ปัจจุบันโลกเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สหประชาชาติได้ประเมินว่าจำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 80ปี จะเพิ่มจากประมาณ 143ล้านคนในปี 2019 เป็น 426ล้านคนในปี 2050 หรือเพิ่มขึ้นเป็น 3เท่าตัว นั่นย่อมทำให้เราได้พบเจอโรคของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว สำหรับบทความนี้ผมจะนำเรื่องโรคที่พบได้บ่อยๆ พร้อมทั้งแนวทางในการรักษาในยุคปัจจุบันในยุคที่ผู้สูงอายุกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นะครับ
สาเหตุของโรคกระดูกพรุน
นอกจากความแข็งแรงที่จะลดลงตามธรรมชาติเมื่ออายุเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีภาวะหรือโรคอีกหลายอย่างที่สามารถทำให้ภาวะกระดูกพรุนมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นได้ด้วย เช่น การขาดฮอร์โมนเพศหญิงใน
วัยทอง, ภาวะการขาดแคลเซียมหรือวิตามินดี,
โรคไตเรื้อรัง, การรับประทานยาเสตียรอยด์แบบรับประทานเป็นเวลานาน, การดื่มแอลกอฮอล์มากๆ เป็นเวลานานๆ, หรือการขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น
สาเหตุ และอาการของโรคกระดูกสันหลังหักทรุดเป็นอย่างไร
อุบัติเหตุเบาๆ อย่างเช่นการก้มตัวยกของหนักเร็วๆ หรือการกระแทกในขณะนั่งรถหรือเรือโดยสารก็อาจทำให้เกิดการหักเกิดขึ้นได้ สำหรับในภาษาไทยคำว่า หัก, ทรุด, แตก, ร้าว หรือ ยุบ มีความหมายเหมือนๆ กันและใช้แทนกันได้นะครับ อาการปวดจะเกิดขึ้นทันทีที่กระดูกหัก และในช่วงที่กระดูกหักใหม่ๆ อาการจะรุนแรงเป็นพิเศษโดยเฉพาะเวลาที่มีการเคลื่อนไหว
อันตรายแค่ไหน
ความอันตรายขึ้นอยู่ว่าชิ้นกระดูกที่หักมีโอกาสเคลื่อนไปทับเส้นประสาทมากแค่ไหน แพทย์จะตรวจร่างกายว่าการทำงานของระบบประสาทบกพร่องไปหรือไม่ รวมทั้งส่งตรวจ x-ray,
MRI หรือ CT scanเพื่อยืนยันคำวินิฉัยและประเมินความเสี่ยง
สาเหตุอื่นของกระดูกสันหลังหักทรุด
โรคมะเร็งในระยะแพร่กระจาย, โรคมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา หรือการติดเชื้อระดับรุนแรงในกระดูกสันหลัง เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยเช่นกัน ซึ่งการตรวจทางรังสีวิทยา และผลเลือดหลายๆ อย่างจะช่วยยืนยันผลการวินิจฉัยได้ดี
การดำเนินของโรคและการรักษา
รับประทานยาแก้ปวดเมื่อจำเป็น เคร่งครัดในการใส่อุปกรณ์พยุงหลัง แก้ไขภาวะกระดูกพรุน
คนไข้ส่วนใหญ่ที่เริ่มรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ กระดูกที่หักมีความมั่นคงพอใช้ได้ และไม่มีชิ้นกระดูกเคลื่อนไปทับไขสันหลังมักจะรักษาหายขาดได้โดย
ไม่ต้องมีการผ่าตัด การรักษาแบบประคับประคองตามหัวข้อด้านบนนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราเน้นเสมอกับคนไข้ ซึ่งการรักษาเท่านี้ก็
มักจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีแล้วในคนไข้ส่วนใหญ่
อาการปวดเรื้อรังจากโรคกระดูกสันหลังหักจากภาวะกระดูกพรุน
ผู้ป่วยบางรายที่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ หรือกระดูกที่หักมีระดับความรุนแรงมากอาจรักษาด้วยวิธีทั่วไปไม่หาย สังเกตได้จากการที่อาการปวดไม่บรรเทาลงแม้จะปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดแล้ว อาจจำเป็นต้องพิจารณาทางเลือกในการรักษาอื่น
การฉีดซีเมนต์เสริมกระดูกในโรคกระดูกสันหลังหักจากภาวะกระดูกพรุน
เมื่อทำการยืนยันจากภาพ MRI แล้วพบว่ากระดูกที่หักยังไม่สมานกันดีหลังจากได้ทำการรักษาด้านอื่นอย่างเต็มที่แล้ว การฉีดซีเมนต์เข้าไปเสริมความแข็งแรงในจุดที่กระดูกหักนับเป็นทางเลือกในการรักษาที่ให้ผลดีอย่างเห็นได้ชัดในเวลารวดเร็ว
ผู้ป่วยจะได้รับยาสลบและไม่รู้สึกเจ็บตลอดการผ่าตัด แพทย์จะทำการสแกนภาพกระดูก 3มิติในขณะที่มีอุปกรณ์จับยึดอยู่กับสันกระดูกสันหลัง หลังจากนั้นจะใช้มีดเปิดแผลเล็กๆ ขนาดราวๆ หลอดกาแฟ และสอดใส่เข็มเข้าไปในกระดูกสันหลังโดยการนำทางจากเครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถี เมื่อเข็มอยู่ในตำแหน่งที่ดีก็จะใช้บอลลูนถ่างขยายเพื่อยกกระดูกที่ยุบ หรือทรุดตัวขึ้น จากนั้นก็จะทำการฉีดสารซีเมนต์ซึ่งมีลักษณะคล้ายยาสีฟันเข้าไปในช่องว่างดังกล่าว สารซีเมนต์นี้จะค่อยๆ แข็งตัวจนมีความแข็งแรงใกล้เคียงกับกระดูกของผู้ป่วยที่เวลาหลังจาก 10นาทีขึ้นไป
อาการปวดแผลหลังฉีดซีเมนต์มักอยู่ในระดับเล็กน้อย และส่วนมากสามารถควบคุมได้ด้วยยากิน หรือยาฉีดแก้ปวดแบบอ่อน ผู้ป่วยส่วนมากสามารถเดินได้ทันทีเมื่อกลับถึงห้อง และสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ในเช้าวันถัดไป
ความเสี่ยงของการฉีดซีเมนต์เสริมกระดูก
แม้จะเป็นการผ่าตัดที่แผลเล็กมาก แต่การผ่าตัดย่อมมีความเสี่ยงเสมอครับ ความเสี่ยงชนิดที่พบได้คือการที่ซีเมนต์มีการหลุดรั่วเข้ากระแสเลือดแล้วเข้าไปอุดกั้นปอดและหัวใจได้ โดยมากการรั่วมักไม่ทำให้เกิดอาการ หรือเกิดอาการน้อย แต่มีบางรายงานที่ถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกันครับ ดังนั้นเราควรชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงและประโยชน์ที่จะได้รับจากการผ่าตัดให้ดีก่อนตัดสินใจนะครับ
การดูแลตัวเองหลังจากการฉีดซีเมนต์
ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ รับประทานยาแก้ปวดบ้างหากยังรู้สึกเจ็บแผล และกลับมาตรวจเช็คแผลตามที่นัด
โรคกระดูกสันหลังหักจากภาวะกระดูกพรุนนับเป็นโรคที่พบได้บ่อยขึ้นเรื่อยๆ ในยุดปัจจุบันจากการที่เรามีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมากแล้วไม่ใช่ภาวะอันตราย แต่ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง การรักษาหากเริ่มแต่เนิ่นๆ โอกาสรักษาหายโดยไม่ต้องผ่าตัดสูงมาก ในกรณีที่การผ่าตัดมีความจำเป็น การฉีดซีเมนต์เสริมกระดูกนับเป็นทางเลือกที่ประสบความสำเร็จสูงมาก และทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปมีคุณภาพชีวิตเหมือนเดิมได้อย่างรวดเร็ว
เกี่ยวกับผู้เขียน
หมอเข้ม หรือ
น.พ. วิธวินท์ เกสรศักดิ์ เรียนจบเฉพาะทางทางด้านประสาทศัลยศาสตร์ ที่ร.พ. รามาธิบดี และได้ไปเรียนต่อยอดด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยการส่องกล้องเอ็นโดสโคปที่ประเทศเยอรมนี และประเทศอังกฤษ ปัจจุบันนอกจากหมอเข้มจะทำงานเป็นศัลยแพทย์ด้านกระดูกสันหลังประจำที่ร.พ. บำรุงราษฎร์ แล้วยังเป็นแพทย์ผู้ฝึกสอนการผ่าตัดด้วยเทคนิคเอ็นโดสโคปในประเทศเยอรมนี และเป็นผู้บรรยายอิสระให้กับ AOspine ซึ่งเป็นองค์กรการศึกษาแบบไม่แสวงผลกำไรในระดับนานาชาติอีกด้วย
บทความน่ารู้เกี่ยวกับกระดูกสันหลัง:
การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงประสาท, percutaneous TLIF, สัญญาณอันตรายของโรคกระดูกสันหลัง,
หมอนรองกระดูกทับไขสันหลัง ภัยร้ายซ่อนเร้น, หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทรักษาได้ด้วยแผลผ่าตัดเพียง 8มม.
ประสบการณ์การรักษาจากผู้ป่วย:
ผ่าตัดหมอนรองกระดูกด้วยกล้องเอ็นโดสโคป,
การผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: