bih.button.backtotop.text

ภาวะสายตาสั้นในเด็ก แก้ไขได้ ไร้กังวล

ภาวะสายตาสั้น คืออะไร ?
ภาวะสายตาสั้น (Myopia หรือ Nearsightedness) เป็นภาวะค่าสายตาผิดปกติ ที่เกิดจากเลนส์ตาหักเหแสงจากวัตถุมากเกินไปจากการที่กระจกตามีความโค้งมากกว่าปกติหรือลูกตายาวผิดปกติ แสงจึงตกก่อนถึงจอตา ส่งผลให้สมองไม่สามารถประมวลผลได้อย่างชัดเจน ดังนั้น คนสายตาสั้นจะมองเห็นภาพในระยะใกล้ชัดเจน แต่ระยะไกลจะไม่ชัด หรือมองเห็นเป็นภาพเบลอๆ
 
อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้น ?
  1. ปัจจัยทางพันธุกรรม
เด็กที่สายตาสั้น ส่วนใหญ่มีประวัติพ่อแม่สายตาสั้น มีการศึกษาพบว่า ลูกจะมีโอกาสเกิดภาวะสายตาสั้นประมาณ 77.3% หากพ่อและแม่มีสายตาสั้น ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งมีสายตาสั้น ลูกจะมีโอกาสเกิดภาวะสายตาสั้นประมาณ 43.6% แต่ถ้าพ่อและแม่ไม่มีประวัติสายตาสั้นทั้งคู่ โอกาสจะลดลงเหลือเพียง 28.2%
  1. ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม
มีการศึกษาพบว่า เด็กที่ชอบทำกิจกรรมที่ใช้การมองระยะใกล้ เช่น อ่านหนังสือ เล่นคอมพิวเตอร์ เล่นวิดีโอเกม รวมถึงเด็กที่ไม่ค่อยทำกิจกรรมกลางแจ้ง มีโอกาสเกิดภาวะสายตาสั้นได้มากกว่าปกติ
 
อาการของภาวะสายตาสั้นในเด็ก และการตรวจวินิจฉัย
อาการของภาวะสายตาสั้นอาจสังเกตได้จากการที่เด็กชอบหรี่ตาเวลามอง ชอบเดินเข้าไปดูโทรทัศน์ จอคอมพิวเตอร์ หรือสิ่งของ ในระยะใกล้ หรือเด็กอาจแจ้งว่ามองกระดานในห้องเรียนไม่ชัดเจน เป็นต้น ซึ่งการตรวจวินิจฉัย สามารถทำได้โดยการวัดค่าสายตาด้วยเครื่องมือในโรงพยาบาลหรือร้านแว่นตา ส่วนใหญ่นับเกณฑ์ค่าสายตาสั้นตั้งแต่ -0.50 diopter ขึ้นไป
 
ภาวะสายตาสั้นในเด็ก สามารถแก้ไขอย่างไรได้บ้าง ?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาหรือทำให้ภาวะสายตาสั้นกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม ดังนั้น เป้าหมายของการรักษาคือการทำให้มองเห็นได้อย่างชัดเจน ชะลอไม่ให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้น และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย
  1. การใส่แว่นตา
แว่นสายตาสำหรับคนสายตาสั้น เลนส์ที่ใช้จะเป็นเลนส์เว้า (concave lens) เพื่อทำให้ภาพเลื่อนมาตกที่จอตาพอดี ทำให้การเลือกใช้แว่นสายตาเพื่อแก้ไขปัญหาสายตาสั้นในเด็กจึงง่าย ประหยัด และปลอดภัยค่อนข้างสูง เนื่องจากไม่ยุ่งยากและไม่เจ็บตัว
  1. การใส่คอนแทคเลนส์
โดยทั่วไปวิธีนี้ไม่เหมาะสำหรับเด็ก เนื่องจากเด็กไม่สามารถดูแลเรื่องของความสะอาดได้ดีเท่าที่ควร ทำให้มีความเสี่ยงเรื่องของตาอักเสบหรือติดเชื้อได้
  1. การผ่าตัดแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติ (Refractive surgery)
เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนรูปร่างของกระจกตาอย่างถาวรหรือใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไป เพื่อปรับให้การหักเหของแสงถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น ปรับจุดรวมแสงให้ตกที่จอตาพอดี ซึ่งปัจจุบันมีหลายวิธี เช่น ReLEx SMILE, Femto LASIK อย่างไรก็ตาม การรักษาวิธีนี้ไม่เหมาะสำหรับเด็ก เนื่องจากค่าสายตาไม่คงที่ จะพิจารณาผ่าตัดในรายที่มีความจำเป็นเท่านั้น
 
เราสามารถชะลอการเกิดภาวะสายตาสั้นในเด็กได้อย่างไร ?
วิธีการชะลอภาวะสายตาสั้นในเด็กที่ใช้กันในปัจจุบัน ได้แก่
  1. การใช้ยาหยอดตา Atropine
ยาหยอดตา Atropine สามารถแบ่งความเข้มข้นออกเป็น 3 ระดับ คือ ความเข้มข้นสูง (1%, 0.5%), ความเข้มข้นปานกลาง (0.1%) และความเข้มข้นต่ำ (0.05%, 0.025%, 0.01%) โดยยาหยอดตาตัวนี้ให้ผลลัพธ์ที่ดีในการชะลอภาวะสายตาสั้นในเด็กอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เมื่อใช้ต่อเนื่อง 2-3 ปี แต่กลไกการชะลอภาวะสายตาสั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด
จากการศึกษาพบว่ายาหยอดตา Atropine ที่มีความเข้มข้นต่ำ มีประสิทธิภาพในการชะลอภาวะสายตาสั้นในเด็กได้ดีเทียบเท่ากับยาหยอดตาที่มีความเข้มข้นสูง แต่มีผลข้างเคียงในเรื่องของการระคายเคียง และตาพร่าน้อยกว่ามาก จึงทำให้ยาหยอดตา Atropine ที่มีความเข้มข้นต่ำ เป็นที่นิยมใช้ในการรักษา
  1. การใส่คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษ ได้แก่ คอนแทคเลนส์ที่ปรับการโฟกัสภาพที่จอตาส่วนรอบนอก (Peripheral defocus contact lenses) สำหรับใส่ในเวลาตื่นนอน หรือคอนแทคเลนส์ชนิดเพื่อกดกระจกตา (Orthokeratology หรือ Ortho-K) ที่ใส่ในเวลานอน สามารถช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของสายตาสั้นได้ แต่ก็มีความเสี่ยงเรื่องอาการระคายเคือง หรือการติดเชื้อที่กระจกตา
  2. เพิ่มเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง รวมถึงลดเวลาหน้าจอ (screen time) ที่เล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ พบว่าช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของสายตาสั้นได้เช่นกัน
 
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs