bih.button.backtotop.text

ตรวจคัดกรองการได้ยินของเจ้าตัวน้อย ก่อนที่จะสายเกินแก้

รายงานขององค์การอนามัยโลกในปี 2563 บ่งบอกว่า ร้อยละ 60 ของเด็กที่สูญเสียการได้ยินมาจากสาเหตุที่ป้องกันได้ และถึงแม้มาจากสาเหตุที่ป้องกันไม่ได้แต่ก็มีโอกาสฟื้นฟูได้หากตรวจพบการสูญเสียการได้ยินและให้การฟื้นฟูอย่างเหมาะสมตั้งแต่เนิ่นๆ การสูญเสียการได้ยินมีผลกระทบต่อพัฒนาการด้านภาษา การพูดและทักษะทางสังคม ทำให้เด็กสูญเสียความมั่นใจ เกิดความเครียดและรู้สึกโดดเดี่ยว ผลการวิจัยทางการแพทย์พบว่า เด็กที่ได้รับการฟื้นฟูตั้งแต่มีอายุก่อน 6 เดือนมีพัฒนาการทางภาษา และการเรียนรู้ดีกว่าเด็กที่ได้รับการฟื้นฟูหลังอายุ 6 เดือนอย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกตรวจคัดกรองการได้ยินตั้งแต่แรกเกิดและหากพบว่าเด็กมีปัจจัยเสี่ยงควรติดตามเฝ้าระวังจนกว่าเด็กจะมีอายุ 3 ขวบ แน่ใจได้ว่าเด็กมีการได้ยินที่ปกติ เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เด็กสูญเสียการได้ยินมีอะไรบ้าง

ปัจจัยเสี่ยงของการสูญเสียการได้ยินอาจมีมาก่อนกำเนิดหรือหลังกำเนิดมีอยู่หลายประการ ดังนี้
  • มีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น มีใบหูผิดปกติ ปากแหว่งเพดานโหว่
  • มีประวัติสมาชิกครอบครัวสูญเสียการได้ยิน
  • มีการติดเชื้อขณะอยู่ในครรภ์ หรือแรกคลอด
  • เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างคลอด เช่น น้ำหนักน้อยกว่าปกติ ภาวะขาดออกซิเจนแรกคลอด (คะแนน Apgar อยู่ในช่วง 0-4 คะแนนในนาทีที่หนึ่งและ 0-6 คะแนนในนาทีที่ห้า)  มีอาการตัวเหลืองมากผิดปกติ คลอดก่อนกำหนด ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และอยู่ในหออภิบาลผู้ป่วยนานกว่า 5 วัน  เป็นต้น
  • ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ
  • ได้รับยาเคมีบำบัด
  • เคยเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • ใช้ยาที่ก่อให้เกิดพิษต่ออวัยวะและประสาทการได้ยินระหว่างมารดาตั้งครรภ์ เช่น ยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides) และยาขับปัสสาวะ (Diuretics) เป็นต้น
  • ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ เช่น บริเวณฐานกะโหลกศีรษะหรือกระดูกขมับ
  • โรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาท เช่น กลุ่มอาการฮันเตอร์
  • กลุ่มอาการที่มีความสัมพันธ์กับการสูญเสียการได้ยิน เช่น โรคท้าวแสนปม กลุ่มอาการอัชเชอร์ (Usher syndrome) เป็นต้น

 

การตรวจวินิจฉัยการได้ยินทำได้อย่างไรบ้าง

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ครบครันสามารถตรวจการได้ยินในเด็กแรกเกิดและเด็กเล็กได้อย่างปลอดภัยและแม่นยำ ดังนี้
  • Otoacoustic Emissions (OAEs) เป็นการตรวจการได้ยินในระดับหูชั้นในสำหรับทารกแรกเกิด โดยการวัดเสียงสะท้อนจากเซลล์ขนในหูชั้นในเมื่อปล่อยเสียงกระตุ้นว่าเซลล์ขนสามารถสะท้อนเสียงได้เป็นปกติหรือไม่ ช่วยบ่งบอกถึงความผิดปกติของหูชั้นใน เป็นวิธีการตรวจที่ง่ายและรวดเร็ว ไม่รู้สึกเจ็บปวดและมีความแม่นยำ
  • Auditory Brainstem Response/ auditory steady-state response (ABR/ASSR) เป็นการตรวจวัดคลื่นการได้ยินระดับเส้นประสาทการได้ยินและก้านสมอง ช่วงบ่งชี้ภาวะความผิดปกติประสาทหูและก้านสมอง ข้อดีของการตรวจ การตรวจ ABR/ASSR มีความละเอียดสูง สามารถบ่งบอกระดับความรุนแรงของการสูญเสียการได้ยินและมีความแม่นยำสูง แต่ใช้เวลาในการตรวจนานและต้องตรวจในขณะที่เด็กหลับ
  • Behavioral Observation Audiometry (BOA) คือการสังเกตพฤติกรรมการตอบสนองต่อเสียงในกลุ่มเด็กที่เริ่มสื่อสารได้ เช่น เด็กก่อนวัยเรียน โดยสังเกตพฤติกรรม เช่น การกะพริบตา หันตามเสียง เป็นต้น

 

จุดเด่นของเรามีอะไรบ้าง

ศูนย์การได้ยินและการทรงตัว โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ประกอบด้วยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะด้านโสตวิทยา และโสตประสาทวิทยา รวมทั้งสหสาขาวิชาชีพที่มีประสบการณ์ในการฟื้นฟูผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาการได้ยินโดยเฉพาะ ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินอย่างครอบคลุม
 

By Assoc. Prof. Dr. Saowaros Patarapak, Otolaryngologist, Hearing and Balance Clinic, Bumrungrad Hospital.
 

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs