bih.button.backtotop.text

กู้เส้นเลือดหัวใจตีบด้วยการผ่าตัดบายพาส (Coronary Artery Bypass Grafting: CABG)

โรคเส้นเลือดหัวใจตีบเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยปกติเลือดจะสามารถไหลผ่านเส้นเลือดได้อย่างราบรื่นเหมือนน้ำไหลผ่านท่อประปา แต่เมื่อใช้งานเป็นเวลานาน เส้นเลือดหัวใจจะเสื่อมสภาพจากการสะสมของไขมันและหินปูนในผนังเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดตีบและแข็งตัว ถ้าตีบแคบมากจะขวางการไหลของเลือดที่ไปสู่กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอต่อความต้องการของหัวใจ ส่งผลให้เกิดอาการหัวใจวายได้ การรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบแคบทำได้หลายวิธีและการผ่าตัดบายพาสเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ในการรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ แล้วการผ่าตัดบายพาสคืออะไร เมื่อไรที่ต้องรักษาด้วยวิธีนี้ ผ่าตัดแล้วต้องใช้เวลาพักฟื้นนานแค่ไหน บทความนี้มีคำตอบติดตามได้เลย
 

กู้เส้นเลือดหัวใจตีบด้วยการผ่าตัดบายพาส (Coronary Artery Bypass Grafting: CABG)

โรคเส้นเลือดหัวใจตีบเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยปกติเลือดจะสามารถไหลผ่านเส้นเลือดได้อย่างราบรื่นเหมือนน้ำไหลผ่านท่อประปา แต่เมื่อใช้งานเป็นเวลานาน เส้นเลือดหัวใจจะเสื่อมสภาพจากการสะสมของไขมันและหินปูนในผนังเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดตีบและแข็งตัว ถ้าตีบแคบมากจะขวางการไหลของเลือดที่ไปสู่กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอต่อความต้องการของหัวใจ ส่งผลให้เกิดอาการหัวใจวายได้ การรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบแคบทำได้หลายวิธีและการผ่าตัดบายพาสเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ในการรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบที่มีประสิทธิภาพ 
 

การผ่าตัดบายพาสคืออะไร

การผ่าตัดต่อเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจเพื่อทำทางเบี่ยงเสริมเส้นเลือดบริเวณที่มีการตีบหรือตัน โดยศัลยแพทย์จะใช้เส้นเลือดที่มีคุณภาพดีจากส่วนอื่นในร่างกาย เช่น เส้นเลือดแดงหลังหน้าอก เส้นเลือดแดงที่ท้อง เส้นเลือดแดงที่แขนหรือเส้นเลือดแดงที่ขาของผู้ป่วยมาทำการต่อปลายเส้นเลือดข้างหนึ่งเข้ากับเส้นเลือดแดงใหญ่ ส่วนปลายเส้นเลือดอีกข้างหนึ่งไปต่อกับเส้นเลือดแดงใต้บริเวณที่ตีบหรืออุดตัน ในกรณีที่ใช้เส้นเลือดแดงหลังหน้าอก เส้นเลือดแดงหลังหน้าอกเป็นแขนงของเส้นเลือดแดงใหญ่อยู่แล้วจึงต่อเพียง ส่วนปลายอีกด้านจะต่อเข้ากับเส้นเลือดแดงใต้จุดที่ตีบหรืออุดตันเท่านั้น เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้มากขึ้น ทำให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น
 

การผ่าตัดบายพาสเหมาะกับใครบ้าง

การผ่าตัดบายพาสเหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการดังนี้
•    มีอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงโดยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา
•    เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบอย่างรุนแรง
•    มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย
•    เป็นโรคหัวใจขาดเลือดที่ไม่ปรากฏอาการ (silent myocardial ischemia)
 

การผ่าตัดบายพาสทำได้กี่วิธี

การผ่าตัดบายพาสแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี โดยศัลยแพทย์หัวใจจะเป็นผู้ทำการวินิจฉัยและตัดสินใจว่าควรใช้วิธีใดในการผ่าตัดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด 
•    ใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมทำผ่าตัด (on-pump CABG) โดยศัลยแพทย์จะหยุดหัวใจผู้ป่วยระหว่างการผ่าตัด 
•    ไม่ใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมทำผ่าตัด (off-pump CABG) โดยศัลยแพทย์จะไม่หยุดหัวใจผู้ป่วยระหว่างการผ่าตัด 
 

ใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นนานแค่ไหน

หลังการผ่าตัดผู้ป่วยต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 1 สัปดาห์และใช้เวลาพักฟื้นที่บ้านหลายสัปดาห์ สามารถกลับไปทำกิจกรรมปกติที่เบาๆได้ภายในสองเดือนและสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้ภายใน 4-6 เดือน ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกายของผู้ป่วยแต่ละบุคคล
 

หลังการผ่าตัดบายพาสควรปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง

ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์และติดตามผลการรักษากับแพทย์อย่างเคร่งครัดเพราะหากควบคุมปัจจัยเสี่ยงได้ดี เช่น ควบคุมโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงได้ จะทำให้เส้นเลือดที่นำมาใช้ทำบายพาสอยู่ได้นาน
•    รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง
•    งดสูบบุหรี่
•    ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และจัดการกับความเครียด
 

การผ่าตัดบายพาสมีข้อดีอย่างไร

•    เป็นวิธีการรักษาที่ใช้มานานตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 หรือตั้งแต่ 60 ปีที่แล้ว พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพสูงในการรักษาโรคหัวใจขาดเลือด ลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายโดยเฉียบพลันได้ดี
•    เหมาะกับผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดหัวใจตีบหลายเส้นหรือตีบในบางตำแหน่งที่หากใช้การรักษาด้วยวิธีการอื่น เช่น การขยายเส้นเลือดหัวใจด้วยวิธีใส่ขดลวด (Coronary Stent Implantation) อาจทำให้เส้นเลือดเสียหายได้
•    มีความเสี่ยงในการต้องทำหัตถการซ้ำน้อยกว่าการขยายเส้นเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูน
 

ความเสี่ยงจากการผ่าตัดบายพาสมีอะไรบ้าง

การผ่าตัดบายพาสเป็นการผ่าตัดใหญ่ ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงและอาจเกิดอาการแทรกซ้อนได้ อย่างไรก็ตามโอกาสในการเกิดอาการแทรกซ้อนต่ำและส่วนมากสามารถแก้ไขได้ดังนี้
•    ติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด
•    มีเลือดออก
•    ภาวะสับสนเฉียบพลัน (Delirium) 
•    ไตวาย
•    อัมพาต
•    หัวใจเต้นผิดจังหวะ
•    หัวใจวายหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

สถาบันโรคหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีทีมแพทย์ผู้ชำนาญการในการรักษาโรคหัวใจขาดเลือดโดยเฉพาะและทีมสหสาขาวิชาชีพผู้มีประสบการณ์ด้านการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ เราทำงานเป็นทีมร่วมกันเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ปลอดภัยและมีคุณภาพสูง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติมากที่สุด


เรียบเรียงโดย ศ.นพ. วิชัย เบญจชลมาศ

 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
065-509-9198 
(ระหว่างเวลา 8.00-20.00 น. )

02-066-8888
(ระหว่างเวลา 20.00-8.00 น. )

Email
[email protected]
 

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs