bih.button.backtotop.text

ทำอย่างไรดี…เมื่อตรวจพบถุงน้ำในตับอ่อน

โรคถุงน้ำในตับอ่อนหรือโรคซีสต์ในตับอ่อนเป็นโรคที่เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัยและมักไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ดังนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงพบว่าตนเองมีถุงน้ำในตับอ่อนเมื่อตรวจร่างกายด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging; MRI) บริเวณช่องท้องด้วยสาเหตุอื่นๆ ผู้ป่วยมักรู้สึกกังวลใจว่าถุงน้ำจะกลายเป็นมะเร็ง ซึ่งถึงแม้ว่าถุงน้ำส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตราย แต่ทางที่ดีควรไปพบแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านโรคทางเดินอาหารและตับซึ่งมีประสบการณ์ด้านการวินิจฉัยและรักษาถุงน้ำในตับอ่อนโดยเฉพาะ เพื่อยืนยันว่าถุงน้ำชนิดที่เป็นอยู่นั้นไม่สามารถลุกลามกลายเป็นมะเร็งได้
    

ถุงน้ำในตับอ่อนมีกี่ประเภท

ถุงน้ำในตับอ่อนมีอยู่หลายประเภท ที่พบได้โดยทั่วไปมีอยู่ 6 ประเภท คือ
  • Intraductal Papillary Mucinous Neoplasms (IPMNs) ซีสต์ประเภทนี้แยกย่อยออกได้อีก 3 ประเภทตามตำแหน่งที่เกิดซีสต์ โดยเกิดได้ที่ท่อทางเดินน้ำย่อยหลักของตับอ่อน (Main-duct type) หรือแขนงของท่อทางเดินน้ำย่อย (Side branches type) หรือเกิดขึ้นทั้งสองตำแหน่ง (Mixed-type) โดยประเภทที่มีความเสี่ยงสูงกว่าประเภทอื่นในการกลายเป็นมะเร็งคือซีสต์ที่เกิดขึ้นในท่อทางเดินน้ำย่อยหลักของตับอ่อน (main duct) พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
  • Mucinous Cystic Neoplasms (MCN) มักเกิดกับผู้หญิงวัยกลางคน ในตำแหน่งลำตัวและส่วนหางของตับอ่อน มีความเสี่ยงในการกลายเป็นมะเร็ง ควรผ่าตัดออกหากซีสต์มีขนาดใหญ่กว่า 3 ซม.
  • Serous Cystadenoma (SCA) มีลักษณะเป็นซีสต์ใสๆ ส่วนใหญ่เกิดกับหญิงวัยกลางคน มีโอกาสในการกลายเป็นมะเร็งได้น้อยมาก เพียง 1 ใน 1,000 คนเท่านั้น
  • Solid Pseudopapillary Tumor (SPT) เป็นซีสต์ที่มีทั้งเนื้อและน้ำอยู่ภายใน มักพบในผู้หญิงอายุประมาณ 20 ปี มีโอกาสเป็นมะเร็งได้ ดังนั้นจึงต้องผ่าตัดออก หลังการผ่าตัดผู้ป่วยมีโอกาสอยู่รอดสูงมากถึง 98% ใน 5 ปี
  • Cystic NET เป็น Pancreatic neuroendocrine tumors (NETs) เป็นซีสต์ชนิดหนึ่งมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อหรือถุงน้ำหรือทั้งสองอย่างผสมกัน อาจกลายเป็นมะเร็งหรือไม่กลายเป็นมะเร็งก็ได้ ดังนั้นแพทย์จำเป็นต้องตรวจร่างกายเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง
  • Pseudocysts หรือถุงน้ำเทียมของตับอ่อนเป็นซีสต์ที่เกิดหลังการอักเสบของตับอ่อนไม่ว่าจะเป็นการอักเสบเรื้อรังหรือเฉียบพลัน อาจเกิดจากอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ตับอ่อน ซึ่งบางรายอาจหายได้เองแต่บางรายอาจต้องรักษา ถุงน้ำชนิดนี้ไม่ทำให้เกิดมะเร็ง แต่หากมีขนาดใหญ่ขึ้นอาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดได้ และในบางครั้งอาจทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพที่ร้ายแรงตามมา เช่น ติดเชื้อที่ถุงน้ำ หรือถุงน้ำขยายขนาดใหญ่จนกดเบียดทางเดินอาหารหรือทางเดินน้ำดี เป็นต้น
 

วินิจฉัยได้อย่างไรว่าเป็นถุงน้ำในตับอ่อนประเภทไหน

แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการซักประวัติและการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถทำตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้ แพทย์จะใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) และการส่องกล้องที่ติดอัลตราซาวด์ (Endoscopic Ultrasound; EUS) ซึ่งเป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพเช่นกัน

 

รักษาได้อย่างไร

การรักษาขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยเป็นซีสต์ประเภทใด มีขนาดใหญ่แค่ไหน ทำให้รู้สึกเจ็บปวดหรือไม่และผู้ป่วยมีสุขภาพร่างกายอย่างไร โดยทั่วไปการรักษาทำได้ดังนี้
  • การติดตามอาการ ซีสต์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ถุงน้ำเทียมตับอ่อน (Pseudocysts) และ SCA แพทย์จะรักษาโดยใช้วิธีติดตามอาการโดยไม่ต้องผ่าตัดและนัดตรวจด้วยภาพถ่ายทางรังสีวิทยาเพื่อดูการดำเนินโรค นอกจากว่าซีสต์มีขนาดใหญ่มากขึ้นหรือผู้ป่วยมีอาการ
  • การผ่าตัด แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดหากพบว่าซีสต์นั้นมีความเสี่ยงสูงในการกลายเป็นมะเร็ง หรือซีสต์ที่มีความเสี่ยงต่ำแต่ว่ามีขนาดใหญ่มากขึ้นและทำให้ผู้ป่วยมีอาการ
  • การระบายสารน้ำ สำหรับถุงน้ำเทียมตับอ่อน แพทย์อาจใช้วิธีระบายสารน้ำออกโดยวิธีการส่องกล้องผ่านทางปาก
 

ป้องกันได้หรือไม่

ปัจจุบันการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดถุงน้ำในตับอ่อนอย่างแน่ชัด แต่โรคบางชนิดทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดถุงน้ำเพิ่มขึ้น เช่น ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) การบาดเจ็บในช่องท้องจากอุบัติเหตุ  นิ่วในถุงน้ำดีและการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก โรค Von Hippel Lindau  ซึ่งถ่ายทอดทางพันธุกรรม  

 

ทำไมผู้ป่วยจึงเลือกรักษากับบำรุงราษฎร์

ถุงน้ำในตับอ่อนมีหลายประเภท บางชนิดอาจกลายเป็นมะเร็งได้ ในทางตรงข้าม ถุงน้ำบางประเภทที่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่ำอาจไม่ต้องได้รับการติดตามหรือผ่าตัดหากผู้ป่วยไม่มีอาการใดๆ ดังนั้นความสามารถของแพทย์ในการวินิจฉัยประเภทของซีสต์อย่างถูกต้องแม่นยำตั้งแต่แรกจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดต่อชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งต้องอาศัยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางและมีประสบการณ์ในการรักษาซีสต์ในตับอ่อนเท่านั้น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีทีมแพทย์ผู้ชำนาญการอย่างครบครัน ไม่ว่าจะ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านถุงน้ำตับอ่อนโดยเฉพาะ แพทย์ชำนาญการด้านโรคมะเร็ง รังสีแพทย์ผู้มีความชำนาญการสูงในการวินิจฉัยโรคจากภาพถ่ายรังสีและแพทย์ผู้ชำนาญการทางพันธุศาสตร์ เป็นต้น
 

 
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs