bih.button.backtotop.text

4 เคล็ดลับการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ

21 มิถุนายน 2560


1. การดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ

การแปรงฟัน ควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน นานประมาณ 2 นาที โดยแปรงให้ทั่วถึง ควรทำความสะอาดลิ้นเบาๆ และเลือกใช้อุปกรณ์เสริมอื่นๆ ที่เหมาะสมร่วมด้วย เช่น ไม้จิ้มฟัน ไหมขัดฟัน แปรงซอกฟัน และควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันและเหงือกอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ฟันปลอม

  • ฟันปลอมชนิดถอดได้ หลังรับประทานอาหารทุกมื้อ ควรถอดฟันปลอมออกมาทำความสะอาด โดยใช้แปรงสีฟันขนอ่อนกับน้ำสบู่ แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ห้ามใช้ผงขัด ถ้ามีคราบฝังแน่นติดฟันปลอมสามารถแช่ในน้ำยาแช่ฟันปลอม หรือน้ำผสมเม็ดฟู่สำหรับฟันปลอมช่วยขจัดคราบและฆ่าเชื้อโรคได้ และที่สำคัญก่อนนอนต้องถอดฟันปลอม เพื่อให้เหงือกได้พักผ่อน และเอาฟันปลอมแช่น้ำไว้เสมอ ไม่ให้ฟันปลอมแตกแห้ง
  • ฟันปลอมชนิดติดแน่น ควรใช้ไหมขัดฟันสอดเข้าทำความสะอาดใต้ฟันปลอมและขอบเหงือกด้วย


2. การดูแลผู้สูงอายุที่ท้องผูก

  • กระตุ้นให้ถ่ายอุจจาระ โดยให้ขับถ่ายเป็นเวลาทุกวัน จัดสภาพแวดล้อมขณะขับถ่ายให้สะดวก นั่งถ่ายบนโถส้วม นวดหน้าท้องเบา ๆ ขณะถ่ายอุจจาระ เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องบ่อย ๆ
  • ป้องกันไม่ให้ท้องผูกซ้ำ โดยกระตุ้นให้ออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ รับประทานอาหารที่มีกากใยมาก ได้แก่ ผักผลไม้สด ธัญพืช ถั่ว ลูกพรุน ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2-3 ลิตร หลังตื่นนอนตอนเช้าหรือหลังรับประทานอาหารเช้า 30 นาที ดื่มน้ำอุ่น 1-2 แก้ว และฝึกนิสัยการขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา โดยนั่งถ่ายครั้งละ 10 นาที ประเมินและบันทึกความถี่ของการขับถ่ายอุจจาระ ลักษณะและสีของอุจจาระ
  • หากต้องใช้ยาระบายควรใช้ยาเพิ่มกากใยอาหาร หรือยาที่ทำให้อุจจาระนิ่ม ตามแผนการรักษาของแพทย์


3. การดูแลผู้สูงอายุที่ท้องเสีย

  • ดูแลความสุขสบาย ช่วยเหลือให้ไปห้องน้ำได้ทัน เพราะส่วนมากจะกลั้นอุจจาระไม่ได้ จัดท่าให้สุขสบายขณะขับถ่าย ควรให้นั่งถ่ายบนโถส้วม ไม่ควรนั่งยอง ๆ ช่วยเหลือทำความสะอาดหลังการขับถ่ายด้วยการชำระด้วยน้ำและซับให้แห้งทุกครั้ง ดูแลผิวหนังบริเวณทวารหนักและฝีเย็บให้สะอาดแห้งอยู่เสมอ ให้นอนพักบนเตียง ให้ยาตามแผนการรักษาของแพทย์ (ถ้ามี)
  • ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ เป็นต้น ในระยะแรกอาจงดอาหาร เพื่อไม่กระตุ้นลำไส้ให้เคลื่อนไหวมากทำให้เสียน้ำและเกลือแร่มาก ให้ดื่มสารละลายผงเกลือแร่ น้ำหวานหรือน้ำอัดลมโดยเขย่าฟองให้หมดก่อนแล้วเติมเกลือเล็กน้อย เมื่ออาการดีขึ้นไม่อาเจียนให้อาหารอ่อนย่อยง่ายกากน้อย รสอ่อน ไม่มีไขมัน ดื่มน้ำทดแทนการสูญเสียอย่างน้อยวันละ 2-3 ลิตร ถ้ายังอาเจียนหรือถ่ายเหลวมากควรพบแพทย์เพื่อพิจารณาให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ สังเกตภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ เช่น กระหายน้ำมาก ผิวขาดความตึงตัว ใจสั่น ปวดท้อง เป็นตะคริว ซึม สับสน เป็นต้น


4. การดูแลผู้สูงอายุที่มีอาการท้องอืดหรือกรดไหลย้อน

  • ดูแลความสุขสบาย โดยจัดให้อยู่ในท่าศีรษะสูง 45-60 องศา หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป หรืองดกิจกรรมที่เพิ่มแรงดันในช่องท้อง เปลี่ยนท่าบ่อย ๆ ลุกนั่งและเดิน ผายลมและเรอออกมาโดยไม่ต้องกลั้นเอาไว้ ให้ยาตามแผนการรักษา
  • ป้องกันไม่ให้ท้องอืดเพิ่มขึ้น โดยให้รับประทานอาหารช้าๆ ไม่รีบร้อน รับประทานอาหารจำนวนพอดี เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดก๊าซ เช่น ถั่ว หัวผักกาด (หัวไชเท้า) น้ำอัดลม เครื่องเทศ อาหารรสจัด เป็นต้น อาหารที่ย่อยยากประเภทไขมันหรืออาหารทอด หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่ง อมทอฟฟี่ และสูบบุหรี่ เพราะกลืนลมมากขึ้นอีกทั้งไม่ดื่มน้ำขณะกำลังรับประทานอาหาร ควรดื่มน้ำหลังอาหาร ไม่นอนหรือออกกำลังกายหนักทันทีหลังรับประทานอาหาร กระตุ้นให้ออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายบ่อย



เรียบเรียงโดย พญ.ลิลลี่ ชัยสมพงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คลินิกสุขภาพผู้สูงอายุนิวไลฟ์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs