube-360x118.png  Layout-BI-Podcast-Badge_Apple-Podcasts-360x118.png

Layout-BI-Podcast-Badge_Google-Podcasts-360x118.png  Layout-BI-Podcast-Badge_Anchor-360x118.png  Layout-BI-Podcast-Badge_Blockdit-360x118.png



 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs