bih.button.backtotop.text

ภาวะกระดูกหักในผู้สูงอายุ

การเกิดกระดูกหักในผู้สูงวัย อาจเกิดได้จากอุบัติเหตุที่มีความรุนแรงไม่มาก ยกตัวอย่างเช่น การลื่นล้มก้นกระแทก ที่ในคนหนุ่มสาวมักทำให้เกิดเพียงแค่การฟกช้ำ กล้ามเนื้อเคล็ดขัดยอก แต่ในผู้สูงอายุอาจทำให้กระดูกสะโพกหัก หรือกระดูกสันหลังหักยุบตัวได้ สาเหตุหลักเป็นเพราะคุณภาพกระดูกที่เปลี่ยนไปจากภาวะกระดูกพรุน ซึ่งสามารถพบได้ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป มีผู้รวบรวมสถิติไว้ว่า ในโลกนี้ทุกๆ 3 วินาที จะมีกระดูกหักในลักษณะนี้เกิดขึ้น 1 ราย

สำหรับประเทศไทย ภาวะกระดูกหักในผู้สูงอายุกำลังเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจมากขึ้น โดยจากข้อมูลของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่า ปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ เป็นประเทศที่สองของอาเซียน รองจากสิงคโปร์  โดยหนึ่งในห้าของประชากรจะมีอายุ 60 ปีขึ้นไป เมื่อผู้สูงอายุซึ่งในหลายรายมักมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิดสูง ได้รับอุบัติเหตุจนเกิดภาวะกระดูกหักขึ้น การรักษาอาจมีความซับซ้อนมากกว่าในผู้ที่แข็งแรงปกติดี และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้มากขึ้นเช่นกัน

การรักษากระดูกหักในผู้สูงอายุ ในบางรายอาจจะสามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ เช่น กระดูกข้อมือร้าว หรือกระดูกสันหลังหักยุบตัวเล็กน้อย ในขณะที่อีกหลายๆ กรณีจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษา เช่นกระดูกสะโพกหัก กระดูกต้นแขนหัก ซึ่งกรณีเหล่านี้ ทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ในการดูแลกระดูกหักในลักษณะนี้ จะสามารถวางแผนการผ่าตัดรักษา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะการผ่าตัดที่ต้องใช้เครื่องมือและความชำนาญเฉพาะ แต่ยังรวมไปถึงขั้นตอนก่อนการผ่าตัดที่ผู้ป่วยต้องได้รับการประเมินความพร้อม และการดูแลหลังผ่าตัดที่ผู้ป่วยจะได้รับการฟื้นฟูสภาพร่างกาย รวมไปถึงการทำกายภาพบำบัด เพื่อให้ผู้สูงอายุท่านนั้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วที่สุด นอกจากนั้นยังจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาภาวะกระดูกพรุนไปพร้อมๆ กัน เพื่อลดโอกาสการเกิดกระดูกหักซ้ำได้อีกในอนาคต

อย่างไรก็ตาม จะเป็นเรื่องที่ดีกว่าถ้าเราสามารถป้องกัน หรือปรับปรุงคุณภาพกระดูกในผู้สูงอายุให้แข็งแรงขึ้นโดยไม่ต้องรอให้กระดูกหักก่อน ซึ่งท่านสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจประเมินภาวะกระดูกพรุน กับแพทย์ที่ดูแลเป็นประจำได้


เรียบเรียงโดย นพ.สุรพงษ์ อนุรักษ์เลขา แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ, การบาดเจ็บ, แผลบาดเจ็บ



 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs