bih.button.backtotop.text

รักหัวใจ…ดูแลอย่าให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว

รักหัวใจ…ดูแลอย่าให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นภาวะที่พบได้บ่อยมาก เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย โดยประชากร 1 ใน 5 คนมีโอกาสเป็นภาวะหัวใจล้มเหลว คนทั่วไปอาจไม่คุ้นเคยกับคำว่าภาวะหัวใจล้มเหลวมากนัก แต่มักรู้จักกันในชื่อของภาวะหัวใจโตหรือน้ำท่วมปอดแทน

ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure) ไม่ได้หมายถึง หัวใจหยุดเต้นแต่เป็นความผิดปกติที่หัวใจอ่อนแรงเนื่องจากหัวใจบีบตัวได้น้อยลงหรือหัวใจมีขนาดโตขึ้นทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดหรือรับเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายได้ไม่เพียงพอ


ภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดจากอะไร
ภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้นจึงพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่พบในผู้สูงอายุได้มากกว่าคนที่อายุน้อย โดยทั่วไปสาเหตุเกิดขึ้นได้จาก

  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคลิ้นหัวใจรั่วหรือลิ้นหัวใจตีบ
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการหรือบกพร่อง
  • โรคการอักเสบและการติดเชื้อของกล้ามเนื้อหัวใจ
  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
  • สาเหตุอื่นๆ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงจากสารพิษต่างๆ เช่น สุรา ยาเสพติด หรือจากพันธุกรรม โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน โรคต่อมไร้ท่อ


จะรู้ได้อย่างไรว่ามีภาวะหัวใจล้มเหลว
หัวใจล้มเหลวเปรียบเสมือนปั๊มน้ำที่เสีย ทำให้มีน้ำหรือเลือดคั่งที่อวัยวะต่างๆ ก่อให้เกิดอาการ เช่น

  • เหนื่อยง่าย เดินได้ระยะทางสั้นลง ทำกิจกรรมต่างๆได้น้อยลง
  • รู้สึกอึดอัด เหนื่อยเวลานอนราบ ต้องนอนหนุนหมอนหลายใบหรือนั่งหลับ
  • หอบ หายใจทางปาก พูดได้ประโยคสั้นๆ
  • ขาบวม เท้าบวม มักเป็นช่วงเย็น รู้สึกขาตึงๆ กดแล้วมีรอยบุ๋ม
  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มากกว่า 2 กิโลกรัมใน 2 วัน
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องอืด


วินิจฉัยได้อย่างไร
ภาวะหัวใจล้มเหลวสามารถวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจเลือด การถ่ายภาพเอกซเรย์หัวใจและปอดและการถ่ายภาพเอกซเรย์ด้วยคลื่นเสียง (echocardiogram) ในบางครั้งอาจต้องสวนหัวใจหรือฉีดสีหัวใจ การตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐาน เช่น เอกซเรย์ปอด อาจทำให้แพทย์สงสัยว่ามีหัวใจโตได้ ดังนั้นการตรวจสุขภาพประจำปีจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ควรละเลยเพราะทำให้พบภาวะนี้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
 

รักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง
ภาวะหัวใจล้มเหลวเหมือนกับโรคเรื้อรังอื่นๆคือรักษาและควบคุมได้แต่ไม่หายขาด โดยการรักษาต้องควบคู่ไปกับการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นหลังจากรักษาด้วยยาและดูแลตัวเองอย่างดีแล้ว อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจหรือเครื่องกระตุกหัวใจ สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้าย อาจต้องผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจหรือใช้หัวใจเทียม


ดูแลตัวเองอย่างไรให้อยู่กับภาวะหัวใจล้มเหลวได้อย่างมีสุข
หากอาการจากภาวะหัวใจล้มเหลวกำเริบหรือแย่ลง ผู้ป่วยอาจต้องนอนโรงพยาบาลหรือนอน ICU อาจเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันและหัวใจเต้นผิดจังหวะ นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อสุขภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว ดังนั้นการดูแลตัวเองให้ดีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้ป่วย

  • หมั่นสังเกตอาการตัวเอง
  • ออกกำลังกายอย่างพอดี
  • ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม ไม่เกิน 2 ลิตรต่อวัน
  • ชั่งน้ำหนักทุกวัน  หากน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 กิโลกรัมภายใน 2 วันแสดงว่ามีน้ำคั่งอยู่ในร่างกายมากกว่าปกติ
  • ไม่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์
  • รับประทานโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน (หรือเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา)
  • รับประทานยาตามแพทย์สั่ง
  •  มาตรวจตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
 
สถาบันโรคหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ประกอบด้วยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านโรคหัวใจทำงานเป็นทีมร่วมกับแพทย์ผู้ชำนาญการสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพื่อวินิจฉัยและรักษาโรคหัวใจโดยเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง พร้อมทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจโดยเฉพาะ


dr-Eakkararch.jpg

โดย นพ. เอกราช อริยะชัยพาณิชย์


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
065-509-9198 
(ระหว่างเวลา 8.00-20.00 น. )

02-066-8888
(ระหว่างเวลา 20.00-8.00 น. )

Email
[email protected]
 

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs