bih.button.backtotop.text

โรคหัวใจในผู้ป่วยเบาหวาน ประมาทไม่ได้

โรคหัวใจในผู้ป่วยเบาหวาน ประมาทไม่ได้ภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานไม่ได้มีเพียง ตา ไต และปลายเท้าเท่านั้น เรื่องหลอดเลือดหัวใจก็นิ่งนอนใจไม่ได้
 

เป็นที่เข้าใจกันมาโดยตลอดว่าโรคหลอดเลือดหัวใจนั้นมักจะเกิดใน ผู้สูงอายุเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันเรากลับพบโรคนี้ในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยลง ส่งผลให้โรคหลอดเลือดหัวใจกลายเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้คนทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย ทั้งนี้สาเหตุที่สำคัญประการหนึ่ง คือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวาน ซึ่งพบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวานที่ป่วยมานาน และมีการควบคุมโรคได้ไม่ดีพอ
 

นพ. วราภณ วงศ์ถาวราวัฒน์ อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อ เบาหวาน และ Metabolism สนทนากับ Better Health ถึงความสำคัญของการป้องกันโรคหัวใจในฐานะที่เป็นโรคแทรกซ้อนของโรคเบาหวานซึ่งนับวันจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยมากขึ้นทุกที
 

เบาหวานเสี่ยงหัวใจสูง

โรคเบาหวาน หมายความถึงภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงจนเป็นเหตุให้การทำงานของเซลล์ผิดปกติไป และสร้างความเสียหายแก่ผนังหลอดเลือด “ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นโรคมานาน และไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสมได้ มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าคนปกติที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคเบาหวานถึงร้อยละ 50-80” นพ. วราภณอธิบาย
 

“ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในอายุที่น้อยกว่า แต่มีความรุนแรงกว่า เพราะการที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงเกิดความผิดปกติและเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเพราะการอักเสบ หลอดเลือดตีบแคบลง หรือการที่หลอดเลือดสูญเสียความยืดหยุ่น ประกอบกับการที่ผู้ป่วยเบาหวานมักมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อีก เช่น ความดันโลหิตและไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินและการไม่ออกกำลังกาย นพ. วราภณกล่าวต่อ 
 

ด้วยเหตุที่สภาพของหลอดเลือดเกิดความผิดปกตินี้เอง ภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานจึงส่งผลกระทบร้ายแรงอย่างเงียบ ๆ ไปทั่วร่างกาย อาทิ เบาหวานขึ้นตา เบาหวานลงไต ปลายประสาทเสื่อม เกิดแผลโดยไม่รู้ตัว รวมทั้งภาวะที่หลอดเลือดอ่อนแอ แตกง่าย โรคหลอดเลือดหัวใจตีบจึงเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของผู้ป่วยเบาหวาน
 

นพ. วราภณกล่าวเสริมว่า “ปัจจุบัน เราพบว่าผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงต่อภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเทียบเท่ากับผู้ป่วยโรคหัวใจที่เคยผ่านภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดครั้งแรกไปแล้ว สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าโรคหัวใจในผู้ป่วยเบาหวานนั้นก็มีความร้ายแรง ต้องอาศัยการดูแลอย่างต่อเนื่อง รู้จริง และเป็นระบบ”
 

รีบปรับตัวก่อนจะสาย

อย่างไรก็ตาม นพ. วราภณให้ความมั่นใจว่า อนาคตของผู้ป่วยเบาหวานไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยโรคหัวใจเสมอไป “แม้จะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนปกติหลายเท่า รวมทั้งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรตั้งแต่ 2-4 เท่า แต่หากผู้ป่วยเบาหวานดูแลตัวเองดี ๆ ด้วยการควบคุมปริมาณและชนิดของอาหาร ใช้ยาเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้เคียงกับผู้ที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรค รวมทั้งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็จะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนจากโรคได้” นพ. วราภณกล่าว
 

สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองเข้าข่ายเป็นโรคหัวใจ หรือมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน นพ. วราภณบอกวิธีง่าย ๆ ในการสังเกตตัวเองหรือคนในครอบครัว ดังนี้
 

- คนในครอบครัว (บิดา มารดา พี่น้อง) เป็นโรคหัวใจก่อนวัยอันควร (ชาย อายุน้อยกว่า 55 ปี หญิง อายุน้อยกว่า 65 ปี)
- เป็นโรคเบาหวานมานาน คุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีมาตลอด 5 ปี
- มีปัญหาเรื่องความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และภาวะอ้วนร่วมด้วย
- อึดอัด เหนื่อย หายใจไม่ทัน หายใจไม่อิ่ม แต่อาจไม่มีอาการเจ็บหน้าอกที่ชัดเจน
- สูบบุหรี่
- มีภาวะเครียดเรื้อรัง
 

สุดท้าย นพ. วราภณฝากกำลังใจไปถึงผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นโรคหัวใจทุกคนว่า ให้ตั้งใจดูแลตัวเอง ออกกำลังกาย ระมัดระวังเรื่องอาหารไม่เครียด รักษาสุขภาพจิตใจให้ดี และพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เช่นกัน

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
          8.00-20.00  (BKK Time)
          02-0113984-5 and 02-113991

          20.00-8.00 (BKK Time)
          Contact center +662 066 8888 and  1378

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs