bih.button.backtotop.text

เวชศาสตร์ฟื้นฟูสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุหนึ่งที่พบบ่อยของความพิการ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวัน เคลื่อนไหวและเดินได้ตามปกติ ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย การรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาดำเนินชีวิต กลับมาเคลื่อนไหวร่างกายและเดินได้ปกติหรือใกล้เคียงปกติให้มากที่สุด เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีใกล้เคียงเดิมโดยเร็วที่สุด

โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุหนึ่งที่พบบ่อยของความพิการ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวัน เคลื่อนไหวและเดินได้ตามปกติ ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย การรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาดำเนินชีวิต กลับมาเคลื่อนไหวร่างกายและเดินได้ปกติหรือใกล้เคียงปกติให้มากที่สุด เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีใกล้เคียงเดิมโดยเร็วที่สุด

โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่เกิดภาวะสมองบางส่วนขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองส่วนนั้นๆ ถูกทำลาย ไม่สามารถสั่งการให้ร่างกายที่ถูกควบคุมโดยสมองส่วนนั้นทำงานได้ตามปกติ โดยลักษณะอาการที่พบได้บ่อยคือ แขนขาอ่อนแรงและ/หรือชา หรือในบางรายอาจไม่สามารถรับรู้การเคลื่อนไหวของแขนขาได้ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้งานแขนขาได้ และไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือเดินได้ตามปกติ
 
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการฟื้นฟูร่างกายโดยเร็วและต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ โดยหลักสำคัญของการฟื้นฟูสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้คือ การให้ผู้ป่วยฝึกการใช้งานซ้ำๆ บ่อยๆ ด้วยรูปแบบเดิมๆ เพื่อให้เซลล์สมองที่ยังเหลืออยู่เรียนรู้ จดจำ และสั่งการทดแทนเซลล์สมองที่สูญเสียไป
 
การฝึกเดินเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่สำคัญของการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งวิธีการฝึกก็ใช้หลักการฝึกซ้ำๆ อย่างถูกต้อง ต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเรียนรู้และพัฒนาการเดินให้ดีขึ้น จนกลับมาสู่สภาพที่ปกติหรือใกล้เคียงมากที่สุด
 
โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะได้รับการฝึกเดินกับนักกายภาพบำบัด ซึ่งระหว่างการฝึกเดินจะต้องคอยช่วยกำกับการเคลื่อนไหวและพยุงผู้ป่วยตลอดเวลา แต่ในปัจจุบันได้มีการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อนำมาช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฝึกเดินได้ซ้ำๆ อย่างถูกต้องและต่อเนื่องได้สะดวกยิ่งขึ้น นั่นก็คือ การใช้หุ่นยนต์ฝึกเดิน
 
การฝึกเดินด้วยหุ่นยนต์ช่วยลดภาระและความลำบากในการฝึกเดินทั้งต่อผู้ป่วยและนักกายภาพบำบัด มีประโยชน์ในการใช้ร่วมกับการฝึกกับนักกายภาพบำบัด โดยหุ่นยนต์ฝึกเดินมีคุณลักษณะที่สำคัญ คือ
  • มีระบบพยุงน้ำหนักตัวผู้ป่วยที่สามารถปรับน้ำหนักได้ ช่วยลดภาระในการรับน้ำหนักขณะฝึกเดินให้กับทั้งผู้ป่วยและนักกายภาพบำบัด เพื่อลดอาการปวดเมื่อยล้าหรือการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เนื่องจากการออกแรงหรือใช้งานกล้ามเนื้อผิดวิธีและมากเกินไปของทั้งผู้ป่วยและนักกายภาพบำบัด ทำให้สามารถฝึกได้ต่อเนื่องยาวนานขึ้น และสามารถค่อยๆ เพิ่มความยากในการฝึกเดินกับผู้ป่วยด้วย
  • มีโปรแกรมการฝึกหลายรูปแบบ ได้แก่ การฝึกก้าวขาทีละข้าง ฝึกลงน้ำหนักตามจังหวะการเดินปกติ การเดินบนพื้นราบ และการฝึกขึ้นลงบันได รวมทั้งการใช้ไฟฟ้ากระตุ้นกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงตามจังหวะการใช้งานกล้ามเนื้อตามปกติด้วย
  • ช่วยเพิ่มกำลังและความทนทานต่อการใช้งานของกล้ามเนื้อ ทำให้รูปแบบการเดินใกล้เคียงปกติ เดินได้ไกลขึ้นและใช้พลังงานในการเดินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และย่นระยะเวลาการบรรลุเป้าหมายการฝึกให้เร็วขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม ก่อนได้รับการฝึกเดินด้วยหุ่นยนต์ ผู้ป่วยจะต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ และต้องใช้ร่วมกับการฝึกกับนักกายภาพบำบัดตามปกติด้วย โดยคุณสมบัติของผู้ป่วยที่สามารถฝึกด้วยหุ่นยนต์ฝึกเดินได้จะต้องสามารถนั่งทรงตัวได้ดีพอสมควร สื่อสารได้ดีพอสมควร สามารถควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระได้ ไม่มีแผลเปิดหรือสายที่หน้าท้อง ไม่มีแผลเปิดบริเวณสะโพกและก้นกบ ไม่ใส่ท่ออาหารที่หน้าท้องหรือสายสวนปัสสาวะ และไม่มีภาวะเลือดออกง่ายและหยุดยาก
 
เรียบเรียงโดย พญ.วรรณภา เลิศประภามงคล แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs